WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

7กรธ.ฟิตสั่งกฤษฎีกาชง ปลายตุลา เห็นโครงแรก'ร่างรธน.'ตั้ง 5 อนุกก.เร่งศึกษา รูปแบบสภา-รัฐบาล ทบ.แจงปมชุดทหาร สปท.นัดชิงปธ.13 ตค.

      กรธ.พร้อมโชว์ร่าง รธน.ต่อสาธารณชนเดือน ม.ค.ปีหน้า สมาชิก สปท.ยันไม่มีล็อบบี้เลือก ปธ. รัฐบาลพร้อมแถลงผลงานรอบ 1 ปี

มติชนออนไลน์ :

@ รบ.พร้อมโชว์ผลงานรอบ 1 ปี

      เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการทำงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาลว่า รัฐบาลกำลังเตรียมความพร้อม มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมข้อมูลเอกสารส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มั่นใจว่าจะแถลงต่อรัฐสภาและสาธารณะในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลคืบหน้าไปมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน หรือการขับเคลื่อนงานของกระทรวงต่างๆ งานหลายด้านมีผลสัมฤทธิ์น่าพอใจ ทั้งการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย การปราบปรามการค้ามนุษย์ การแก้ปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ การบริหารงานของแต่ละกระทรวงทั้ง 11 ด้าน ยังใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย แม้มีปัญหาเรื่องของงบลงทุน รายงานของกระทรวงต่างๆ พบว่าเป็นไปตามนโยบายที่วางไว้ ซึ่งผลงานที่สำคัญในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาคือ รัฐบาลสามารถทำให้ประเทศขับเคลื่อนได้ แม้มีปัญหาเรื่องการส่งออก 

ไม่อยากให้ทหารตบเท้า-ต้องช่วยกัน

นายสุวพันธุ์กล่าวกรณีการเผยแพร่สารจากใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงประชาชนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ และการสร้างความปรองดองว่า นายกฯพยายามดำเนินการทุกอย่างให้ราบรื่นเป็นไปตามที่รัฐบาลวางไว้ ทั้งประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญ การสร้างความปรองดอง ขณะนี้ประเทศอยู่ในช่วงการปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเร่งรัดการทำงานหลายด้านเพื่อให้งานเดินหน้าไปด้วยกัน จึงย้ำเรื่องเหล่านี้กับประชาชน ส่วนที่ในสารจากใจนายกฯ ระบุว่า อยากให้ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศเป็นครั้งสุดท้ายนั้น ถ้าไม่อยากให้ทหารเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอีก ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ประชาชน ข้าราชการ เป็นต้น ต้องยอมรับความจริงว่าปัญหาในประเทศไทยนั้นเรื้อรัง ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา 

"ส่วนการสร้างความปรองดอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้สึก มีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน การพูดคุยสร้างความเข้าใจมีความสำคัญ และ 1 ปีที่ผ่านมาทุกฝ่ายทำกันอยู่ ต้องเน้นเชิงคุณภาพมากขึ้น ส่วนการสร้างความปรองดองกับการนิรโทษกรรมจะเอามารวมกันไม่ได้ แม้จะมีความเชื่อมโยงแต่จะจับมาเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกันคงไม่ได้ ในรายละเอียดไม่เหมือนกัน" นาย

สุวพันธุ์กล่าว 

@ กรธ.ตั้งอนุกรรมการรวม 5 คณะ

      นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการตั้งคณะอนุกรรมการภายใน กรธ. เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ชัดเจนมีการตั้งอนุกรรมการ 5 คณะ คือ 1.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ 2.คณะทำงานศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร 3.คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ 4.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น และ 5.คณะกรรมการศึกษาเรื่องการปรองดอง ทั้งหมดนี้จะไปศึกษาส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ

      "ในวันที่ 12 ตุลาคม กรธ.จะนัดประชุมโดยเตรียมดูฝ่ายคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการไปยกร่างรัฐธรรมนูญมาคร่าวๆ ให้ กรธ.ได้พิจารณาเสมือนเป็นนักชิมจะออกมาอย่างไร เพื่อทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นโครงให้ได้ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ ส่วนการยกร่างจะออกมาเหมือนของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่ทราบเพราะของนายบวรศักดิ์คล้ายกับรัฐธรรมนูญเก่าๆ บางหมวดบางเรื่องมันก็ต้องคล้ายกันอยู่แล้วหากเป็นเรื่องที่ดี" นายอมรกล่าว

@ ส่งร่างแรกแจกประชาชนม.ค.นี้

     นายอมรกล่าวว่า คิดว่าในช่วงมกราคมปีหน้า ประชาชนจะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก จากนั้นสื่อมวลชนก็อาจจะได้เข้ามาร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเพราะทุกอย่างเริ่มชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ ต้องให้ กรธ.ทำงานและวางโครงร่างก่อน นอกจากนี้ที่นายกรัฐมนตรีมีการเผยแพร่สารจากใจ กรธ.ทั้งหมดได้รับฟังสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการและคิดว่าการรับมาปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากเป็นแนวทางที่ กรธ.ได้ทำอยู่แล้ว ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ระบุว่าทุกฝ่ายสามารถเสนอข้อคิดเห็นเข้ามาได้นั้น ขณะนี้มีหลายฝ่ายเสนอเข้ามา มีทุกกลุ่มไม่ว่าจะเสื้อสีไหน นักบริหารท้องถิ่น องค์กรต่างๆ และมีบางพรรคการเมืองจะเข้ามายื่นข้อเสนอในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ด้วย 

@ เชิญสปท.ถกนัดแรก 13 ต.ค.

   ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปท. ลงนามในหนังสือเชิญสมาชิก สปท.ประชุมสภาครั้งที่ 1/2558 ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยมีวาระเพื่อรับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งสมาชิก สปท. และสมาชิก สปท.กล่าวปฏิญาณตน นอกจากนี้ยังมีวาระการพิจารณาเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปท.ด้วย 

@ 'จ้อน'ชี้ปชป.อย่าคิดเล็กคิดน้อย

     เมื่อเวลา 10.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.ของ ปชป. กล่าวกรณีมีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางรายที่ยังรับราชการอยู่ว่า พูดเรื่องนี้ลำบากเพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ห้ามไว้ นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งได้ ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กำหนดให้ประชุมในช่วงบ่ายของทุกวัน โดยช่วงเช้าให้ไปปฏิบัติราชการก่อน เห็นว่าหากเพิ่มเวลาทำงานเหมือน กมธ.ยกร่างฯของนายบวรศักดิ์ที่จัดประชุมตลอดทั้งวัน จะช่วยทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเร็วขึ้นเพียง 3 เดือนก็จะเสร็จ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลา 6 เดือน

     นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปท. กล่าวว่า เรื่องคุณสมบัติของสมาชิก สปท.กรณีที่เป็นข้าราชการไม่ได้มีข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว ถ้ามองมุมบวกจะเห็นว่า การทำหน้าที่ สปท.และตำแหน่งอื่นด้วยเป็นการเสริมการทำงานมากขึ้น พรรคการเมืองควรคิดมุมบวก อย่าคิดแค่เรื่องเล็กน้อย ขอให้มองภาพกว้างภาพใหญ่ คนที่เป็น สปท.มีคุณสมบัติมีประสบการณ์มากจะมีส่วนเชื่อมโยงการทำงานในการบริหารขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้นได้เร็ว สปท.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและกำหนดกติกาใดๆ จึงไม่มีสาระสำคัญเรื่องบทบาทหน้าที่ แม้จะสวมหมวกหลายใบแต่ก็เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน จึงอยากให้อดีต ส.ส.เสนอเรื่องปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมในมุมสร้างสรรค์เข้ามามากกว่า 

@ พร้อมหลีกทางชิงรองปธ.สปท.

      นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีชื่อชิงตำแหน่งรองประธาน สปท.คนที่ 1 ว่า ยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ หากมีบุคคลที่เหมาะสมก็พร้อมสนับสนุนและหลีกทาง ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะพิจารณาด้วย อยู่ที่ไหนทำงานตรงไหนก็ได้พร้อมทุ่มเทเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่ผ่านมาเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) ก็ทำงานเรื่องการปฏิรูปมา ครั้งนี้ถือเป็นการโอนการทำงานและต่อยอดการปฏิรูปมาสู่การปฏิบัติ จึงต้องมีการทำงานที่เข้มแข็งภายในเวลาที่กำหนด เพราะการทำงานของ สปท.ครั้งนี้ไม่ใช่การนับหนึ่งใหม่ ต้องประสานการทำงานใกล้ชิดระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช.ด้วย 

     นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท. กล่าวถึงการเลือกประธาน สปท.ว่า จะเลือกกันในวันแรกที่เปิดประชุม สปท. คือวันที่ 13 ตุลาคมนี้ ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะเลือก ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. เนื่องจากมีประวัติและประสบการณ์ที่เหมาะสมที่สุด คนทำงานตำแหน่งนี้ต้องมีลูกล่อลูกชน มีศิลปะในการพูดทำให้ผู้อื่นเกรงใจ มีประสบการณ์ทำงานในสภา ท่านเคยทำงานในฐานะอดีต ส.ว.และเคยเป็น สนช.มาก่อน แม้อายุมากแล้วแต่สุขภาพยังแข็งแรงอยู่มาก สำหรับรองประธาน สปท.ยังบอกไม่ได้ว่าจะเลือกใคร คงต้องรอวันประชุมอีกครั้ง

@ สายสปช.เก่ายุ'ชัย'ชิงปธ.สปท.

    นายนิกร จำนง สมาชิก สปท. กล่าวถึงการเลือกประธานและรองประธาน สปท.ว่า ยังไม่มีใครในใจ และไม่มีสมาชิกมาล็อบบี้ให้เลือกใครเป็นพิเศษ คิดว่าจะตัดสินใจเลือกบุคคลที่เหมาะสมในวันลงมติ ส่วนสเปกหรือคุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะสมเป็นประธาน สปท. ต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ทำหน้าที่ควบคุมการประชุมตามข้อบังคับการประชุมได้ดี มีสุขภาพที่ดีนั่งควบคุมการประชุมครั้งละนานๆ ได้ ที่สำคัญเป็นผู้อาวุโสเป็นที่เกรงใจและเป็นตัวแทนที่สมาชิกโดยส่วนใหญ่ต่างยอมรับ 

     พล.อ.นคร สุขประเสริฐ อดีต กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะสมาชิก สปท. กล่าวว่า ถ้าจะให้เลือกต้องดูที่คุณสมบัติ ประสบการณ์ บารมี และความสามารถในการควบคุมดูแลสมาชิกทั้งหมด ที่มีกระแสข่าวเสียงส่วนใหญ่จะเลือก ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. ก็เหมาะสมดี แต่ต้องดูคนอื่น หากนายชัย ชิดชอบ ถูกเสนอชื่อหรืออยากเป็นประธานด้วย ต้องมาพิจารณาอีกครั้งเพราะนายชัยก็มีความเหมาะสม เคยเป็นประธานสภามาก่อน เท่าที่ทราบสมาชิกสาย สปช.เก่า ก็มีการหารือกัน เนื่องจากกลุ่มนี้อยากจะเข้ามามีส่วนในการกำหนดทิศทางการปฏิรูปได้ เพราะงานปฏิรูปมีกรอบกว้าง 

@ 'ตู่'ยันนปช.ไม่ทะเลาะด้วยกับรบ. 

    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการแถลงสารจากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ต้องการสื่อถึง นปช. เพื่อต้องการสยบปัญหาภายในกันเอง สิ่งที่สำคัญคือว่าตลอดปีเศษ นปช.อยู่อย่างอดทน การแถลงแบบนี้เพราะมีคนพวกหนึ่งต้องการเสนอทฤษฎีความขัดแย้ง มาสร้างความสำคัญให้ตนเอง แต่ขอบอกอีกครั้งว่าไม่ทะเลาะด้วย นปช.รอวันใช้สิทธิทำประชามติ ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยก็คว่ำ แล้วจะอยู่ต่อไปก็เชิญ

      นายจตุพร กล่าวต่อว่า "การเขียนรัฐธรรมนูญ ถ้าเขียนเป็นความลับ ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ให้แสดงความเห็นเลย ก็ไม่ต้องตั้ง กรธ. แต่ที่สำคัญคือข้อสงสัยของประชาชนเป็นโอกาสให้ กรธ.ได้ชี้แจง ประเทศไม่เสียหาย เพราะการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีผลกระทบกับความมั่นคงใดๆ เลย ส่วนปัญหาเผด็จการรัฐสภานั้น ตนเชื่อว่าเป็นวาทกรรมของเผด็จการเสียงข้างน้อย เมื่อสู้เสียงข้างมากไม่ได้จึงกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ ดังนั้นจึงต้องยึดเสียงประชาชนที่เป็นเสียงข้างมาก หากไม่ยึดแล้ว ควรแก้ไขด้วยการใช้อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นของคนคนเดียวเลย" 

@ นักวิชาการร่วมดีไซน์รธน.ใหม่

     นายอดิศร เนาว์นนท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า หากจะมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภาตามสาร พล.อ.ประยุทธ์ ต้องดีไซน์รัฐธรรมนูญใหม่ให้พรรคการเมืองเป็นพรรคเล็ก ทำได้ 2 วิธี 1.กำหนดวิธีการได้มา ส.ส.ใหม่ 2.ให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด ส่วนประเด็นสร้างความปรองดอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ คงจะไปลงในรายละเอียดกับเรื่องนี้ไม่ได้มากนัก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วได้นำเอาเรื่องปรองดองกับเรื่องการแก้ปัญหาความวิกฤตไปไว้ในชุดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. ส่งผลทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปไม่รอด ดังนั้น กรธ.ชุดใหม่นี้ เมื่อรับธงเรื่องปรองดองมาแล้ว ต้องมาแปลงร่างธงนี้อย่างไรจึงจะไปรอด คิดว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจจะต้องลดความรู้สึกของประชาชนให้ได้ว่าการตั้ง คปป.จะไม่เข้ามาควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกที ต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำรัฐบาลเข้ามานั่งในตำแหน่งประธาน คปป. เปลี่ยนโครงสร้าง คปป.เดิมทั้งหมด มีเขียนบทเฉพาะกาลให้หมดอายุอย่างชัดเจนด้วย 

@ ส.ส.-ส.ว.ไม่ต้องยุ่งงบประมาณ

     นายอดิศรกล่าวอีกว่า อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญของไทยเขียนขึ้นมาเพื่อใช้กับระบอบรัฐสภา ไม่สามารถแยกฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติออกจากกันได้ แต่เสนอว่าควรจะแยกออกจากกันให้เด็ดขาด คือการแยกงบประมาณของฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ส.ส. และ ส.ว. ให้ได้ เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชั่นมาจากการใช้งบประมาณของ ส.ส. และ ส.ว. ความจริงควรจะมีหน้าที่ออกกฎหมาย อภิปรายไม่ไว้วางใจและเสนอญัตติเท่านั้น การใช้งบประมาณให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ที่จะใช้กลไกของราชการบริหารจัดการพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง โดยมี ส.ส. และ ส.ว.คอยตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าว

@ นิด้าโพลชี้ 15%เชื่อมั่นกรธ.มาก

    ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ความเชื่อมั่นในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม จากทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน 

    เมื่อถามถึงการรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ กรธ.ชุดปัจจุบันทั้ง 21 คน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 44.04 ระบุว่า ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินชื่อใครเลย เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ กรธ.ว่าจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ พบว่า ร้อยละ 15.51 มีความเชื่อมั่นมาก, ร้อยละ 33.89 ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น, ร้อยละ 20.94 ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น, ร้อยละ 11.19 ระบุว่าไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 18.47 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าเชื่อมั่นมาก-ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ให้เหตุผลว่า กรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ การทำงานในด้านต่างๆ อาทิ ด้านกฎหมาย ด้านการเมือง มีความเข้าใจในระบบการเมืองไทยเป็นอย่างดี ทราบถึงปัญหาจากการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งที่แล้ว นำมาปรับปรุงและแก้ไขน่าจะช่วยให้สรุปได้ลงตัวและตรงจุดมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น-ไม่เชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่า กรธ.ชุดนี้มาจากการคัดเลือกของรัฐบาลและ คสช. ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญบางส่วนจะเป็นการเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกตนเอง และยังไม่มั่นใจว่าจะมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นเกมการเมืองเพื่อยืดระยะเวลาอำนาจของรัฐบาล 

@ อัดกรธ.กลัวประชานิยมเกินเหตุ 

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าถ้าดูในรายละเอียดโพลดังกล่าว ในส่วนที่ตอบไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลยให้เหตุผลว่า กรธ.ชุดนี้มาจากการคัดเลือกของรัฐบาลและ คสช.ซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เชื่อว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะเป็นการเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกตนเอง เป็นสิ่งที่ กรธ.ต้องรับฟังและระมัดระวังให้มาก อย่างเรื่องการวางกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรมาควบคุมการจัดทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น วันนี้การเมืองและสังคมไทยเดินมาไกลเกินกว่าการรับรู้ของ กรธ.มาก หลายเรื่องเป็นหลักฐานชัดว่าคนกลุ่มนี้ต้องการแช่แข็งและฉุดประเทศให้ถอยหลังไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ ทั้งการบอกว่าจะไปศึกษารัฐธรรมนูญปี 2517 หรือให้มีองค์กรควบคุมการจัดทำนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ความกลัวทำให้เสื่อม กรธ.มโนภาพนโยบายประชานิยมจนน่ากลัวเกินเหตุ แล้วพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้สังคมคล้อยตาม จึงพยายามไปเขียนยัดใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ จนลืมมองดูนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่พยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน เข้าช่วยเอสเอ็มอี หรือคิดว่าเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นประชารัฐแล้วปัญหาเลยจบ ไม่เป็นประชานิยมอีกต่อไป

@ ชี้แจงต่างชาติสวนทางข้อเท็จจริง

     "ดังนั้น ถ้า กรธ.ตั้งโจทย์ผิด แทนที่จะทำให้การลงทุนและการรัฐประหารไม่เสียของด้วยการสร้างกติกา วางโครงสร้างให้ประเทศเดินหน้าด้วยประชาธิปไตย กลับไปสร้างเงื่อนไขวางกับดักให้รัฐบาลหลังจากนี้ เข้ามาแล้วไม่สามารถดำเนินนโยบายอะไรได้ ที่สุดวงจรอุบาทว์ก็กลับมาจะเกิดผลเสียอย่างใหญ่หลวง" นายอนุสรณ์กล่าว และว่า กรณีรัฐสภายุโรปออกแถลงการณ์ 23 ข้อ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยคืนกระบวนการประชาธิปไตยให้กลับคืนมาโดยเร็วนั้น น่าเสียดายท่าทีที่สำคัญนี้ถูกเพิกเฉยและเบี่ยงเบนตามเคย โรดแมปที่ไปชี้แจงต่อนานาชาติในที่ประชุมสหประชาชาติไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจใดๆ ลำพังหลักการที่ให้กระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงทำความเข้าใจทางการทูตนั้นคงยังไม่พอ สิ่งที่ปฏิบัติจริงก็เห็นๆ กันอยู่ว่าสวนทางกับที่ชี้แจงต่างชาติ เรียกว่าโฆษณากับคนในประเทศอย่างทำจริงอีกอย่าง ขนาดแค่เสนอแนะแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ยังทำได้ลำบาก ถูกผู้มีอำนาจกดดันสารพัด วันนี้ต่างชาติจับตามองอย่างเข้าใจและเข้าถึงมากกว่าคนในประเทศบางกลุ่ม เชื่อในหลักสิทธิเสรีภาพ อำนาจอธิปไตยที่ต้องเป็นของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

@ ศาลปกครองรับคำร้อง'สมศักดิ์เจียม'

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลปกครองกลางมีหนังสือถึงทีมทนายความของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา แจ้งคำสั่งรับฟ้องคดีที่ นายสมศักดิ์ฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ และคำสั่ง ก.พ.อ. ที่ยกอุทธรณ์ คำสั่งไล่ออก ที่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงฟ้องร้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ก.พ.อ.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษออกจากราชการ และขอให้เพิกถอนผลการอุทธรณ์คำสั่งที่ ศธ.0592 (3) 1.9/6266 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!