WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสมคด จาตศรพทกษ copyสมคิด ตั้งเป้าดันเมกะโปรเจ็คต์ 2.4 ล้านลบ.เริ่มต้น-เซ็นสัญญาได้ทั้งหมดปี 61 ภายในรัฐบาลชุดนี้

     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เมกะโปรเจ็คต์) ของรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการในระยะเวลา 5-6 ปีข้างหน้า มูลค่าโครงการ 2.4 ล้านล้านบาทว่า ตั้งเป้าจะให้มีการเริ่มลงนามเซ็นสัญญาภายในปี 61 ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถไฟ รถไฟทางคู่ รวมถึงการติดตั้งอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ

      "ตั้งเป้าจะให้มีการเริ่มลงนามเซ็นสัญญาผูกพันให้แล้วเสร็จก่อนรัฐบาลจะไป ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการให้โครงการต่างๆ หยุดชะงัก" นายสมคิด กล่าว

    สำหรับ รถไฟฟ้า 3 เส้นทางต่อไป ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ,สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปลายปีนี้

       รวมถึงจะเดินหน้าในส่วนโครงการรถไฟทางคู่ใน 5 เส้นทาง มูลค่าโครงการ 8 หมื่นล้านบาท ต้องหาผู้รับเหมาให้ครบทุกเส้นทางภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกทม.-ระยอง จะผ่านการพิจารณาของ ครม.ภายในปีนี้แน่นอน

       นายสมคิด กล่าวถึงโครงการรถไฟไทย-จีนว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ แล้ว ก็จะมีการเร่งรัดดำเนินการโดยเร็วที่สุด คาดว่าทุกอย่างจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.60 นี้เป็นต้นไป

       "ไม่อยากให้มองเพียงว่าผลตอบแทน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่อยากให้มองว่าเป็นเส้นทางภูมิศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะสร้างรถไฟให้สุดถึงหนองคาย และเชื่อมต่อไปยังมาเลเซียในอนาคต พร้อมยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ ยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก" นายสมคิด กล่าว

     นายสมคิด กล่าวว่า จากนโยบายที่รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟขนส่งมวลชนในหลายเส้นทาง หากนับเฉพาะรถไฟฟ้า 2 เส้น คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สีเหลือง ที่มีการลงนามสัญญาในวันนี้มูลค่ากว่า 1 แสนบาท จะมีส่วนช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทย และช่วยต่อยอดไปยังภาคธุรกิจอื่น เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และมั่นใจว่า จะส่งผลดีให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น แต่หากนักลงทุนไทยไม่เริ่มลงทุนอาจจะตกขบวนได้ พร้อมทั้งเชื่อว่า ในเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศแล้ว

      "ผมเรียนได้เลยว่า ในขณะนี้ถนนทุกสายมาที่ประเทศไทย ถ้าเราร่วมกันอย่างนี้ ทุกอย่างที่ประกาศไว้แล้วเกิดขึ้นจริงทำได้ภายในปีนี้และปีหน้า รับรองเลยว่า ไม่มีอะไรหยุดยั้งประเทศไทยได้อีกแล้ว พวกเราจะก้าวผ่านจากยุคหนึ่งไปสู้อีกยุคหนึ่ง ผมไม่เห็นอะไรจะหยุดยั้งประเทศไทย นอกจากคนไทยด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นคนไทยอย่ามาสะดุดขากันเอง"นายสมคิด กล่าว

คมนาคมแจงคำสั่งคสช.โครงการรถไฟไทยจีนแก้ปัญหาใบอนุญาตวิศวกรจีนช่วยเร่งงานเดินหน้า สัญญาอยู่ภายใต้กม.ไทย-เตรียมเสนอ สนช.

          นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม และในฐานะรองโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวชี้แจงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2560 กรณีให้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียบูรณภาพแห่งอธิปไตยของชาติ ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 52 โดยนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อวินิจฉัยและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยตั้งข้อสังเกตดที่ระบคำสั่ง คสช.ที่30/2560 กำหนดให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลวิศวกรและสถาปนิกของจีนได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้การบังคับของ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 ซึ่งหากบุคคลต่างๆ ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโครงการฯ หรือกับสภาพแวดล้อมและคนไทย จะไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายไทยได้นั้น ว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมามิได้ยกเว้น พระราชบัญญัติวิศวกรพ.ศ. 2542 และ พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ทั้งฉบับ โดยยกเว้นเพียงมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาต จึงมิได้เกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในภายหลัง

        และในกรณีที่เกิดความเสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญาให้รับผิดชอบทางแพ่งได้ ซึ่งได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว รวมทั้ง National Development and Reform Commission ในนามรัฐบาลจีน ยังคงมีความรับผิดชอบในฐานะที่มอบหมายรัฐวิสาหกิจจีนมาเป็นคู่สัญญากับไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 (MOU)

       ส่วนประเด็นการยกเว้นการนำกฎหมายของไทยมาใช้ปฏิบัติบังคับกับโครงการฯ อีกกว่า 7 ฉบับ จะทำให้โครงการฯ และบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิศวกรและสถาปนิกของจีน มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของคนไทยโดยชัดแจ้งนั้น รองโฆษกกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การยกเว้นกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรของจีนซึ่งเป็นงานในส่วนของการออกแบบ ควบคุมงานและระบบรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อนโดยวิศวกรจีนและสถาปนิกจีนหากเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นของไทยทุกประการ และหากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นฐานด้านงานโยธาที่มิได้เกี่ยวข้องกับงานการออกแบบ ควบคุมงานและระบบรถไฟความเร็วสูง วิศวกรและสถาปนิกจีนยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งมิได้ยกเว้นในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว

      สำหรับ คำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล (ม.75 ) ขัดต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ (ม.62, 76) และเป็นการเลือกปฏิบัติ (ม.7) ที่กำหนดให้มีการใช้อำนาจการกำหนดราคากลางได้ตามอำเภอใจโดยการใช้อำนาจการยกเว้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2554 ก็ได้ชี้แจงว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าวยังคงต้องให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการใช้ระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ที่ต้องคำนึงประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการดำเนินกิจการและการใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งยังคงเป็นไปตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้

       และหากโครงการดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติและลงนามในสัญญากันระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นสัญญาในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน หากเข้าข่ายมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะรัฐสภาก่อนการลงนามในสัญญาต่อไป ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่ง สนช. พิจารณาตามรัฐธรรมนูญต่อไป

    อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!