WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1สปรง อพ

ถึงเวลาทำโครงการ 'ไทยแลนด์ สปริง อัพ' ปลุกใจเอกชนฮุบธุรกิจต่างชาติ

        'ประยุทธ์' ชี้ขับเคลื่อนประเทศต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รื้อจัดทำงบประมาณใหม่ สั่งเอกชนอย่าจ่ายเงินใต้โต๊ะ ด้าน 'สมคิด” เตรียมชง ครม. ไฟเขียวเงินให้เปล่าหมู่บ้านละ 500,000 บาท สร้างความเข้มแข็งภายใน พร้อมปลุกเอกชนเทกโอเวอร์กิจการต่างประเทศ หาทางขยายตลาดสินค้าไทย

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2559'ในงานสัมมนา “F.T.I. OUTLOOK 2016 : ทิศทางอุตสาหกรรมไทย ในปี 2559” ซึ่งมีนักธุรกิจ ภาคเอกชน เข้าร่วมรับฟังกว่า 1,200 คน ว่า การขับเคลื่อนประเทศ สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ แก้กฎหมายให้ทันสมัยและเกิดการบูรณาการ ไม่ใช่ทุกคนอยากจะให้ใช้แต่มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 สิ่งที่ทำวันนี้คือ ความพยายามให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด โดยรัฐบาลต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ส่วนการพัฒนาประเทศต้องเดินตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปี ซึ่งในทุก 5 ปีจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)


       ทั้งนี้ ตนจะแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยปรับปรุง พ.ร.บ.การจัดทำงบประมาณ โดยต่อไปการจัดทำงบต้องให้รัฐบาลประชุมร่วมกันก่อนเพื่อจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องดำเนินการ ต้องหารือถึงนโยบายที่ต้องการขับเคลื่อน นโยบายเร่งด่วน และนโยบายปฏิรูป ที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องทำให้สอดคล้อง ไม่ใช่แบบปัจจุบันที่แต่ละกระทรวงรวบรวมมา พอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯก็ตัดงบไป 5-10% จากนั้นก็บริหารกันไป ต่อไปแนวทางการพัฒนาประเทศจะเกิดความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าด้านการเมืองอย่างเดียว ซึ่งเป็นเช่นนี้ไม่ได้ “มีคนว่าผมสืบทอดอำนาจให้ใคร ผมบอกเลยให้ประชาชน ให้ภาคเอกชน เรื่องเงินใต้โต๊ะไม่ต้องไปเสียให้ใคร หากวันนี้มีใครเรียกเงินใต้โต๊ะ มาบอกผม ผมเห็นแต่บอกกันว่ามีๆ แต่ไม่มาบอก ให้มาบอกผม จะไม่ปล่อยให้มีทุจริตเด็ดขาด”

      ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทกษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการบูรณาการ การขับเคลื่อนประเทศไทยระหว่างภาครัฐและเอกชนในปี 2559 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 ม.ค.นี้ จะเสนอให้พิจารณาโครงการพัฒนาความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยมีเงินให้หมู่บ้านทั่วประเทศใช้ในโครงการที่ชุมชนต้องการ ทั้งยุ้งฉาง โรงบ่ม โรงสีชุมชน เครื่องมือต่างๆ เพื่อทำสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ถือเป็นครั้งแรกที่จัดทำโครงการเกษตรไปถึงฐานรากอย่างแท้จริง โดยจะให้เงินให้เปล่าหมู่บ้านและชุมชนเมืองไม่เกินแห่งละ 500,000 บาท ขณะนี้มีมากกว่า 10,000 หมู่บ้านที่นำเสนอมาแล้ว คิดเป็นเงินกว่า 35,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จะให้ภาคเอกชนต่อยอดในโครงการเหล่านี้ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อรวมกับโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท จะยิ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภายในประเทศ


      สำหรับ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ ยอมรับว่าไร้กำลังขับเคลื่อน และไร้ความแน่นอน เวลาที่เราเผชิญเหตุการณ์แบบนี้ ต้องไม่กลัว ต้องเผชิญด้วยความรอบคอบ มีสติ และคิดทางบวกจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่อย่างไร ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส แม้ในปีนี้ สศช. ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.5% ถือว่าโตดีพอสมควรในภาวะแบบนี้ แต่ในฐานะรัฐบาลต้องไม่ประมาท และดูแลทุกอย่างเพื่อประคองเศรษฐกิจไตรมาสแรกและ 2 ให้ดีขึ้น และจะทำให้ 1 ปี 6 เดือนจากนี้ดีที่สุด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ เครื่องยนต์ของรัฐต้องขับเคลื่อนเต็มที่

       “เวลาทำธุรกิจขาลงจะยึดส่วนแบ่งการตลาดได้ดีที่สุดถ้าเราเก่ง ฉะนั้นช่วงนี้เอกชนไทยควรบุกไปลงทุนในซีแอลเอ็มวี คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เวลาเจาะตลาดให้มองซีแอลเอ็มวีเป็นเสมือนประเทศไทย เมื่อคิดเชิงบวก คุณจะแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้ เพราะจะมีบริษัทใดในซีแอลเอ็มวีที่แข็งแรงเท่าบริษัทไทย ขนาดสิงคโปร์ยังบอกว่าจะหาบริษัทที่เทียบบริษัทใหญ่ของไทยไม่ได้ และจะเห็นได้ว่าการจัดเรตติ้งบริษัทไทยอยู่ในท็อปของอาเซียน”

      อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จำเป็นต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่ม ต้องนำงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมมาใช้ เพราะจะนั่งภูมิใจว่าเป็นเจ้าส่งออก ทั้งๆที่มีกำไรจากส่วนต่างเพียง 10% ไม่ได้ ขณะนี้ถึงเวลาทำโครงการ “ไทยแลนด์ สปริง อัพ” โดยผู้ประกอบการทุกคนต้องลุกขึ้นมายกตัวเองให้มีผลผลิตสูงขึ้น มีต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ใช้เครื่องจักรทันสมัย ถึงเวลากระตุ้นเอกชนตื่นตัวแล้ว อย่าคิดเป็นค่าใช้จ่าย ให้ถือเป็นเงินลงทุน หากเป็นบริษัทไม่แข็งแรงควรรวมกันหลายบริษัทและทำวิจัยขึ้นมา นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่จำนวนมาก เพราะการปรับโครงสร้างการผลิต ไม่ใช่แค่การผลิต ต้องมีผู้เล่นและมีผู้ประกอบการใหม่

      “หมดสมัยบริษัทแข็งแรงต้องส่งออก แต่ต้องซื้อกิจการ (เทกโอเวอร์) เชนสรรพสินค้าในเวียดนาม อยากให้ลงขันกันเทกโอเวอร์เอาต์เลต ที่ขายสินค้าในประเทศใหญ่ๆ เช่น ที่มีการเปิดเชนขายอาหารไทยไปยุโรป ผ่านเชนของเกาหลี เขาคุมทางออกหมด เราต้องไปหาทางเปิดทางสินค้าเราเข้าไป ไม่เช่นนั้นเขาเอาสินค้าเราไปหลบไว้ข้างหลัง มีแต่สินค้าของเขา ทำไมเราไม่ทะลุทะลวงร้านเหล่านี้”.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!