WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

Gกอบศกด ภตระกลรัฐบาลแจง สนช.ย้ำความจำเป็นจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง

    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงความจำเป็นการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการเดิม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญอย่างต่อเนื่องได้

     ทั้งนี้ ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาทำงาน พบว่าเศรษฐกิจของไทยเติบโตเพียง 1% ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเติบโตเฉลี่ย 5-6% ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ซึ่งยังส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

   ขณะที่ในหลายประเทศก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ หรือ แผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี สิงคโปร์มีแผน 20 ปี ส่วนมาเลเซีย รวมถึงจีน ก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ก็เพื่อให้ไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

    สำหรับ ยุทธศาสตร์ชาติครอบคลุม 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นฉบับแรกตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในประเทศไทย โดยจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 61-80 และกำหนดให้ทบทวนทุก 5 ปี หากสถานการณ์ในประเทศ หรือ สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านที่เกี่ยวข้องสามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา โดยเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีและนำเรื่องเข้าสู่สภา เมื่อได้รับความเห็นชอบก็เสนอแก้ไขได้ โดยจะแก้เฉพาะเรื่องหรือทั้งเล่มก็ได้

    เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้แล้วจะผูกมัด 5 ประการ คือ รัฐบาลต้องแถลงต่อสภาในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ จะต้องคำนึงถึงว่านโยบายที่แถลงต้องไม่ขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ชาติ และไม่ซ้ำซ้อน รวมถึง ผูกพันแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนระดับชาติจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

     "กฎหมายกำหนดไว้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากนี้ไปต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเห็นว่าแม้ยุทธศาสตร์ชาติยังไม่มีผลบังคับใช้ การจัดทำงบประมาณปี 62 ก็จัดทำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ก่อนแล้ว และ แผนการปฏิรูปประเทศจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นายวิษณุ กล่าว

   อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศชาติยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต และแผนแม่บท หากแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ขัดแย้งกับแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือขัดแย้งกับแผนแม่บท ก็ต้องไปแก้ไขแผนปฏิรูป 11 ด้าน รวมทั้งปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำแผนแม่บท ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งขณะนี้แผนแม่บทยังไม่ได้ยกร่าง โดยจะใช้เวลาเตรียมการประมาณ 2 เดือนเข้าเสนอต่อสภา นอกจากนั้นกระทรวง ทบวง กรม จะต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ต้องนำเข้าสภา

      จากนั้นที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้น 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 38 คน กรอบเวลาทำงาน 22 วัน ก่อนเสนอกลับมาให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 ก.ค.

                    อินโฟเควสท์

กอบศักดิ์ เผยช่วง 8 เดือนที่เหลือของรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าปฏิรูปในเรื่องสำคัญและตอบโจทย์ประชาชนให้มากสุด

     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน Meet the Press เรื่อง "การปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ"ว่า ในช่วง 8 เดือนสุดท้ายของรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าปฏิรูปในเรื่องที่สำคัญและตอบโจทย์ประชาชน ซึ่งรัฐบาลตั้งใจวางรากฐานการปฏิรูปให้เกิดความต่อเนื่อง และทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย พร้อมทั้งวางแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การแก้จน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย 2.การแก้ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม 3.การแก้โกง สร้างความโปร่งใส 4.การมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย 5.การปฏิรูประบบราชการเพื่อประชาชน และ 6.การสร้างอนาคตไทย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญ

     นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ปัญหาในการปฏิรปของประเทศ คือ ในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เน้นการสร้างความเข้มแข็งในตัวบุคคลเป็นหลัก พัฒนาจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง แต่กลับพบว่าความเลื่อมล้ำยังเพิ่มมากขึ้น

    "ประเทศไทยเป็นโรคอยู่โรคหนึ่ง คือ โรคตาลขโมย โดยที่เราไม่รู้ตัว คือ หัวโต พุงโร ก้นปอด และแขนขาลีบ ซึ่งประเทศไทยกรุงเทพฯ โต EEC โต แต่ชนบทลีบไปหมด ปฏิรูปมา 50 ปีชนบทอ่อนแอทุกหย่อมหญ้า ที่ดินก็หลุดมือ เราก็ตั้งใจว่า รัฐบาลชุดนี้จะสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก" นายกอบศักดิ์ กล่าว

     พร้อมระบุว่า รัฐบาลเร่งเครื่องจะเดินหน้า 15 โครงการให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อมอบให้เป็นของขวัญกับประชาชน ซึ่งเสร็จไปแล้วกว่า 60% ประกอบด้วย กองทุนยุติธรรม, พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน, พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน, พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม, พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.ขายฝาก, ธนาคารที่ดิน, โครงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง, โครงการยาเพื่อประชาชน, โครงการธนาคารต้นไม้, โครงการไม้มีค่าตัดได้, โครงการ 1 ไร่ 1 แสน, โครงการธนาคารปูม้า, สภาประชารัฐ และกองทุนพัฒนาผู้นำชุมชน

     นอกจากนี้ จะเดินหน้าการปฏิรูปกระทรวงต้นแบบเป็นกระทรวงยุคใหม่ 4.0 มีโครงสร้างด้านไอที และปรับภายในกระทรวงให้สอดรับการภารกิจยุคใหม่ ประกอบด้วย กระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทั้งเดินหน้าโครงการปฏิรูปกฏหมาย โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ในเดือนก.ค. เพื่อปรับปรุงกฏหมายให้ทันต่อยุคสมัย

    พร้อมทั้งได้วางกิจกรรมการปฏิรูป (Reform together) เพื่อให้เวลาที่เหลืออีก 8 เดือน สร้างโมเมนตัมในการปฏิรูปประเทศ และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น โครงการป่าชุมชน จะให้ประชาชนเข้ามาร่วมระดมความคิด กำหนดกฏเกณฑ์ ภายในเดือนก.ย.นี้ว่าในพื้นที่ป่าชุมชน 20,000 กว่าไร่ทั่วประเทศไทยจะต้องมีกฏเกณฑ์อย่างไรบ้าง หรืองานกิจกรรมสัมมนาเข้มแข็งจากฐานราก ที่เตรียมจัดงานในเดือนก.ยงนี้ เป็นต้น

    รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการสื่อสารให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป โดยจะมีการปรับรูปแบบรายการเดินหน้าประเทศไทยทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. จะเป็นการจัดรายการรูปแบบใหม่ภายใต้หัวข้อ "ร่วมคิดร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกัน" ซึ่งจะเป็นเวทีในการให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

     นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงความจำเป็นในการใช้มาตรา 44 ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปว่า จะใช้เพียงบางมาตราเท่านั้น แต่จะใช้ fast track นำกฏมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่สำคัญๆ เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากกว่า

     นายกอบศักดิ์ ยังปฏิเสธให้ความเห็นกรณีถูกทาบทามให้เป็นรัฐมนตรีอีกสมัยในรัฐบาลหน้า โดยกล่าวเพียงว่า ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะพูดถึงอนาคตทางการเมือง เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาเพียง 6-8 เดือนที่จะต้องเร่งทำงาน เพื่อให้การปฏิรูปเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน

     อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!