WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

  

Gสมคด จาตศรพทกษ'สมคิด'เผย ครม.ไฟเขียวมาตรการกระตุ้นศก.วงเงินกว่า 1.3 แสนลบ.เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ลั่น 1-2 สัปดาห์ชง ครม.พิจารณาเฟส 2 ช่วยเอสเอ็มอี หวังมุ่งเกิดการลงทุน

      'สมคิด'เผย  ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้น ศก.วงเงินกว่า 1.3 แสนลบ. เน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย  ลั่น 1-2 สัปดาห์ชง ครม.พิจารณาเฟส 2 ช่วยเอสเอ็มอี หวังเกิดการลงทุน ด้าน รมว.คลัง เผย ครม.ให้ปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านปลอดดอกเบี้ย 2 ปี ให้เงินพัฒนา-จ้างงานทุกตำบล 7 พันแห่งๆ ละ 5 ลบ. หวังสร้างตำบลเข้มแข็ง

     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติโครงการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มาตรการทางเศรษฐกิจช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย คณะทำงานได้นำมาตรการเข้าสู่ครม.ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน  เพื่อการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำ เกษตรกร และอีกส่วนคือการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ วงเงินรวมกว่า 130,000 ล้านบาท คาดเงินเข้าสู่ระบบภายในปีนี้

   "ต้องการช่วยผู้ที่มีรายได้น้อย และให้ตำบลและหมู่บ้านพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง จุดประสงค์เพื่อฝห้เขานำไปใช้ในการผลิต แปรรูปการทำสินค้าชุมชน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสังคม ภายในหมู่บ้านและตำบล เป็นขุดเริ่มต้นโครงการต่อๆไป"นายสมคิด  กล่าว

    ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าว จะช่วยหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ซึ่งหลังจากออกมาตรการนี้ไปแล้ว ซึ่งถือเป็นมาตรการเฟสแรก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย โดยหลังจากนี้ 1-2 สัปดาห์จะเริ่มเข็นมาตรการเฟส  2 คือ มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เพื่อก่อให้เกิดการลงทุน เข้าครม. ต่อไป  โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องจบภายในเดือนธันวาคมนี้

    ภายใน 1-2 สัปดาห์จะออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยได้มีการหารือร่วมกันในเบื้องต้นแล้ว กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม  และธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อหาแนวทางเบื้องต้นในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหา และจะทำควบคู่ไปกับมาตรการที่ 3 คือ เรื่องของการส่งออก ซึ่งจะมีการเดินสายโรดโชว์เพื่อดึงความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

     ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอครม.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ  ประกอบด้วย การอัดฉีดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน โดยให้กองทุนหมู่บ้านกู้เงินจำนวน 60,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินมาจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แหล่งละ  30,000 ล้านบาท โดยให้เงินกองทุนหมู่บ้านเป็นคนกู้ และปล่อยกู้ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก โดยจะให้กรรมการหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะส่งผลให้เงินไหลเข้าสู่ประชาชนได้รวดเร็ว

   "จะช่วยใครในกองทุนหมู่บ้านใครที่มีความจำเป็นสูงสุดดูลักษณะนั้นเป็นหลัก เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนด้วย ให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป"นายอภิศักดิ์ กล่าว

    ทั้งนี้ ในช่วงปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรกนั้น  รัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับทั้ง 2 ธนาคารประมาณ2,000 กว่าล้านบาท หลังจาก 2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ย ต้นทุนบวก 1%

    สำหรับ โครงการที่ 2 คือใช้จ่ายผ่านตำบล วงเงิน  36,000 ล้านบาท  ให้ตำบลละ 5 ล้านบาท ผู้ดูแลคือกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลโครงการในแต่ละตำบล นำ 5 ล้านบาทไปสร้างที่เป็นสาธารณูประโภคเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นช่วยเพิ่มแหล่งน้ำ ให้ประชาชนทำมาหากินได้ดีขึ้น 

     ส่วนสุดท้ายคือการเร่งรัดใช้งบประมาณมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะโครงการต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้เร็วกว่า  2 เดือน  มีโครงการกระจัดกระจายทั่วประเทศ 16,000 ล้านบาท  อีก  24,000 ล้านบาท เป็นการเสนอโครงการของหน่วยงานราชการต่างๆที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นส่วนทำให้การหมุนเวียนการใช้จ่ายภาครัฐมีเพิ่มมากขึ้น

     "โครงการใหญ่ต้องใช้เวลา การทำโครงการเล็กเป็นการเติมช่องว่างให้ภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็กมีเงินหมุนเข้ามาเร็วขึ้น"นายอภิศักดิ์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สมคิดเผยมาตรการกระตุ้นศก.ส่วนแรก 1.3 แสนลบ.จะลงสู่ระบบภายในปีนี้

                นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ว่า ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนแรกภายใต้วงเงินราว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเร่งรัดการใช้จ่ายให้เม็ดเงินลงสู่ระบบภายในปีนี้ เพื่อให้เห็นผลในระยะสั้นโดยเร็วจากการหมุนของเม็ดเงินดังกล่าว ต่อจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้จะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SME ให้ ครม.พิจารณา

   "ไม่ใช่โครงการประชานิยมแน่ และไม่ได้ยืมใครมา อะไรที่ช่วยประชาชนได้ก็ต้องทำไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน"สมคิด กล่าว

    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ชุดมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย  มาตรการแรก เป็นการปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงินราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสิน ซึ่งจะไม่คิดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก อายุโครงการ 7 ปี ไม่จำกัดวงเงินกู้ต่อราย แต่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่คณะกรรมการกองทุนฯจะเป็นผู้พิจารณา โดยรัฐบาลจะอุดหนุนภาระดอกเบี้ยให้ในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3-7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวกด้วยร้อยละ 1.0 ต่อปี เพราะเชื่อว่าปีที่ 3 เป็นต้นไปประชาชนจะสามารถหาเงินมาชำระคืนดอกเบี้ยได้ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระปีละ 2 พันล้านบาท

    มาตรการที่ 2 เป็นการเร่งรัดการใช้จ่ายสู่ระดับตำบลกว่า 7 พันตำบล ๆ ละ 5 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินราว 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมถึงการจ้างานในชุมชน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัดในลักษณะดังต่อไปนี้ โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น, โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย และการปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น และโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

   และมาตรการที่ 3 เป็น การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของโครงการขนาดเล็กโครงการละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีเงินงบประมาณอยู่แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาทที่จะเร่งให้เกิดการใช้จ่ายภายในปีนี้ และอีก 2.4 หมื่นล้านบาทจะเปิดให้ส่วนราชการของบประมาณในโครงการขนาดเล็กเพิ่มเติมได้ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินในการดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่  31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

    นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กนี้ โดยเฉพาะรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ดำเนินการลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558

    "การดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง"นายอภิศักดิ์ ระบุ

     อินโฟเควสท์

 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

     ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระดับชุมชนและกระจายความเจริญเติบโตไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอรวม 3 มาตรการ โดยมีรายละเอียดของมาตรการดังต่อไปนี้

    1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน

    1.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : การให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนฯ) ที่ได้รับการจัดชั้นเป็นกองทุนระดับ A และ B จากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนฯ ละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุนฯ Refinance หนี้เดิม เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานให้กับกองทุนฯ กำหนดวงเงิน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน 30,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 30,000 ล้านบาท

   1.2 อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลา : กำหนดให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อกับกองทุนฯ ระยะเวลา 7 ปี นับจากวันลงนามในนิติกรรมสัญญา และดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558 โดยกำหนดให้กองทุนฯ ให้สินเชื่อกับสมาชิกกองทุนฯ โดยมีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย ดังนี้

   (1)  ปีที่ 1 - 2 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี

   (2) ปีที่ 3 - 7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวกด้วยร้อยละ 1.0 ต่อปี

   2. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล

   2.1 วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนผู้มีรายได้น้อยอ่อนแอลง โดยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบลจะช่วยให้เกิดการจ้างงานการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากการจัดสรรงบประมาณลงในระดับตำบล

   2.2 สาระสำคัญ : ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล โดยจัดสรรงบประมาณให้ในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท (จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท) และเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัดในลักษณะดังต่อไปนี้

   (1) โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น

   (2) โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย และการปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น

   (3) โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น

  3. มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ

  3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด

  3.2 สาระสำคัญ : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

  (1) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินในการดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่  31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

  (2) ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กนี้ โดยเฉพาะรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ดำเนินการลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558

  ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง

  สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3274 กระทรวงการคลัง

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!