WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เสียงสะท้อน-มุมมอง อียูกังวลรบ.ใช้'ศาลทหาร'

เสียงสะท้อน-มุมมอง อียูกังวลรบ.ใช้'ศาลทหาร'

 


ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น - ยอดพล เทพสิทธา

 


ชำนาญ จันทร์เรือง-พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด-ปณิธาน วัฒนายากร

มติชนออนไลน์ :หมายเหตุ - เสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย และกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์กังวลต่อการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ และใช้ศาลทหารพิจารณาคดีที่บุคคลเป็นพลเรือน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจำกัดการใช้ศาลดังกล่าว 

ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น

นักวิชาการอิสระ

การใช้ศาลทหารกับประชาชน ผลกระทบแรกสุดคือ นโยบายนี้จริงๆ แล้วฝั่งรัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ประเด็นคือศาลนี้ถูกตั้งมาเพื่อเหตุผลทางการเมืองมากกว่า เพราะคนที่ถูก คสช.จับมักจะถูกกล่าวหาในคดีเรื่องความมั่นคง จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นเรื่องทางการเมือง อย่างศาลทหารที่ขยายเวลาควบคุมตัวเป็น 84 วัน ก็เป็นมาตรการทางการเมืองที่รัฐบาลพยายามทำให้คนต่อต้านน้อยลง เหมือนเป็นการข่มขู่ เขียนเสือให้วัวกลัว นโยบายนี้ถูกออกแบบมาด้วยเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องอื่น ฉะนั้นแล้ว คนที่โดนคดีเรื่องความมั่นคง แท้จริงแล้วคือเป็นเรื่องของการเมือง การใช้นโยบายตรงนี้จึงเป็นเรื่องมุ่งหวังทางการเมืองมากกว่า 

ที่ผ่านมารัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดที่ต้องเจอหนักๆ คือกรณีงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ทำให้รัฐบาลรู้สึกว่าเสถียรภาพของตัวรัฐบาลนั้นไม่มั่นคงแล้ว คือสะเทือนขนาดนั้นเลย เพราะจัดการนิสิตนักศึกษาไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลเองก็ต้องรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องทำทุกทางเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเองไว้ให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นเรื่องศาลทหารก็จะเข้าข่ายกับสถานการณ์นี้ 

อย่างเรื่องชีวิตประจำวันของประชาชน ด้วยสถาณการณ์ตอนนี้ คนที่เชียร์รัฐบาลก็ไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด จะรู้สึกว่าตนถูกลิดรอนสิทธิ เพราะถ้าแสดงออกต้องขึ้นศาลทหาร แล้วอุทธรณ์ไม่ได้ จบเลย เพราะจะถูกจับโยนให้เป็นเรื่องความมั่นคงหมด คือประเทศไทยมองเรื่องความมั่นคงในอีกมิติหนึ่งที่ต้องเกี่ยวพันกับ 3 สถาบันหลัก หรือเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบัน อะไรที่กระทบ รัฐบาลทหารก็จะมองว่ากระทบไปหมด จุดประสงค์การใช้ศาลทหารเป็นเหตุผลทางการเมืองภายในล้วนๆ กดคนต่อต้านเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ที่สุดแล้วสะท้อนว่าเสถียรภาพของรัฐบาลเริ่มสั่นคลอนแล้วจึงมีมาตรการแบบนี้ขึ้นมา แน่นอนว่าเป็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ศาลทหารต่างจากศาลพลเรือน เพราะศาลทหารมีสองชั้นตามรัฐธรรมนูญ ใช้คนที่อยู่ในบังคับของทหาร ตามหลักแล้วไม่ใช้ศาลทหารกับพลเรือน ยกเว้นพลเรือนที่อยู่ในบังคับของทหาร วิธีพิจารณาคดีก็ต่างกัน กระบวนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างกัน แล้วโดยลักษณะทั่วไป ชื่อก็บอกแล้วว่าใช้กับทหาร แล้วทหารเขามีระเบียบกติกาของเขา ซึ่งในพลเรือนไม่มี ถ้าสังเกตการพิจารณาของศาลทหารจะไม่ให้ประกันตัว กล่าวคือมีกฎเกณฑ์แตกต่างกัน ศาลทหารโดยหลักคือมองความมั่นคงของกองทัพเป็นหลัก ที่เคยมีโฆษกกองทัพบอกว่า ศาลทหารให้หลักประกันความยุติธรรมไม่ต่างจากศาลพลเรือน จริงๆ คือไม่ใช่เลย กฎหมายที่ใช้ก็คนละฉบับ อย่างศาลทหารถ้าจะใช้คือมีอยู่กรณีเดียว นั่นคือเมื่อประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งเราประกาศโดยผิดกฎหมาย ไม่ได้มีสงคราม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในกรณีนี้น่าจะเป็นห่วงเรื่องวิธีพิจารณาคดีมากกว่า ในระบบศาลที่เปิดเผยได้ มีการควบคุมเป็นลำดับขั้นตอน มีการตรวจสอบได้ของศาลทหาร นี่ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงก็ปิดได้แล้ว คือช่องทางในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนมันน้อยกว่า ที่แอมเนสตี้จี้ให้รัฐคืนสิทธิอุทธรณ์นั้น สุดท้ายสิทธิในการอุทธรณ์ก็เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในระบบศาลทั่วไป ถึงอย่างไรก็ต้องมีและมีขอบเขตของมัน แต่ศาลทหารไม่ใช่ เขามองในเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ถ้าเราตีความว่าสิ่งนี้เป็นความมั่นคงก็ไม่จำเป็นต้องมีการอุทธรณ์หรือฎีกา แล้วในศาลทหาร ผู้พิพากษาก็เป็นทหาร ไม่เคยทำคดีพลเรือน ไม่จำเป็นต้องมาคำนึงสิทธิประชาชน คิดแค่ความมั่นคงกับระเบียบวินัยก็พอ ส่วนตัวคิดว่าแม้จะมีกฎอัยการศึกก็ต้องมีการอุทธรณ์ สมมุติวันข้างหน้ามีม็อบ มีการประท้วง อยู่ๆ ทหารระดับกองพันประกาศกฎอัยการศึกขึ้นมา ใช้ศาลทหาร เอาใครก็ตามไปขึ้นศาลทหาร ห้ามอุทธรณ์ แล้วก็รวบรัดตัดสินเลย มันไม่ได้ ไม่มีกระบวนการคุ้มครองประชาชนเลย 

เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่อุทธรณ์ไม่ได้ ร้ายสุดจริงๆ เลยคือตัดสินผิด ติดคุกฟรี

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน

การบังคับใช้ศาลทหารกับพลเรือนยังไงก็ไม่เหมาะ เพราะขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ศาลทหารใช้ในกรณีที่เกิดศึกสงคราม ต้องมีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนและมีการใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หลักทั่วไปของสากลโลกพลเรือนทั่วไปไม่ควรขึ้นศาลทหารอยู่แล้ว การที่พลเรือนจะถูกคุมตัว 84 วัน โดยไม่มีการไต่สวนก็ไม่เหมาะอยู่แล้ว แต่ทาง คสช.ก็ออกมาอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับพลเรือน ใช้เฉพาะกับทหารอย่างเดียว แต่อย่าลืมว่ามีการประกาศว่าให้คดีที่มีการขัดคำสั่งของ คสช.ต่างๆ ต้องขึ้นศาลทหาร รวมถึงคดีของพลเรือนด้วย เพียงแต่ไม่ได้เขียนคำว่าพลเรือนเท่านั้น เป็นการเลี่ยงบาลี เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ก็เข้าไปอยู่ในคดีของศาลทหาร การยกเลิกตามคำขอของอียูยังไงก็ต้องทำ เมื่อเราไปลงนามข้อผูกพันเอาไว้แล้ว เป็นพันธะกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม จริงอยู่ที่นานาประเทศจะลงโทษอะไรเราไม่ได้ แต่สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับหรือการที่จะอยู่ในเวทีโลกจะถูกปฏิเสธ ประเด็นหลายๆ อย่างจะไม่ได้รับการรับฟัง และบางกลุ่มประเทศ เช่น อียู สหรัฐอเมริกา จะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ประเทศไหนไม่ปฏิบัติตามพันธะกรณีหรือเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน จะถูกตัดสิทธิไม่คบค้าสมาคมด้วย ทุนสนับสนุนก็จะไม่ได้รับ จะมีผลเยอะ คิดว่าตอนนี้ คสช.ก็ถูกบีบมาเยอะพอสมควร การที่ คสช.ทำแบบนี้ยิ่งนานวันแรงกดดันยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ จากพวกเดียวกันเอง

เรื่องที่ว่าประชาชนไม่ค่อยมีสิทธิแสดงความเห็นมากเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว เพราะ คสช.ประกาศกฎอัยการศึก แต่ว่าช่องทางที่จะแสดงออกมันมีเยอะ แล้วก็มีหลายหน่วยงานทั่วโลกที่คอยสอดส่องทางด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอยู่ เช่น ฮิวแมนไรต์สวอตช์ แอมเนสตี้ เราต้องช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของเรา การจะจับคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่ออกมาเรียกร้องเป็นไปไม่ได้หรอก แล้ว คสช.ยิ่งอยู่นานๆ ยิ่งจะเกิดแรงต้านจากประชาชนมากขึ้นทุกวัน ตอนนี้ก็ต้องยอมอ่อนข้อบ้างแล้ว เรื่องการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวด้วยการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิส่วนตัวขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยสถานการณ์ เช่น กรณีก่อการร้าย หรือเป็นกรณีไป ไม่ใช่การแทรกตัวเข้าไปโดยร่าง พ.ร.บ.ใหม่ผิดหลักสากล

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

คิดว่าองค์กรต่างประเทศอาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกับวิธีพิจารณาความอาญา โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของศาลพลเรือนผู้ต้องหาที่ถูกศาลควบคุมตัว ศาลจะมีอำนาจควบคุมตัวได้ 84 วัน แบ่งเป็นผลัดละ 12 วัน รวมทั้งสิ้น 7 ผลัด ขณะที่ พ.ร.บ.ศาลทหารเป็นไปในแบบเดียวกันคือ ศาลมีอำนาจควบคุมตัวผลเรือนได้ 84 วัน แต่ที่จะแก้ไข คือที่ผ่านมาศาลมีอำนาจควบคุมตัวทหารได้ถึง 90 วัน จึงได้ปรับลดลงมาให้เหลือ 84 วัน เหมือนเช่นภาคผลเรือน

สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญคือ การควบคุมตัวทหารไม่ใช่พลเรือน ยกตัวอย่างเช่น ทหารเดินทางไปรบในต่างประเทศ แล้วมีการกระทำผิดกฎหมาย อาทิ ใช้อาวุธยิงกันจนเสียชีวิตในขณะที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่นั้น ไม่มีศาลทหารจึงให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหารสั่งควบคุมตัวทหารคนดังกล่าวไว้ก่อน และเมื่อกลับมาในพื้นที่ที่มีเขตศาลทหารก็ต้องนำตัวส่งเพื่อขออำนาจฝากขัง เรื่องดังกล่าวหากตรวจสอบจะพบว่าการเสนอร่างแก้ไขใหม่ ครั้งนี้เป็นการปรับให้มีมาตรฐานเดียวกับที่ปฏิบัติกับพลเรือน

ส่วนกรณีแถลงการณ์ของอียูและแอมเนสตี้ที่ระบุว่ากระบวนการยุติธรรมของศาลทหารไม่เป็นสากล และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกว่า การที่จะใช้ธรรมนูญศาลทหารนั้นใช้บังคับผู้ที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร นายจตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำผิดตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประกาศกฎอัยการศึก จึงอยู่ในอำนาจของศาลทหาร กรณีดังกล่าวไม่ใช่คดีการเมือง แต่ขณะนั้น คสช.ได้ประกาศให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายมารายงานตัว แต่นายจาตุรนต์ไม่ปฏิบัติคำสั่งดังกล่าว จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารที่จะปฏิบัติกับนายจาตุรนต์ตามธรรมนูญศาลทหาร ยกตัวอย่างเช่น แกนนำเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อมีประกาศให้มารายงานตัว ทั้ง 2 คนก็เข้ามารายงายตัว ถือว่าจบและไม่มีการขึ้นศาลทหาร

ส่วนปัญหาคือ แอมเนสตี้มองถึงกระบวนการยุติธรรมของศาลทหารนั้น พื้นฐานของปัญหาในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างประเทศอื่นได้ และอยากถามว่า ทำไมแอมเนสตี้เพิ่งมาเรียกร้องวันนี้ ทั้งที่ธรรมนูญศาลทหารตัวเดิมซึ่งเนื้อหาแบบเดียวกันกลับไม่ออกมาเรียกร้อง เพียงแต่วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎกติกาต่างๆ รัฐบาลและ คสช.พยายามสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยต่อการไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันอีก โดยเอาเหตุและปัจจัยทั้งหมดมาแก้ไข

รัฐบาลเข้าใจดีว่าประเทศไทยต้องอยู่กับโลกอยู่กับประเทศต่างๆ มากมาย อยู่กับกฎกติกาของสังคม แต่ว่าต้องดูบริบทปัญหาในประเทศควบคู่กันด้วย เราเองไม่ได้พยายามทำอะไรให้ดูรุนแรง ที่ผ่านมาในกฎอัยการศึกเราไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรงจนสังคมรับไม่ได้ และเราไม่ได้จะดึงดันทำให้เกิดการขยายประเด็นในการเห็นต่าง แต่ว่าต้องเข้าใจในบริบทของบ้านเรา จึงไม่สามารถตอบรับตามคำเรียกต้องต่างๆ ได้ฉับพลันทันที ทั้งนี้ เข้าใจในความประสงค์ที่ต้องการให้เข้าสู่ประชาธิปไตย

ปณิธาน วัฒนายากร

ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง 

การที่อียูออกแถลงการณ์ในรัฐบาลไทยยกเลิกกฎอัยการศึก เป็นนโยบายของอียูในการแสดงความกังวลต่อประเทศที่ยังไม่ได้สู่กระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งจะสอดคล้องกับเรื่องภายในและการประชุมประจำปีของอียูเอง โดยจะมีการทบทวนและออกแถลงการณ์เรื่องประชาธิปไตยในทุกปีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันการตั้งข้อสังเกตของกระบวนการศาลทหารของฮิวแมนไรต์สวอตช์ และแอมเนสตี้ ก็เป็นไปโดยปกติ เพราะถือเป็นงานของเขา โดยในช่วงต้นปีองค์กรเหล่านี้จะมีการเปิดเผยงานทำงานในภาพรวม

วันนี้สำหรับรัฐบาลและ คสช. มองว่าคดีความต่างๆ ในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องมีกฎอัยการศึกควบคุมอยู่ และรัฐบาลต้องการให้กรณีเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยการใช้กฎอัยการศึกเพื่อขับเคลื่อนประเทศ แต่เมื่อองค์กรต่างประเทศเหมารวมถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรต่างประเทศออกมาเรียกร้องนั้น เราไม่รู้สึกกดดัน เพราะเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในหลายประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องภายในแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป ไทยจึงไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว เนื่องจากการที่จะกดดันให้ประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงกติกาภายในจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกัน และแต่ละประเทศก็จะตัดสินใจเอง วันนี้รัฐบาลมองว่าการเห็นต่างแบบยั่วยุโดยการเผชิญหน้าจำเป็นต้องใช้กฎอัยการศึก ต่างประเทศอาจรับไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็ต้องมีการคุยกันว่าจะให้ทำอย่างไรในเรื่องไม่สามารถใช้กฎหมายปกติได้ 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!