WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

9

นายกฯตู่ เตรียมถวายพระนาม ในหลวงร.๙ มหาราช แห่งชาติไทย

        พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลเตรียมทูลเกล้าฯ ถวายพระนาม 'มหาราช' เพื่อสดุดีในพระราชอัจฉริยภาพและพระเกียรติคุณที่ทรงมีต่อประเทศแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ของประเทศไทย อย่างเป็นทางการ หลังคณะรัฐบาลที่ผ่านๆ มาเคยนำเรื่องขึ้นทูลเกล้า แต่พระองค์ยังไม่ทรงเห็นชอบที่จะรับพระนามนี้ โดยทรงตรัสว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนและรัฐบาล

   นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเรื่องการใช้คำว่า 'มหาราช'เรื่องนี้เป็นกฎหมาย และเป็นการดำเนินการของรัฐบาล ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนๆ เคยเสนอพระองค์ท่านไปแล้ว แต่พระองค์ท่านทรงยังไม่เห็นชอบ ยังไม่ลงมาในเรื่องนี้ พระองค์ท่านรับสั่งว่า 'เป็นเรื่องของประชาชน และรัฐบาลที่จะทำต่อไป' ตอนนี้ยังใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่อยากใช้ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน หลายคนเข้าใจว่าพระองค์ทรงรับแล้ว ทั้งนี้ เรื่องเป็นมหาราช หรือไม่เป็นมหาราช เป็นเรื่องของรัฐบาลและประชาชนจะต้องทำถวายพระองค์ท่าน ซึ่งรัฐบาลอยู่ในขั้นตอนตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม แม้มีหลายหน่วยงานมีความประสงค์ต้องการสร้างและขออนุมัติ แต่การจะจัดสร้างมีขั้นตอนอยู่แล้ว ต้องรอให้เกิดความชัดเจน ทุกอย่างต้องขอพระบรมราชานุญาต เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำถวายอยู่แล้ว

      ทั้งนี้ พระสมัญญานาม'มหาราช' ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีการเริ่มขนานพระนามให้พระองค์ตั้งแต่สมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องมาจากคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี และถวายชัยมงคล เมื่องานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ ณ ทำเนียบรัฐบาล ของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระองค์ทรงรับพระนามดังกล่าวแล้ว และมีการขนานพระนามพระองค์ว่า 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช' หรือ 'สมเด็จพระภัทรมหาราช" มาจนถึงปัจจุบัน

    คำว่า 'มหาราช' มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หมายถึง คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินหรืออีกความหมายหนึ่งคือ ธงประจำพระองค์ พระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า 'ธงมหาราช' การถวายพระราชสมัญญา มหาราช แด่ พระมหากษัตริย์ของไทยในอดีตที่ผ่านมานั้น ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นมติของมหาชนในสมัยต่อมาที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ถวายพระสมัญญาต่อท้ายพระนามว่ามหาราช หรือพระราชสมัญญาอื่นที่แสดงถึงพระเกียรติคุณเฉพาะพระองค์ และเป็นที่ยอมรับในการขานพระนามสืบมา*

    สำหรับ การเริ่มการถวายพระราชสมัญญา 'มหาราช'ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕ เนื่องจากเป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมและพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นๆ จึงได้มีการยกย่องพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงมีพระเกียรติคุณเด่นกว่าพระองค์อื่นขึ้นเป็น มหาราช (ที่มา: สำนักข่าวเจ้าพระยานิวส์)

10 กษัตริย์มหาราชแห่งชาติไทย

"มหาราช" เป็นคำที่ประชาชนถวายแด่ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรม และนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างใหญ่หลวง* (ที่มา: เว็บไซต์บ้านจอมยุทธ์)

1. พระเจ้าพรหมมหาราช หรือ พระเจ้าพรหมกุมาร พ.ศ.1480 - 1541

2. พ่อขุนเม็งรายมหาราช หรือ พญามังรายมหาราช ครองราชย์ พ.ศ. 1804 — 1854

3. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ครองราชย์ พ.ศ. 1822 - 1841

4. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ครองราชย์ พ.ศ. 2133 - 2148

5. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครองราชย์  พ.ศ. 2199 - 2231

6. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครองราชย์ พ.ศ. 2310 - 2325

7. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ครองราชย์ พ.ศ. 2325 - 2352

8. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ ๕ ครองราชย์ พ.ศ. 2411 - 2453

9. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) รัชกาลที่ ๖ ครองราชย์ พ.ศ.2453 - 2468

10. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช (พระภัทรมหาราช) ครองราชย์ พ.ศ. 2489 - 2559

ทั้งนี้ บางตำรา ไม่ได้รวมชื่อ'พระเจ้าพรหมมหาราช'และ 'พ่อขุนเม็งรายมหาราช' ไว้ในรายพระนาม 10 กษัตริย์ 'มหาราช" ของไทย เนื่องจากทั้ง 2 พระองค์เป็นเจ้าครองนครอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

พระอัจฉริยภาพ 'มหาราชไทย'

- พ่อขุนรามคำแหงมหาราช : ประดิษฐ์อักษรไทย ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติไทย

- สมเด็จพระนเรศวรมหาราช : พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย

- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช : พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถในการปกครองประเทศ, ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองทางด้านการค้ากับชาวต่างชาติ, ยุคทองของวรรณคดีไทย

- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : กอบกู้เอกราช หลังเสียกรุงครั้งที่ ๒, สร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่, รวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน, ขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง

- พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) : ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทย, รวบรวมกฎหมายตราสามดวง

- สมเด็จพระปิยะมหาราช (รัชกาลที่ ๕) : พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา เป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ เพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สร้างความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ, เลิกทาส, โปรดให้มีการรถไฟ การไปรษณีย์ การไฟฟ้าและการประปาขึ้นเป็นครั้งแรก

- สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ ๖): พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาในด้านอักษรศาสตร์, ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1, ตั้งกองลูกเสือไทย, ประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา, สร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จัดตั้งธนาคาร, ประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล, ออกแบบธงไตรรงค์ขึ้นใช้

- สมเด็จพระภัทรมหาราช (รัชกาลที่ ๙) : พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปรียบเสมือน 'พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย' ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา, ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร, ทรงริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ, ทรงค้นคว้าวิจัย การทำฝนเทียม ด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข ฯลฯ ทรงดูแลทุกข์สุขประชาชนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดในโลก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก (๗๐ ปี) และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีผู้คนแสดงความเคารพรักอยู่ทั่วทุกมุมโลก แม้จะไม่ใช่ชนเชื้อชาติเดียวกันก็ตาม

   อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!