WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หม่อมอุ๋ย คาดจีดีพี Q1/58 โตราว 4% ขณะที่ Q4/57 โตไม่น้อยกว่า 2% ชี้หากเร่งลงทุนภาครัฐ ดันเศรษฐกิจไทยปีแพะโตเข้าเป้า 4%

   'หม่อมอุ๋ย'คาดจีดีพี Q1/58 โตราว 4%  ขณะที่ Q4/57 โตไม่น้อยกว่า 2%  ชี้หากเร่งลงทุนภาครัฐ ดันเศรษฐกิจไทยปีแพะโตตามเป้า 4%ได้  พร้อมหนุนพัฒนาตลาดทุนไทยบนกรอบ international platform และ digital economy

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ กลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตมั่นคงและยั่งยืน ที่ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย(ตลท.) วานนี้ ว่า  เศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 1/58 จะขยายตัวราว 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้แรงหนุน จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่สูงขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะมีออกมา มากขึ้น

  ขณะที่มองผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ในไตรมาส 4/57 จะขยายตัวได้อย่างน้อย 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

  "(จีดีพีไตรมาส 4/57) สภาพัฒน์ยืนยันมาแล้วว่า อย่างน้อย 2% กว่าแน่ๆ...พอถึงไตรมาส 1 private investment เดินแรงกว่าเดิม  และยังมีน้ำมันที่ลง consumption น่าจะขึ้น การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐที่อั้น มาจากไตรมาสแรก(ปีงบประมาณ 58) ก็จะทะลักออกมา ดังนั้น แม้ว่าส่งออก จะทรง แต่ growth ก็น่าจะไป 4% อยู่แล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว 

                ทั้งนี้ หากจะให้เศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ปีนี้เติบโตได้ถึง 4% ไทยจะต้องเร่งการลงทุน โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการลงทุนของภาครัฐให้ได้ 85% จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 78% รวมไปถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังส่งผลดีต่อการใช้จ่ายด้วย

    ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนที่ล่าสุดมีการขอออกใบ รง.4 ไปแล้ว 3,800 โรงงาน และมีการตั้งโรงงานแล้ว 1,600 โรงงาน และอีก 2,200 โรงงาน จะทยอยตั้งในระยะต่อไป ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป

   ส่วนการจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้นั้น ไทยจะต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรืออุตสาหกรรมใหม่ เช่น ปัจจุบันไทยพบว่าในดินมีแร่ธาตุโปรแทสเซียมอยู่ค่อนข้างมากคิดเป็นอัตรา 400,000 ตันมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมองว่าจำเป็นที่จะต้องนำส่วนดังกล่าวมาใช้ให้เป็นประโยชน์และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

    "ปัจจุบันพบว่ามีเทคโนโลยีสามารถนำแร่ธาตุดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่าทรัพยากรดังกล่าวจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาลกับประเทศ"ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าว

    ด้าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า วานนี้ รองนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ได้ให้แนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กรอบการพัฒนาประเทศในเรื่องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนนานาชาติ(International Platform) โดยมุ่งสนับสนุนต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (InternationalHeadquarter) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers)ซึ่งจะดึงดูดการค้าการลงทุนเข้ามายังประเทศไทย ตลท.ได้สนับสนุนแนวทางดังกล่าวในการขยายสินค้าและประเภทสินทรัพย์ให้หลากหลายและเป็นสากลรวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งที่ผ่านมาตลท. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และจะต่อยอดการเชื่อมโยงภูมิภาคจากแนวนโยบายดังกล่าว

   นอกจากนี้ภาครัฐยังมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสามารถเริ่มจากภาคตลาดทุนซึ่งมีความพร้อม และในที่สุดจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการบริการ การผลิต ตลอดจนหน่วยงานของภาครัฐ

   สำหรับ ตลท. ได้วางทิศทางการพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตยั่งยืน และรองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นแนวคิด  Digital-Diversified-Sustainable-Internationalized (D-D-S-I)  ได้แก่ การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงานในทุกมิติเพื่อตอบสนองทุกภาคส่วนในตลาดทุน (Digital)การเพิ่มความหลากหลายของตลาดและประเภทสินทรัพย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าเดิมและขยายฐานผู้ลงทุน (Diversified) การพัฒนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนให้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Sustainable) ให้มากขึ้นนอกเหนือจากการมุ่งเน้นการส่งเสริมบรรษัทภิบาลที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งการขยายบทบาทระหว่างประเทศของ ตลท. (Internationalized) นับเป็นโจทย์สำคัญสำหรับ ตลท.ซึ่งดำเนินงานครบ 40 ปีในปีนี้และก้าวสู่ทศวรรษใหม่ต่อไป  ดร. สถิตย์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

หม่อมอุ๋ย เชื่อปีนี้ศก.โตได้ 4% หลายปัจจัยหนุน แม้มองส่งออกโต 2%

   ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "กลยุทธ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตมั่นคงและยั่งยืน" โดยยังยังมั่นใจว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 4% ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยหลักที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้ คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ปีนี้จะเร่งให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้อย่างน้อย 85% จากอดีตที่มีการเบิกจ่ายได้เพียง 78% ของงบประมาณ นอกจากนี้คาดว่าการบริโภคในประเทศจะมีเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

   ขณะเดียวกัน ยังได้รับปัจจัยบวกจากกรณีการอนุญาตใบ รง.4 ในปีที่ผ่านมา โดยภาครัฐได้ให้ใบอนุญาตภาคเอกชนไปแล้ว ประมาณ 3,800 โรง และมีการแจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 1,608 โรง ในช่วง พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อโรงงานเปิดดำเนินงานแล้วจะส่งผลต่อภาพบรรยากาศโดยรวม และยังมีโรงงานที่เหลืออีก 2 พันโรงเตรียมจะเปิดดำเนินการในปีนี้ โดยคาดว่าในไตรมาสแรกจะมีโรงงานเปิดราว 1,500-1,600 โรง ซึ่งหากมีโรงงานเปิดเพิ่มขึ้นก็น่าจะส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

  สำหรับ การบริโภคในช่วงเดือนพ.ย.57 ดีขึ้น ภายหลังราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลง ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่การลงทุนเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/57 ที่ผ่านมา สะท้อนภาพที่ดี ขณะที่การส่งออกที่หลายฝ่ายกังวลนั้น โดยส่วนตัวคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 2% จากที่สภาพัฒน์คาดว่าจะเติบโตได้ 4%

   "แม้ว่าการส่งออกจะเติบโตไม่มาก แต่เชื่อว่าปัจจัยเรื่องการเบิกจ่าย, ราคาน้ำมันลดลง และโรงงานที่เปิดใหม่ในปีนี้จะช่วยหนุนการจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธ กล่าว

   พร้อมคาดว่า ประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตที่ดี เพราะได้วางรากฐานของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการปรับตัวของตลาดไทย คือ การมองหาการลงทุนลักษณะใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและการผลิตสินค้าป้อนสังคมสมัยใหม่ รวมถึงการค้าขายข้ามประเทศ และการเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค และเชื่อมโยงไปยังการเปิดอุตสาหกรรมใหม่จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ท้ายสุดคือการก้าวสู่ "Digital Economy" นอกจากนี้ ผู้ผลิตในประเทศไทยได้ขยายฐานผลิตไปอาเซียนมากที่สุด โดยมีการสร้างฐานผลิตหลายบริษัท และเมื่อมีหลายฐานการผลิตก็จะมีสินค้าหลากหลายประเภท การที่คนไทยค้าข้ายเก่งด้วยพฤิตกรรมที่ชอบค้าขาย ก็น่าจะทำให้ประเทศไทยไปได้ไกล

   "ไม่ใช่หน้าที่ของผม หรือรัฐบาลฝ่ายเดียวที่สร้างความเชื่อมั่น ผมว่าทุกคนต้องร่วมกัน และผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำ สามารถทำให้แข่งขันได้ และมองไปยังภาพระยะยาวยังสามารถที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ และผมคิดว่าเรื่องราคาน้ำมันลดลงส่งผลดี และผมมองว่าเราได้พยายามที่จะเปิดช่องทางที่ดีสำหรับประเทศไทยในอนาคต และผมว่าคาดประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้าไทยไปได้ไกล" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

   อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะมีการปรับโครงสร้างพลังงาน เพราะในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีการเติบโต ในขณะเดียวกันการใช้พลังงานก็สูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยต้องดำเนินการให้กลับมาสู่จุดที่สมดุล และทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ มีการสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานประเภทใหม่ โดยเลือกพลังงานถ่านหินสะอาด เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน แม้ว่าพลังงานถ่านหินต้นทุนจะสูงและมีการประท้วงต่อต้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำเป็นที่ต้องหาพลังงานทางเลือกใหม่ เพื่อมาทดแทนความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

   นอกจากนี้ จะมีการปรับโครงสร้างภาษีที่ทางภาครัฐอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและลดปัญหาเรื่องภาษีซ้ำซ้อน, การปรับปรุงการเพาะปลูกและผลิตยางพารา และการปรับปรุงการเพาะปลูกและการผลิตข้าว ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารก็จะพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแพ็คเก็จที่สามารถนำมาอุ่นและพร้อมรับประทานได้ทันที

   พร้อมกันนี้ ยังมีความคาดหวังที่จะให้ไทยผลิตสิ่งที่ประเทศในอาเซียนไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งจากเดิมไทยผลิตรถยนต์อีโคคาร์ก็จะปรับมาเป็นรถยนต์ Hybrid แทน ซึ่งต้องการให้การผลิตในไทยมีความแตกต่างไปจากประเทศในอาเซียน

 อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!