WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

GOV-10

เอสเอ็มอี กู้ดอกต่ำ-ค้ำหนี้-ลดภาษี 'สมคิด'ปลื้มช่วยคนจน-ส่งซิก'หุ้นขึ้น' รับเศรษฐกิจฟื้น

      ครม.อนุมัติแพ็กเกจเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ–ค้ำหนี้–ลดภาษีช่วยเอสเอ็มอี ให้ออมสินปล่อยกู้ 100,000 ล้านบาท รัฐจ่อชดเชยดอกเบี้ยให้ 20,200 ล้านบาท ช่วยค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่ออีก 14,250 ล้านบาท พร้อมผุดกองทุนช่วยเอสเอ็มอี 6,000 ล้านบาท 'สมคิด'ชี้ช่องช้อนซื้อหุ้นรับเศรษฐกิจฟื้น ทยอยส่งเงินตำบล 5 ล้านเพิ่ม ครม.อนุมัติ เพิ่มอีก 1,638 ล้านบาท

   นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้หาทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบความลำบากช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย หาหนทางช่วยให้เข้มแข็งได้ในอนาคต รวมทั้งการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และเมื่อถามว่ามาตรการที่ลงไปจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้แค่ไหน นายสมคิดกล่าวว่า “ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะว่านายกรัฐมนตรี และคนทำงานมีความตั้งใจสูง จากที่ไม่ค่อยมีอะไรกลายเป็นสิ่งที่มีอะไรบ้างพอสมควรทีเดียว แต่ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น ถ้าบ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะอย่างนี้ผมเชื่อว่าหุ้นขึ้นไปแล้ว ซื้อไว้ก่อนนะ หุ้นขึ้นแล้วจะซื้อไม่ทัน ทุกคนมีสิทธิ์คาดหวัง ผมและคณะทำงานจะทำในสิ่งที่ควรจะทำและต้องทำ แต่ละคนก็อายุมากแล้วมาทำงานก็เพื่อจะทำบุญตอนแก่ การช่วยคนจนเป็นบุญมหาศาลที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน”

     ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวเพิ่มว่า มาตรการที่ ครม.อนุมัติแบ่งเป็น 3 เรื่อง เรื่องแรก การให้เอสเอ็มอีกู้เงินได้ถูกกว่าตลาด โดยคิดดอกเบี้ยให้กู้ไม่เกิน 4% ต่อปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี โดยธนาคารออมสินจะให้สถาบันการเงินในประเทศกู้แบบใครมาก่อนได้ก่อนเพื่อนำไปปล่อยต่อ และรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายที่ต้องชดเชยให้ธนาคารออมสินปีละ 2,800 ล้านบาท คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะปล่อยเงินเข้าระบบได้ทันที

     ส่วนมาตรการที่สอง ให้มีการค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ปรับเปลี่ยนจากเงื่อนไขเดิมการค้ำประกันในอัตราส่วน 70/30 โดยให้ธนาคารพาณิชย์รับส่วนที่สูญเสีย 30% ทั้งหมด เป็น บสย.จะช่วยรับภาระในส่วน 15% แรกก่อน อีก 15% ที่เหลือจะให้ธนาคารพาณิชย์รับภาระร่วมกับ บสย.ทำให้การค้ำประกันครั้งนี้จะเป็นภาระให้ธนาคารพาณิชย์ลดลง และเชื่อว่าต่อไปนี้จะเร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น จะห่วงเรื่องความเสี่ยงน้อยลง

     ทั้งนี้ จะมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเพิ่มเติมด้วย เช่น ปีแรกค่าธรรมเนียมการค้ำประกันภาครัฐจะออกให้ทั้งหมดหรือ 0% ปีที่สองขึ้นมาอยู่ที่ 0.5% ปีที่สามคิดที่ 1.25% ปีที่ 4 คิดที่ 1.50% โดยค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องใช้ในส่วนการค้ำประกันตลอดอายุโครงการ 14,250 ล้านบาท มาตรการที่สาม ตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้ธนาคารออมสิน กรุงไทย และเอสเอ็มอีแบงก์ร่วมธนาคารละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้าน บาท จะป้อนเงินไปช่วยเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่อง และกรณีทุนไม่เพียงพออาจจะให้กองทุนเข้าไปถือหุ้นบางส่วน

    นอกจากนั้น ยังมีมาตรการด้านภาษี ปัจจุบันเอสเอ็มอีขนาดเล็กในปัจจุบันที่มีกำไร 0-300,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีกำไร 300,001 ขึ้นไป เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% และ 20% ซึ่งได้แก้ไขใหม่เป็นในระยะเวลา 3 ปี หรือ 2 รอบบัญชี เอสเอ็มอีจะได้รับลดหย่อนภาษีเหลือ 10% ส่วนเอสเอ็มอี ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ในสาขาที่คิดว่าเป็นประโยชน์แต่มีต้นทุนสูงมาก เช่น สาขาเทคโนโลยี สาขานวัตกรรมจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5 ปี

     พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในครั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 20,020 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องชดเชยให้ธนาคารออมสินอยู่ที่ 2,860 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้น ยังได้ชี้แจงถึงตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ซึ่งจะจัดสรรงบประมาณให้ตำบลละ 5 ล้านบาทด้วยว่า เป็นการนับรวมกับวงเงินที่ได้รับการจัดสรรตามมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนจนฯของกระทรวงมหาดไทย โดยตำบลที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในโครงการอื่นเต็ม 5 ล้านบาทแล้วจะไม่ได้รับการจัดสรรตามมาตรการนี้ ส่วนที่รับจัดสรรยังไม่เต็ม 5 ล้านบาท จะได้รับการจัดสรรตามกรอบวงเงินที่เหลือ

   ขณะที่นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ครม.วานนี้ (8 ก.ย.) ได้อนุมัติเพิ่มวงเงินตามมาตรการดังกล่าว เพิ่มขึ้นอีก 1,638 ล้านบาท จากเดิมที่ได้อนุมัติไปแล้ว 36,275 ล้านบาท ทำให้จะมีงบประมาณจากโครงการนี้ลงไปสู่ตำบลทั้งสิ้น 37,913 ล้านบาท โดยล่าสุดสำนักงบประมาณพื้นที่รายงานว่า มีโครงการที่เสนอให้พิจารณาแล้ว 5,100 โครงการ และยังมีส่วนงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมหรือโครงการลงทุนขนาดเล็กมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท รวม 40,000 ล้านบาท เมื่อรวม 2 โครงการคือตำบลละ 5 ล้านบาทกับโครงการซ่อมแซมขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท แล้วจะมีเงินลงทุนที่เข้าสู่ระบบภายใน ธ.ค.2558 นี้ 77,000 ล้านบาท.

       ที่มา : www.thairath.co.th

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

 

ออมสิน เผยหลังหารือนายกฯ พร้อมลุยปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน มั่นใจใส่เงินเข้าระบบ 3 หมื่นลบ. ภายในสิ้นปีนี้

   นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยภายหลังหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และนายอภิศักดิ์ จันติวรวงศ์ รมว.คลัง เกี่ยวกับการเร่งรัดดำเนินการปล่อยสินเชื่อในโครงการกองทุนหมู่บ้าน ว่า ธนาคารออมสินได้เตรียมความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้าน โดยธนาคารออมสินได้รับวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถปล่อยได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

    สำหรับ โครงการดังกล่าว จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย โดยปลอดดอกเบี้ย 0% นาน 2 ปี โดยธนาคารจะคัดเลือกหมู่บ้านที่จัดกลุ่มอยู่ในกลุ่มเอและบี ที่มีอยู่ทั้งหมด 59,000 หมู่บ้าน ส่วนอีก 18,000 หมู่บ้านนั้นจัดอยู่ในกลุ่ม ซีและดี

                "ธนาคารไม่กังวลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล เพราะกลุ่มเอและบี เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง และกองทุนหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 45-46 ซึ่งมีความเข้มแข็งมาก ประกอบกับการคัดเลือกประชาชนนั้น กองทุนหมู่บ้านเข้าถึงผู้กู้ได้ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่"นายชาติชาย กล่าว

      ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SME นั้น ที่จะมีเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวันพรุ่งนี้ เพื่อต้องการแก้ไขภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ขอให้ติดตามในวันพรุ่งนี้ว่าจะออกมาในทิศทางใด

ธ.ก.ส. พร้อมลุยปล่อยสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน มั่นใจดำเนินการก้อนแรก 20,500 ล้านบาท แล้วเสร็จ ตุลาคมนี้

      นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการธนาคาร โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน ว่า ในวันนี้รมว.คลัง ได้เรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเห็นชอบให้ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้าน ตามมติครม. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ธ.ก.ส.ดำเนินการปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าว

    ทั้งนี้ รมว.คลังได้กำชับให้ธ.ก.ส. เร่งดำเนินการ เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อให้หมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในสัปดาห์หน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาให้กำลังใจและเป็นประธานในการเปิดงาน โดยโครงการดังกล่าวนั้น ธ.ก.ส.จะเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

      สำหรับ ปัจจุบันธ.ส.ก.ดูแลกองทุนหมู่บ้านทุกกลุ่มรวม 30,000 ดว่ากองทุน จากทั้งหมด 79,000 กองทุน โดยกองทุนที่ได้รับการจัดชั้นอยู่ในกลุ่ม เอและบี รวม 20,500 กองทุนนั้น ธ.ก.ส.จะดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนกองทุนที่เหลือ อีก 18,000 กองทุน ที่ยังไม่ได้รับการเพิ่มทุน ธนาคารจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จะเข้าไปช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการ และให้คำแนะนำต่างๆ ก่อนที่จะมีการขอเสนอเพิ่มทุนกับคณะกรรมการจะงหวัดต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!