WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Senateพรเพชร วชตชลชยสนช. รับลูกนายกฯ หลังส่งสัญญาณชัด ยันพิจารณากม.ลูกตามกรอบเวลา ปัดยื้อเวลาให้ล่าช้า

      นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ไทม์ไลน์ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดมานั้นเหมือนเป็นการส่งสัญญาณมาที่ประธานสนช.ว่ากฎหมายลูกทั้งหลายทำให้เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปี 2561 เพื่อจะได้ประกาศวันเลือกตั้งได้ ไม่มีเป็นอย่างอื่น โดยที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วันนับแต่วันที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ สิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของสนช. รัฐบาล และคสช. ถ้าเป็นไปตามที่คิดไว้ตรงกัน คือ กฎหมายไม่ควรจะช้ากว่าสิ้นปี 2561

       ทั้งนี้ ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีกำหนดเวลาชัดเจนว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ต้องส่งมาให้สนช.ภายใน 240 วัน และสนช.มีเวลาพิจารณาภายใน 60 วัน และเมื่อพ้นจากสนช.แล้วยังต้องมีการส่งร่างกฎหมายไปให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและกรธ.เพื่อให้พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขของสนช.เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายหรือไม่ต่อไป และเมื่อสิ้นสุดของสนช.แล้วจะเป็นหน้าที่ในการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเพื่อนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ

       "กระบวนการต่างๆที่อยู่ในความรับผิดชอบของผม ก็ตั้งใจว่าจะทำให้เร็วที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำลวกๆ ออกกฎหมายไปให้ขัดรัฐธรรมนูญแล้วก็ไปยื่นคำร้องให้กฎหมายเป็นโมฆะและมาเขียนกันใหม่ ยุ่งวุ่นวายไปหมดแบบนี้ไม่ได้ ผมถือว่าผมต้องรับผิดชอบ สนช.ต้องรับผิดชอบ" นายพรเพชร กล่าว

       ส่วนที่มีการส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อไม่ให้ทุกอย่างมีปัญหา

       "อย่างกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาชิกสนช.ก็ส่งไปเอง ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สมาชิกสนช.ก็โล่งอกสบายใจ เป็นเรื่องการทำงานปกติ อย่าไปหวาดระแวงว่าจะไปคว่ำอะไร"

       ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่  1 กล่าวว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามกำหนดเวลา ซึ่งจะเสร็จสิ้นขั้นตอนของกรธ.ตามระยะเวลา 240 วันในช่วงเดือน ธ.ค. 2560 และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของสนช.จะต้องใช้เวลาอีก 60 วัน

       อย่างไรก็ตาม หากมีการโต้แย้งมาจากองค์กรอิสระเกี่ยวข้องจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย จะมีผลให้กรอบเวลาของพิจารณาร่างกฎหมายยาวขึ้นไปอีก ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าร่างกฎหมายใดบ้างจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย

       "ส่วนตัวยังไม่ได้คาดการณ์เลยว่ากฎหมายจะไม่ผ่านและไม่ได้คาดการณ์ว่ากรอบเวลาจะไปถึงเดือนพ.ย.หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ทราบว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนไปถึงปี 2562 หรือไม่ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศแล้วว่าในปี 2561 จะประกาศวันเลือกตั้งได้ภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับเสร็จสิ้น ถึงตอนนั้นก็จะกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน" นายสุรชัย กล่าว

       ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยืนยันว่าจะส่งร่างกฎหมายลูกทั้งหมดให้ สนช. พิจารณาได้ ก่อนวันที่ 1 ธ.ค.นี้  ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลา 240 วัน  และแม้ว่าจะมีเหตุให้ร่างกฎหมายลูกไม่สามารถบังคับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างกฎหมายลูกไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือ สนช. มีมติไม่เห็นชอบ ก็ตาม กรธ.จะต้องเป็นผู้แก้ไขหรือยกร่างขึ้นใหม่ ขออย่ากังวลกระแสข่าวคว่ำร่างกฎหมายลูก

        "พอส่งครบทุกฉบับ เราก็นั่งรอสนช. พิจารณา ส่วนจะมีอุบัติเหตุที่ทำให้กระบวนการร่างลากยาวไปถึงเดือน พ.ย.2561 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุหรือไม่ ผมคิดว่าไม่มีใครรู้หรอก หมอดูอีทีก็ตายไปแล้ว จะไปถามหมอดูอีทีก็คงไม่ได้แล้ว อย่าไปกังวล ไม่มีทุกข์เรื่องอื่นกันหรือ จะไปทุกข์ทำไม เพราะวันนี้มันยังไม่เกิดขึ้นเลย" นายมีชัย ระบุ

สนช. ยันจัดทำกม.ลูก 10 ฉบับแล้วเสร็จภายใน มิ.ย.61 ตามกรอบเวลารธน.กำหนด

       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยถึงกระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า สนช.จะดำเนินการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จทั้ง 10 ฉบับภายในเดือนมิ.ย.2561 แน่นอน โดยไม่ใช่เพียงแค่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

       "เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.61 แล้วเท่ากับกระบวนการเปลี่ยนผ่านประเทศจะเป็นไปตามโรดแมพที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน"

       ส่วนที่มีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติของกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลืกตั้ง (กกต.) บางราย นายสุรชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของ สนช. เนื่องจากที่มาของคณะกรรมการสรรหามาจาก 2 ทาง ได้แก่ 1.กรรมการสรรหาที่มาโดยตำแหน่ง เช่น ประธานสนช. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง เป็นต้น 2.กรรมการสรรหาที่มาจากการคัดเลือกขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระในการต้องหาบุคคลที่มีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของ สนช.ในการเข้าไปตรวจสอบแต่อย่างใด           

ประธาน กรธ.ชี้ สมชัยยื่นศาล รธน.ไม่กระทบต่อกระบวนการสรรหา กกต.ใหม่

       นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้สิทธิส่วนตัวยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเซ็ตซีโร กกต.ชุดปัจจุบันว่า ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมาก็จะยังไม่กระทบต่อกระบวนการสรรหา กกต.ที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการสรรหาอาจจะตัดสินใจชะลอกระบวนการสรรหา กกต.เพื่อรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่อย่างไร

       ส่วนกรณีนายกฯ กล่าวถึงการจัดทำกฎหมายลูกจะเสร็จในเดือน พ.ย.61 แล้วต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน150 วัน ในเดือน เม.ย.62 จะขัดแย้งกับโรดแมปในรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนที่นายกรัฐมนตรีคาดการณ์เวลาไว้นั้น อาจจะเป็นการนับเวลาแบบยาวที่สุดแบบหนึ่ง แต่ กรธ.ไม่ได้สงสัยเกี่ยวกับกรอบเวลาในการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ.ที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง

สุรชัย ยันสนช.ยึดโรดแมพเดินหน้ากม.ลูกตามกรอบรธน. -กรธ. มั่นใจทำงานทันตามกรอบเวลา

      นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ในปี 2561 จะประกาศวันเลือกตั้งภายใน 150 วันตามโรดแมพว่า สนช.ยืนยันจะเดินหน้าตามโรดแมพ ที่ผ่านมาก็พิจารณากฎหมายลูกเสร็จก่อนกำหนดทุกครั้ง ตอนนี้เหลือการพิจารณากฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต, ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

       "การทำงานของ สนช.เป็นไปตามหน้าที่รับผิดชอบมาโดยตลอด ทั้งยังมีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษากฎหมายลูกล่วงหน้า เพื่อหลอมรวมความเห็นของทุกฝ่าย ลดการแปรญัตติ และลดเหตุการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย จึงเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้"

      ส่วนกรณีมีข่าวการคว่ำกฎหมายลูกในการพิจารณาของ สนช.นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ต้องไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เมื่อกฎหมายผ่านวาระ 3 ของ สนช.แล้ว ต้องส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ.พิจารณา ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีสิทธิโต้แย้ง สนช.ไปห้ามไม่ได้ อย่างไรก็ตามการโต้แย้งเพื่อตั้ง กมธ.ร่วมก็เป็นไปตามโรดแมพในรัฐธรรมนูญที่มีกรอบเวลากำหนดไว้คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งความเห็นแย้งภายใน 10 วัน เพื่อตั้ง กมธ.ร่วมพิจารณาอีก 15 วัน โดยล่าสุดนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ก็ตั้งให้ตนเองเป็นประธาน กมธ.ศึกษาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายแล้วคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งได้เตรียมพิจารณาในประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วง และยังมีความเห็นต่างกันอยู่

       ด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรธ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเสร็จแล้ว โดยมีจำนวน 188 มาตรา แบ่งออกเป็น 11 หมวดและบทเฉพาะกาลซึ่งจะส่งร่างกฎหมายไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ภายในวันที่ 5 ต.ค.เพื่อให้พิจารณาในรายละเอียดและส่งความคิดเห็นกลับมายังกรธ.ภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่กรธ.จะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้ สนช.ภายในวันที่ 24 ต.ค.ต่อไป

        ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. จะส่งให้ทางสนช. ในวันที่ 21 พ.ย.นี้และคาดว่าสนช.จะบรรจุระเบียบวาระเพื่อลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ในวันที่ 23 พ.ย.จากนั้นจะส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้กับสนช.ในวันที่ 28 พ.ย.นี้และสนช.จะนัดประชุมรับหลักการในวาระที่ 1 วันที่ 30 พ.ย.นี้

      "กำหนดการเหล่านี้ กรธ.ได้ประสานงานกับสนช.ไว้เบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว และยังอยู่ในภายกำหนด 240 วันที่กรธ.ต้องส่งให้สนช.ที่จะครบกำหนดในวันที่ 1 ธ.ค."นายนรชิต กล่าว
ประวิตร รับลูกนายกฯ เผยรบ.จะประกาศวันเลือกตั้งปีหน้า หลังกม.ลูก 4 ฉบับแล้วเสร็จ

         พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า เรื่องนี้ได้ย้ำมาหลายครั้งแล้วว่าหลังกฏหมายลูก 4 ฉบับแล้วเสร็จ 150 วัน รัฐบาลจะประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลือกในปีหน้า โดยยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมพ

      ส่วนการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบโจมตีกับสหรัฐอเมริกานั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการจัดซื้อกับสหรัฐอเมริกา แต่เป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยกองทัพบกกำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกแบบจากหลายประเทศ และไม่ได้จะจัดซื้อจากสหรัฐฯ แต่อย่างใด

      "ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอาใจใครทั้งสิ้น เพราะต้องให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาให้รอบคอบ ขณะเดียวกันส่วนตัวยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาให้คณะกรรมการว่าจะพิจารณาจัดซื้อได้เมื่อใดเพราะต้องดูว่ามีงบประมาณเพียงพอหรือไม่"

          อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!