WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Prayutไทยลุ้นดีขึ้นค้ามนุษย์เทียร์ 3 มาเทียร์ 2'บิ๊กตู่' ยันทำเต็มที่เพื่อมวลมนุษยชาติ
      บ้านเมือง : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเผยรายงานการค้ามนุษย์หรือทิปรีพอร์ต ประจำปี 2559 โดยจะปรับยกระดับไทย จากเทียร์ 3 ขึ้นมาอยู่ในระดับเทียร์ 2 ว่า ต้องรอเขา เพราะเป็นข่าวจากทางสื่อ อย่าให้รัฐบาลเป็นคนพูดก่อน ต้องให้เกียรติเขา อย่าไปเริ่มตีปีกนู่นนี่ ตนจะต้องฟังคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ และคณะทำงานต่างๆ จะเตรียมตัวแถลงการณ์หลังจากสหรัฐเปิดเผยรายงาน เราต้องให้เกียรติเขา
      "ผมบอกแล้วไงว่าจะดีหรือไม่ดี ผมก็ทำอยู่แล้ว ผมไม่ได้ทำเพื่อประเทศไทย ไม่ได้ทำเพื่อจะหลุดหรือไม่หลุดไปอย่างเดียว แต่ผมทำตามหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ของเราคือจะต้องดูแลมนุษยชาติด้วย คือคนที่ถูกอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์ ก็คือคน รู้จักคนมั้ยล่ะ แล้วสงสารเขามั้ยล่ะ ต้องไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะสถานะอะไรก็ตาม เราก็ต้องมุ่งมั่นทำต่อไป ไม่ว่าจะไอยูยู ค้ามนุษย์ ทำทุกอย่าง วันนี้อะไรยังไม่เสร็จก็ทำต่อ เท่าที่ผมทำได้อยู่ ถ้ามันทำได้ไม่เสร็จ รัฐบาลหน้าก็มาทำต่อ ทำให้มันดีขึ้นละกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
      ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลแก้ปัญหาทุกเรื่องอย่างเต็มที่ ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย ไอยูยูและปัญหาการบินพลเรือน แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากข้าราชการทุกฝ่าย ต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้ประเทศเดินหน้า ส่วนไทยถูกปรับระดับสถานการณ์ค้ามนุษย์จากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 จะส่งผลดีต่อการพิจารณาปรับระดับการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ไอยูยู ของไทยด้วยหรือไม่ ขอให้รอผลอย่างเป็นทางการก่อน เพราะยังไม่ประกาศ ดังนั้นจึงไม่ควรคิดไปล่วงหน้า แต่ทุกหน่วยงานก็แก้ปัญหาอย่างเต็มที่
ภาคเอกชน มองผลการเลื่อนสถานะสู่ Tier2 นำไปสู่การปลดใบเหลือง IUU แก้ไขปัญหาสินค้าประมงไทย
     นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเปิดเผยว่า การที่ไทยได้รับการเพิ่มสถานะจากระดับ Tier3 เป็น Tier2 (Watch list) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report 2016) ถือเป็นความหวังที่ไทยจะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงต่อสหภาพยุโรป (EU) ในการประเมินสถานะของไทยในประเด็น IUU Fishing (การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม) ที่จะมีการประกาศผลการประเมินในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีความตั้งใจอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของ EU
     "การที่เราได้รับการเพิ่มสถานะขึ้นจาก Tier 3 มาสู่ Tier2 (Watch list) อาจจะไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าการค้าสินค้าประมงไทยมากนัก เพราะถึงเราจะอยู่ Tier3 เราก็ยังขายสินค้าประมงได้ ยังส่งออกได้ แต่เราคงได้ประโยชน์ในเรื่องภาพลักษณ์ทางสังคม มาตรการ Tier เป็นมาตรการทางสังคม ไม่ได้แปลว่าเราจะได้การลดหย่อนภาษีการค้าแต่เป็นการฐานะทางด้านอื่นๆทางสังคมให้ไทย แต่ก็ถือว่าดีกว่าที่จะอยู่ Tier3 ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเป็น Tier3 นานๆ ผู้ซื้อในต่างประเทศก็จะใช้เป็นข้ออ้างไม่ซื้อสินค้าจากไทย แต่เมื่อได้เพิ่มสถานะเป็น Tier2 (Watch list) แสดงว่ามีการพัฒนา มีความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง...สหรัฐฯมองเห็นความพยายามตรงนี้"นายพรศิลป์ กล่าว
     ในส่วนของมูลค่าการค้านั้น มองว่าอาจจะไม่ได้ดีกว่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าภาคการผลิตกุ้งจะฟื้นตัวจากการแก้ปัญหา โรคระบาด EMS ในกุ้งได้อย่างถาวรทำให้เราสามารถส่งออกได้ดีขึ้น แต่ทว่าราคากุ้งรวมทั้งราคาทูน่าอาจจะยังไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่เนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ทั้งสหรัฐฯ ยุโรปเพิ่งมีปัญหา Brexit คาดว่าราคาสินค้าประมงของไทยในตลาดโลกก็จะยังไม่ดีมาก และคาดการณ์ราคายาก
นายพรศิลป์ กล่าวว่า แต่ถ้าเป็นไปได้ไทยต้องเอาเรื่องที่ได้รับการเพิ่มสถานะไปเจรจา IUU Fishing กับ EU ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าด้วย เพราะ EU ก็มีประเด็นการค้ามนุษย์ใน IUU ด้วย
      "ถ้าเราเอาเรื่อง Tier ไปอธิบายเพิ่ม เอาไปอ้างอิงให้ EU เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของไทย น่าจะทำให้เรามีความหวังมากขึ้นที่จะได้รับการปลดใบเหลืองจากปัญหา IUU Fishing..ว่าปัญหานี้เราดีขึ้น ส่วนจะได้รับการปลดใบเหลือง IUU หรือไม่ EU ต้องพิจารณา"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
       ทั้งนี้ EU จะดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและต้องบังคับให้ดี เพราะกรณีของสหรัฐฯถึงแม้จะเลื่อนสถานะให้ไทยแต่ก็ยังมี Comment ว่า การบังคับใช้กฎหมายของไทยยังไม่ 100% แต่ก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว มีความพยายามก็เพิ่มสถานะให้
       เมื่อถามถึงเปรียบเทียบความยากง่ายระหว่างการแก้ปัญหา Tier กับ IUU นายพรศิลป์ กล่าวว่า ยากทั้งคู่ แต่ IUU กินวงกว้างกว่า กินไปถึงห่วงโซ่การผลิต การจับปลา พ่วงปัญหาแรงงาน ขณะที่ปัญหา Tier ประเมินจากเรื่องแรงงานอย่างเดียวทำให้ดูเหมือนการแก้ปัญหา Tier จะง่ายกว่า แต่เวลาทำจริงๆ ก็มีรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งถ้าไทยหลุดพ้นปัญหา IUU เชื่อแน่ว่าภาพลักษณ์ไทยเราจะดีขึ้นอีกมาก
       "แต่ถ้าเราจะหลุดใบเหลือง IUU ได้ ต้องดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.มีมาตรการจับปลาที่ยั่งยืน มีกฎหมายควบคุมดูแลหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมาย Perfect หรือไม่ มีการลักลอบจับปลาหรือไม่ มีการติดตามผลการดำเนินงานหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไทยต้องทำงานใกล้ชิดกับทางEU
เรื่องที่ 2 ที่เกิดขึ้นพร้อมกันแต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงคือ ภาคเอกชนไทยในนาม Thai Sustainable Fisheries Roundtable (TSFR) ซึ่งประกอบด้วย 8 สมาคม คือ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รวมตัวกันไปทำการเจรจาระยะยาวกับทางเอกชนของ EU ผ่าน NGO ผู้ซื้อในต่างประเทศวางมาตรฐานในการจับปลาที่ยั่งยืน ซึ่งเราสามารถนำไปอ้างอิงกับ EU ได้เช่นกันว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้แค่ระยะสั้นๆ แต่ระยะยาวมีการวางแผน มีการทำที่ทะเลฝั่งอันดามัน และตอนนี้กำลังทำฝั่งอ่าวไทย ในอีก 1-2 ปีก็จะออกมาเป็นมาตรฐานที่แท้จริงและเอกชน EU ก็เห็นด้วย และรัฐบาลไทยก็ให้เงินสนับสนุนผ่านหน่วยงานด้านเกษตร อันนี้เป็นอีกด้านหนึ่งที่เราใช้เจรจากับ EU ในประเด็น IUU Fishing ได้ด้วย
     "ผมว่า เรามีโอกาสหลุดจากปัญหา IUU นะ หรือไม่ก็ดีขึ้น ถ้าเอาทั้งการแก้ปัญหา Tier กับที่เราทำระยะยาวกับเอกชน EU ไปอ้างอิงให้เขาเห็นความตั้งใจแก้ปัญหาของไทย"นายพรศิลป์ กล่าว
อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!