WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Payut1นายกฯ นั่งประธานประชุมซุปเปอร์บอร์ด เร่งถกปัญหาประมง -พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ และแผนพัฒนาเขตศก.พิเศษ

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงต้นของการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ครั้งที่ 1/2559 ว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2559 ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ  ซึ่งให้มีการแยกแยะงานที่สามารถดำเนินการได้ก่อนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้บ้าง  ซึ่งส่วนใหญ่มีอีกหลายปัญหา เช่นการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่ยังมีการวิพากษ์ วิจารณ์ เรื่องการให้ใบเหลือง ใบแดง ซึ่งเป็นแต่การพูดเพียงอย่างเดียว แต่ในทางปฏิบัติจะต้องหาแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้ได้  เช่นบางประเด็นในการสร้างความเข้าใจ คนกลางอย่างรัฐวิสาหกิจจะสามารถทำความเข้าใจได้ดีกว่ารัฐบาล

      ทั้งนี้วาระสำคัญการประชุมในวันนี้  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เตรียมเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดีตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมทั้งการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท

     ส่วนช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กนพ. ครั้งที่ 1/2559 ที่ตึกสันติไมตรี โดยคาดว่า จะมีการรายงานความคืบหน้า โครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กนพ.ระยะแรก 6 จังหวัด 7 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา (ด่านสะเดา และปาดังเบซา) และหนองคาย รวมถึงการดำเนินโครงการระยะที่สอง 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส ทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม และกรมศุลกากร ในการจัดตั้งด่านชายแดน

สคร.เตรียมชงกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเข้าซุปเปอร์บอร์ด 18 ม.ค.นี้ พร้อมตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

      นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มกราคม นี้ สคร. จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ตามมาตรฐานสากล มาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท

     ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ และคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้นำข้อสังเกตและความเห็นต่างๆมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความเหมาะสม และยืนยันว่า กฎหมายนี้จะเป็นการปฏิรูปไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและไม่มีผลกระทบต่อสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจและสภาพการจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด

     "การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการจัดทำกฎหมายนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันมีผลเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในระยะยาว"นายเอกนิติ กล่าว

    นายณัฐวุฒ ไพศาลวัฒนา รองโฆษก สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจตามร่างกฎหมายนี้จะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยให้มีความชัดเจน โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ การประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนมีการสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลเป็นการป้องกัน การแทรกแซงจากการเมืองที่ไม่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่จะนำรัฐวิสาหกิจไปใช้ในการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!