WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAเมธ สภาพงษธปท.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.7% เหตุส่งออกฉุด ขณะที่แรงส่งลงทุนภาครัฐไม่พอชดเชย

     ธปท.หั่นเป้าจีดีพีปี 58 เหลือโต 2.7% จากเดิม 3% ส่วนปี 59 โต 3.7% จากเดิม 4.1% หลังส่งออกฉุดคาดทั้งปี -5% จากเดิมคาด -1.5% ขณะที่การลงทุนภาครัฐไม่สามารถชดเชยได้  ส่วนมาตรการกระตุ้น ศก.หนุนจีดีพีเพียง 0.1% และเห็นผลชัดเจนปีหน้าประเมินปีนี้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด 25.5 พันล้านดอลล์ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ -0.9% จากเดิม -0.5% ปีหน้าโต 1.2% จากเดิม 1.6% 

   นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2558 เหลือโต 2.7%  จากเดิมคาดการณ์เติบโต 3% และปรับลดประมาณการปี 59 เหลือโต3.7% ตามลำดับ จากเดิมคาดการณ์เติบโต 4.1% หลังประเมินความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจจีนและเอเชียที่อาจชะลอตัวกว่าคาด  2.นักท่องเที่ยวในปี 2558 ที่อาจลดลงมากกว่าคาด จากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และ 3. การลงทุนภาครัฐ ที่อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนได้น้อยกว่าคาด เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำ

  ทั้งนี้ การเร่งตัวของการลงทุนภาครัฐยังไม่สามารถชดเชยแรงการส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่อ่อนลงได้  คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 และปี 2559 ลง และจะมีการปรับประมาณการจีดีพีอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้

  "สาเหตุหลักของการปรับลดจีดีพีในครั้งนี้ มาจากการส่งออกสินค้าลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงโดยเฉพาะจีนและเอเชีย ส่งผลให้คาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบสูง 5% จากเดิมคาดติดลบ 1.5% ส่วนปี 2559 การส่งออกจะกลับมาดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่คาดว่าจีดีพีในครึ่งหลังปี 58 จะขยายตัวที่ 2.5%"  นายเมธี  กล่าว

   ทั้งนี้ ธปท.มองเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีความเสี่ยงด้านลบที่จีดีพีจะขยายตัวต่ำ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวเมื่อไหร่ โดยขอเวลาในการติดตามต่อไปโดยคาดการณ์ว่ามาตรการภาครัฐจะเห็นผลในปีหน้า ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 3 ด้าน ประกอบด้วย กองทุนหมู่บ้าน การลงทุนขนาดเล็ก และการกระจายเงินไปสู่ตำบล จะมีผลหนุนให้จีดีพีปีนี้และปีหน้าเติบโตได้ 0.1% โดยปัจจัยดังกล่าวยังไม่ได้รวม Soft Loan ของภาครัฐเข้าไป

   การส่งออกปีนี้คาดการณ์ว่าจะติดลบ 5% จากเดิมคาดติดลบ 1.5% ส่งออกปี 59 จะขยายตัว 1.2% ลดลงจากเคยคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดจะโต 2.5% ส่วนการนำเข้าปีนี้ติดลบ 9.3% จากเดิมติดลบ 2.4% และการนำเข้าปี 2559 โต 5.3% จากเดิมคาด 7.6% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้อยู่ที่ 25.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนปีหน้าเกินดุล 15.1 พันล้านดอลลาร์

    อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 ธปท.ได้ปรับลดประมาณการเป็น -0.9% จาก-0.5% และปี 59 โต 1.2% จาก 1.6%  และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2559 อยู่ที่ 0.8% จากเดิมคาด 1.0% 

    "ความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั้งสองโน้มไปด้านต่ำ ตามเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด  และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจต่ำกว่าคาด เนื่องจากอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ทั้งกลุ่มโอเปคและกลุ่มผู้ผลิต Shale Oil"นายเมธี  ระบุ

   ส่วนแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้นั้น นายเมธี กล่าวว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคงไม่มาก เนื่องจากตลาดรับรู้ประเด็นนี้มานานแล้ว และธปท. ยังมีเครื่องมือในการดูแลความผันผวนในการไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดี

  "เฟดขึ้นดอกเบี้ยแน่ๆ ปีนี้ ซึ่งก็ยอมรับว่ามีผลต่อเศรษฐกิจไทยบ้างแต่คาดว่าไม่รุนแรง แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อเนื่องว่าความเร็วในการปรับขึ้นจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เรามีเครื่องมือในการควบคุมการไหลเข้าออกเงินทุนอยู่แล้ว"นายเมธี กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!