WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สปช.'ห่วงสมัชชาพลเมือง ยึด'ราชการ'

พงศ์โพยม วาศภูติ, อำพล จินดาวัฒนะ

      หวั่นทำระบบงานเคลื่อนยาก แนะปรับกก.แต่งตั้งข้าราชการ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 36 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่ 2 โดยวันนี้เป็นการเริ่มอภิปรายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญในภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี 

โดยนายพงศ์โพยม วาศภูติ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น อภิปรายว่า ขอบคุณ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้นำข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปท้องถิ่นไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญจำนวนมาก แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความยาวค่อนข้างมาก ใช้คำฟุ่มเฟือยซ้ำหลายจุดมาก จึงอยากฝากให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาหลังจากนี้พิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อพิจารณาถ้อยคำแต่ละมาตราให้มีความกระชับ ไม่ซ้ำซ้อนเกินไป ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกำหนดให้มีสมัชชาพลเมืองขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนและช่วยเหลืองานในภาคส่วนต่างๆ แต่อยากให้มีความเป็นข้าราชการน้อยที่สุด อยากให้ทำงานแบบหลวมๆ เป็นเหมือนสภาองค์กรชุมชน เพราะหากเป็นระบบราชการอาจทำให้ระบบงานยากขึ้น เวลาเรียกประชุมก็ต้องทำหนังสือเชิญหรือเบิกเบี้ยประชุม อาจทำให้พลังประชาชนถูกจำกัด ดังนั้นจึงหวังว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับประชาชน 

      นายพงศ์โพยมระบุว่า เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการกระจายอำนาจ ที่สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ และกฎหมายกระจายอำนาจรวม 4 ฉบับ แต่มีข้อสังเกตและอยากให้ทบทวนคือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจมากเกินไป เพราะหากการมีส่วนร่วม หมายถึงการร่วมตัดสินใจ ในทุกเรื่องขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ที่รัฐธรรมนูญ ระบุให้การทำงานองค์กรนี้มีความเป็นอิสระนั้น สุดท้ายจะสวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเสนอให้ตัดคำว่า ร่วมตัดสินใจ โดยให้ใช้คำว่า ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นน่าจะเพียงพอ

    ด้านนายอำพล จินดาวัฒนะ ประธาน กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส อภิปรายว่า ขอเสนอให้ตัดหรือปรับบทบัญญัติมาตรา 207 ว่า ด้วยการแต่งตั้งข้าราชการด้วยคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม เนื่องจากไม่ยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น หากการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงมาจากคณะกรรมการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวจะเกิดปัญหาการบังคับบัญชาข้าราชการของรัฐบาล เพราะคนที่ถูกแต่งตั้งไม่ได้มาจากผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง และหากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลในฐานะผู้ออกนโยบาย ต้องมีส่วนแต่งตั้ง ย้าย ปลดข้าราชการระดับสูง นอกจากนั้นมองว่าแทนที่จะลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนแต่กลับเป็นการลดอำนาจรัฐบาล เพิ่มอำนาจราชการ กังวลว่าจะกลายเป็นพรรคราชการ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!