- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 13 November 2024 23:04
- Hits: 1536
`สถิตย์`ส่งรายชื่อ ประธานบอร์ด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กระทรวงคลัง 19 พ.ย.นี้
'สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์'ส่งรายชื่อประธานบอร์ดและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้กระทรวงคลังภายใน 19 พ.ย.นี้ กระบวนการคัดสรรเป็นอิสระ ปลอดการเมืองแทรกแซง ย้ำผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ถูกปลดไม่ได้ หากไม่ผิดร้ายแรง
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน ECONMASS TALK EP.1 หัวข้อ 'เก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติสำคัญไฉน?' ที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ยืนยันไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังมีความเป็นอิสระ เนื่องจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับแก่ไข มีกำหนดชัดเจนว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือผู้ว่าแบงก์ชาติ ไม่สามารถถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ ยกเว้นประพฤติชั่วร้ายแรง หรือ ปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหาย ตลอดจนหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน
สำหรับ คณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด และกรรมการในบอร์ดแบงก์ชาติชุดใหม่แทนที่ผู้ที่หมดวาระ ประกอบไปด้วยอดีตปลัดกระทรวง และอดีตข้าราชการระดับสูงจากหลายกระทรวง และหน่วยงาน ได้แก่
1.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง
2.นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
3.นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
4.นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
5.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
6.นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
7.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนบุคคลที่หมดวาระได้นัดหมายประชุมคณะกรรมการเพื่อลงคะแนนให้ผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. หลังจากที่ก่อนหน้านี้การประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการลงคะแนน โดยฝ่ายเลขานุการ ได้แจ้งเลื่อนการประชุมออกไปเพื่อให้คณะกรรมการได้มีเวลาได้พิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการประชุมวาระในการลงคะแนนจะเป็นการลงคะแนนลับก่อนจะสรุปผลคะแนนตามขั้นตอนต่อไป โดยขั้นตอนนั้นจะต้องมีการเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และทูลเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป
สำหรับ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังไม่ได้มีการเสนอเปลี่ยนแปลงรายชื่อแต่อย่างใด
ส่วนอีก 2 ชื่อที่เสนอจาก ธปท.มี 2 คน ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ประธานบอร์ด ธปท.ยังไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของ คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการกำกับนโยบายระบบชำระเงิน และคณะกรรมการกำกับนโยบายสถาบันการเงินได้ ดังนั้นมองว่า ธปท.จึงยังคงมีความอิสระปราศจากการแทรกแแซงทางการเมือง
"ก่อนหน้ามี พ.ร.บ ธนาคารแห่งประเทศไทย2551 ยังมีกรณีการปลดผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แต่หลังมี พ.ร.บ. 2551 มีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมาย ว่าไม่สามารถปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ง่ายๆ ยกเว้นมีข้อบกพร่องใน 2 เรื่อง ได้แก่ การบกพร่องในการทำหน้าที่ร้ายแรง และประพฤติมิชอบร้ายแรง"นายสถิตย์ กล่าว
ส่วนเรื่องทุนสำรองฯมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการ ธปท.มีหน้าที่ออกออกหลักเกณฑ์ แต่ไม่ได้มีอำนาจบริหารโดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ผู้บริหาร ธปท.และการออกหลักเกณฑ์มีมานานแล้ว ส่วนการแก้ไขหลักเกณฑ์ทุนสำรองฯสามารถทำได้ แต่การแก้ไขต้องมีเหตุผลและเปิดเผยสู่สาธารณชน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าทำ เพราะสุ่มเสี่ยงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้จึงคงไม่มีใครอยากแตะต้องเรื่องทุนสำรองฯ
นอกจากนี้ ยืนยันว่า การคัดเลือกประธานบอร์ดธปท.นั้น เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้อย่างชัดเจนและตนก็ไม่ได้รับใบสั่งจากการเมืองในการคัดเลือก กล่าวคือ ผู้ได้รับคัดเลือกต้องไม่มีคุณลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายและเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อประกอบภารกิจของธปท. ซึ่งมีความรู้เศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ บัญชี กฎหมายและความรู้อื่นๆต่อกิจการ ธปท.ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกถือว่าไม่ขัดต่อระเบียบดังกล่าว
สำหรับ กระบวนการหลังจากนี้นั้น คณะกรรมการคัดเลือกจะส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคือใครในวันที่ 19 พ.ย.67 จากปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากที่ประชุม ซึ่งจากนั้นรมว.กระทรวงการคลังจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและส่งเรื่องทูลเกล้าฯแต่งตั้งในลำดับถัดไป
ส่วนกรณีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น ทาง รมว.กระทรวงการคลังสามารถแต่งตั้งได้เอง ซึ่งจะเสนอ ครม.ให้รับทราบตามมารยาทหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระบวนการเหล่านี้ ถือว่า ยังไม่เสร็จสิ้น ฉะนั้นกรรมการคัดเลือกจึงไม่สามารถกล่าวถึงชื่อของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประธานหรือผู้ทรงคุณวุฒิออกมาได้