WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

P82--นายกฯให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ แก่ภาคธุรกิจของญี่ปุ่น

    ณ โรงแรม New Otani กรุงโตเกียว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมการสัมมนา Mekong-Five Economic Forum” ที่จัดโดย JETRO ณ ห้อง Ho-Ou โรงแรม New Otani Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ระหว่างการสัมมนา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์แก่ภาคเอกชนญี่ปุ่น สรุปดังนี้

   นายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลไทย มีความยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมวาระเรื่องเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ (Mekong-Five Economic Forum) ที่จัดโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำ ลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 การพบกัน ในวันนี้ เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนของแต่ละประเทศ และนำไปประกอบ การตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนของแต่ละประเทศจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองของบริษัทญี่ปุ่นต่อการทำธุรกิจในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 ประเทศ

    เป็นที่ทราบกันดีว่า ปีนี้เป็นสำคัญของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งหมายถึง การรวมตัวกันทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง ซึ่งวันนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงเฉพาะความสำคัญของการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อการก้าวเดินของประเทศสมาชิกที่ยังมีความแตกต่างของระดับการพัฒนา คำถามคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้กลุ่มประชาคมอาเซียน มีความเข้มแข็ง สามารถก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

     เป็นที่ทราบดีว่า การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศกลุ่มอาเซียนนับวันจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หากจะพูดถึงเฉพาะในประเทศไทยแล้ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในประเทศไทย และวันนี้จำนวนและมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จากบริษัทญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในระยะแรกที่เน้นการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตั้งแต่เราเริ่มวางแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่ได้ให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งได้ก่อให้เกิด การสร้างงาน สร้างรายได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมของไทย จนทำให้ปัจจุบันไทยได้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

    โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ได้เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนประเทศไทย มาโดยตลอดทั้งในช่วงที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตภัยพิบัติ ที่สำคัญคือ การริเริ่มโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์และการมองการณ์ไกล เพราะวันนี้ในโลกแห่งการแข่งขันทางด้านต้นทุนการผลิต ที่มีสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ค่าแรงงาน ต้นทุนการเงิน ต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ทำให้เราต้องมองหาแหล่งผลิตที่มีความได้เปรียบทั้งทางด้านวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต และตลาด ตลอดจนการเชื่อมโยงห่วงโซ่ของการผลิตเข้าด้วยกันเพื่อประหยัดต้นทุน

    ด้วยความที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ มีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ประชากรประมาณ 300 ล้านคน มีอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่รวดเร็วและต่อเนื่อง ปัจจุบันมี GDP ประมาณ 664 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่ขนาดเล็กแล้ว และหากนับรวมอาเซียนทั้งกลุ่มแล้ว ตลาดผู้บริโภคก็มีขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน และที่สำคัญคือระดับรายได้ต่อหัวก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ประเทศในกลุ่มนี้พร้อมก้าวพ้นจากความยากจนไปสู่รายได้ปานกลาง และประเทศที่มีรายได้ปานกลางก็พร้อมก้าวสู่ประเทศรายได้สูง

     นโยบายรัฐบาล มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาในอดีตอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความโปร่งใสของภาครัฐที่เป็นปัญหาหนักอกของนักธุรกิจทั้งหลาย ในเวลาเดียวกัน นโยบายรัฐบาลก็ให้ความสำคัญของการวางพื้นฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทย

    ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสร้าง ความเข้มแข็งให้กับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง อะไรก็ตามที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน รัฐบาลจะดำเนินการให้มีผลเป็นเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 5 เรื่อง ดังนี้

   เรื่องที่ 1 ประเทศไทยยืนยันที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ทั้งภายในประเทศและกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลได้อนุมัติแผนพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานในช่วง 8 ปีข้างหน้า (2558-2564) ประกอบด้วย 5 แผนงานคือ

(1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง

(2) การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 10 เส้นทาง

(3) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

(4) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ

และ (5) การเพิ่มขีดความสามารถของบริการขนส่งทางอากาศ

   ในแผนงานดังกล่าว มีอยู่หลายโครงการที่รัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น คือ โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ระยะทาง 672 กม. (เป็นเส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้) โครงการปรับปรุงระบบรถไฟทางคู่ เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-สระแก้ว-แหลมฉบัง (เป็นเส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจ ด้านใต้ เพื่อเชื่อมกับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย) โครงการปรับปรุงระบบขนส่งสินค้าทางรางในภาคตะวันออก และโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของระบบรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก (แม่สอด-มุกดาหาร) รวมทั้งโครงการระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ สายสีม่วง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ระบบตัวรถจะใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่น คาดว่าจะส่งมอบได้ในเดือนตุลาคม ปีนี้

เรื่องที่ 2 โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบโครงการใน 4 รูปแบบคือ

(1) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 5 จังหวัด เริ่มปี 2558 และระยะที่สองอีก 5 จังหวัด เริ่มปี 2559 โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และในกลุ่มอาเซียนที่จะเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยบวกหนึ่ง (หรือ Thailand Plus One)

(2) เขตเศรษฐกิจพิเศษตอนใน เป็นการพัฒนาพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในลักษณะ คลัสเตอร์

(3) เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรม

และ (4) เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว (อาจจะเรียกว่าเป็น Tourism Free Zone) ซึ่งรัฐบาลโดย BOI จะให้สิทธิประโยชน์ สูงสุด ทั้งนี้รูปแบบที่ 2 – 4 อยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียด

   เรื่องที่ 3 นโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาค (International Headquarter – IHQ) และศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center – ITC) โดยให้สิทธิประโยชน์ แก่ธุรกิจข้ามชาติที่จัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในประเทศไทยและปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนของการประกอบธุรกิจ ซึ่งมุ่งเป้าให้ลดเวลา เพิ่มความคล่องตัว และลดต้นทุนการประกอบการของนักธุรกิจ (Ease of Doing Business) ขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

    เรื่องที่ 4 ไทยจะร่วมมือกับเมียนมาในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจ พิเศษทวาย รัฐบาลไทยเห็นว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถือเป็นโครงการสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นระหว่างประเทศไทยและ เมียนมาในอันที่จะร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตในลักษณะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในการนี้ ไทยขอขอบคุณทนายกรัฐมนตรี – ชินโซะ อาเบะ และรัฐบาลญี่ปุ่น ที่จะร่วมมือและให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันเพื่อร่วมพัฒนาโครงการนี้ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ในเวลาอันรวดเร็ว โดยในวันพรุ่งนี้ มีความยินดีที่ทั้ง 3 ประเทศ จะได้มีการลงนาม ร่วมกันในบันทึกความเข้าใจในการแสดงเจตนารมณ์ (Memorandum of Intent: MOI) ในการร่วมกันพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้มีความก้าวหน้า เป็นรูปธรรม และประสบผลสำเร็จต่อไป

   เรื่องที่ 5 ไทยจะเดินหน้าในการแก้ไขกฎระเบียบร่วมกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้สามารถลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนให้ทันสมัย โดยให้ความสำคัญกับการเจรจาในเรื่องกฎระเบียบเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมเจรจาเรื่องการเพิ่มจำนวนรถผ่านแดนไปยังประเทศที่สองและสามในกลุ่ม และเปิดให้มีการเดินรถโดยสารระหว่างประเทศภายในกลุ่ม ขณะนี้ทางกัมพูชาได้ตอบตกลงที่จะเพิ่มจำนวนรถข้ามแดนจาก 40 คัน เป็น 500 คัน และเปิดเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศไปยังกัมพูชาเพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดเดินรถระหว่างไทย - ลาว - เวียดนามในทันทีที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ตลอดจนเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม และในอนาคตอันใกล้ไทยก็จะผลักดันให้เพิ่มเส้นทางหมายเลข 8 และ 12 ให้สามารถย่นระยะเวลาเดินทางข้ามประเทศไทย-ลาว-เวียดนาม

    นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ว่ามีความสงบและมั่นคง การดำเนินชีวิตของประชาชนและการทำธุรกิจการลงทุนกลับมาเป็นปกติ รัฐบาลกำลังดำเนินการตาม Roadmap ในขั้นที่สองที่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอนุมัติโครงการลงทุนที่มีประโยชน์ให้เริ่มดำเนินการได้ และเตรียมการจะเข้าสู่ขั้นที่สาม คือขณะนี้มีร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการทำประชาพิจารณ์ (Referendum) ในช่วงต้นปีหน้า จากนั้นถึงจะมีการเลือกตั้ง และส่งต่อวาระการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลจะได้เตรียมไว้ให้รัฐบาลในอนาคตมาทำต่อไป

      ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยตลอด 60 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดคือภาคธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นว่า จะให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่นต่อไป และขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลญี่ปุ่นในโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงร่วมกับเมียนมาและไทย และนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และระหว่างไทย-ญี่ปุ่น - เมียนมา จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงานและอาชีพ และสร้างความสุขให้กับประชาชนทั้งสองประเทศให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนด้วยกันต่อไป

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สรุปสาระสำคัญของแถลงการณ์การประชุมญี่ปุ่นและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

    สำนักข่าวเกียวโดรายงานแถลงการณ์ร่วมในการประชุมระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและ 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในวันนี้ โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วมมีดังนี้

   - ที่ประชุมยืนยันถึงความสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งในด้านประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม, การเคารพสิทธิมนุษยชน และการสร้างสันติภาพในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

    - ให้คำมั่นที่จะสนับสนุน 'โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ'ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนที่คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก

    - ชื่นชมความพยายามของญี่ปุ่น ไทย และเมียนมาร์ ในการผลักดันโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย (Dawei Development Project)

    - แสดงความกังวลเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

    - เรียกร้องเกาหลีเหนือให้เร่งคลี่คลายปัญหาการลักพาตัวประชาชนชาวญี่ปุ่น

    - เรียกร้องให้มีการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยเร็ว และให้คำมั่นว่าจะผลักดันให้การปฏิรูปดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในปีนี้

   - เรียกร้องให้มีการสรุป 'แนวทางปฏิบัติ' ระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน ในทะเลจีนใต้

   - แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีพิพาทที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทะเลจีนใต้

* ถ้อยแถลงจากญี่ปุ่น

   - ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินมูลค่า 7.50 แสนล้านเยน (6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

   - แสดงความขอบคุณกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่สนับสนุนญี่ปุ่นในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

* ถ้อยแถลงจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

   - แสดงความชื่นชมญี่ปุ่นที่พยายามผลักดันตนเองสู่ประเทศแห่งสันติภาพในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา

   - สนับสนุนนโยบายเชิงรุกในการสร้างสันติภาพของญี่ปุ่น

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!