WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAจาตรงค จนทรงษธปท.หดเศรษฐกิจปีลิงโต 3.5% คู่ค้าไม่สดใสฉุดส่งออกวูบจับตาศกโลก-ตลาดเงิน

    ไทยโพสต์ : บางขุนพรหม ธปท.หั่นเศรษฐกิจไทยปี 2559 เหลือโต 3.5% หลังตลาดคู่ค้าไม่สดใส กดส่งออกขยายตัว 0% ส่วนปีนี้อานิสงส์ใช้จ่ายรัฐ บริโภคเอกชน ท่องเที่ยวหนุนจีดีพีโตเพิ่มเป็น 2.8% ส่งออกยังดิ่งหนัก ติดลบ 5.5% จับตา ศก.โลกฟื้นช้า ตลาดการเงินผันผวน

     นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2558 เพิ่มเป็น 2.8% จากเดิม 2.7% โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุน

      ขณะที่ปี 2559 ปรับลดคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจลงมาอยู่ที่ 3.5% จากเดิม 3.7% เพราะมีความเสี่ยงขยายตัวโน้มไปทางด้านต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะจีนและเอเชีย รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ และปัญหาภัยแล้งที่กระทบภาคการผลิต

      การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจในปี 2559 จะขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการ โดยประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลดีกว่าที่คาดไว้ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะส่งผลดีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น แต่ยังไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายที่ให้นำไปหักลดหย่อนภาษี 1.5 หมื่นบาทที่ออกมาล่าสุด แต่เชื่อว่าจะสร้างแรงจูงใจให้คนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นนายจาตุรงค์กล่าว

        นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ในปี 2559 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ เศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อาทิ เศรษฐกิจจีนมีการปรับโครงสร้าง ลดพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวต่ำ รวมถึงราคาสินค้าส่งออกหลายชนิดต่ำกว่าประมาณการเดิม ตามราคาน้ำมันดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และยางพารา โดยจะเห็นผลชัดเจนในปี 2559 ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 2559 จะขยายตัวได้ 0.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.2% ส่วนปี 2558 ขยายตัว -5.5% จากเดิมที่คาดว่า -5.0%

      สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปี 2558 มีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ส่วนประมาณการทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% จากที่คาดว่าอยู่ที่ 1.2% เป็นการปรับลดตามราคาน้ำมันที่คาดว่าทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 43 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจาก 51.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.9% เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.8% โดยความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดยังมีจำกัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 อยู่ที่ -0.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.1%

      ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2558 ขยายตัว 2.9% สูงกว่าที่คาด และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4/2558 ที่ขยายตัว 2.7% แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ แม้จะชดเชยด้วยการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนแต่ก็ทำได้เล็กน้อย โดยประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องติดตาม คือ ปัจจัยเสี่ยงการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินที่อาจมีมากขึ้น ความต่อเนื่องใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินจากการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน.

ธปท.เชื่อส่งออกปี'59ทรงตัวพร้อมปรับลด'จีดีพี'เหลือ 3.5%จาก 3.7%

    แนวหน้า : 'แบงก์ชาติ'ประกาศปรับเพิ่มประมาณการ 'จีดีพี' ปีนี้เป็น 2.8% จากเดิม 2.7% แต่ลดประมาณการปีหน้าลง พิษเศรษฐกิจจีน-เอเชียชะลอตัว พร้อมปรับลดเป้าส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 5.5% จากเดิมที่ลบ 5% ส่วนปี'59 โต 0% จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 1.2% คาดยอดเกินดุลพุ่ง

      นายจาตุรงค์ จันทรังษี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบาย การเงิน หรือ กนง. ว่า ธปท.ปรับประมาณการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จาก ประมาณการเดิมที่ 2.7% โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญมาจากการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวอยู่ที่ 0.8% ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 0.7% ขณะเดียวกันหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจีดีพีเติบโต 2.7%

       สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยที่ 3.7% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ต่อเนื่อง จากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวต่ำกว่าที่คาดจากการส่งออกสินค้าที่หดตัว

     "ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่า คาด ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงและกระทบการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมากกว่าคาด นอกจากนี้ที่ประชุมกนง.ยังคงติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงต้องจับตาความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ"

      อย่างไรก็ตามการปรับจีดีพีดังกล่าวข้างต้นนั้น ยังไม่ได้รวมมาตรการของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ ว่าจะกระตุ้นจีดีพีปีนี้โต 0.1-0.2%

     นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ด้านการส่งออกของไทย ในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 5.5% จากเดิมที่คาดลบ 5% ต่ำกว่าประมาณการเดิม ตามราคาน้ำมันดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และยางพารา โดยผลจากการลดลงของราคาจะเห็นผลชัดเจนในปี 2559 ขณะที่การส่งออกในปีดังกล่าว คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 0% จากประมาณการเดิม 1.2% จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ส่วนนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 11.8% ปีหน้าโต 0.9% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดคาดเกินดุล 34,000 ล้านดอลลาร์ และปี 2559 คาดเกินดุล 26,300 ล้านดอลลาร์

      นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนนั้นประเมินว่าในระยะต่อไปรัฐบาลมีแนวโน้มใช้จ่ายลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 และ 3 นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจมีแนวโน้มลงทุนได้มากขึ้นจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เริ่มโครงการได้เร็วกว่าคาดหลัง ครม.มีมติพิจารณาอนุมัติหลักการ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ติดลบ 2% และปีหน้าขยายตัว 3.9%

       สำหรับ การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวในปีนี้นั้น มาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าและกำลังการผลิตที่เหลือยังอยู่มากส่งผล ให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตมีแนวโน้มที่ภาคเอกชนจะลงทุนเพิ่ม จากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

       ด้านเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 0.9% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 1.2% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้คาดอยู่ที่ 51.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 52.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และในปีหน้า คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 51.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

     ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้คาดอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจาก 1% และในปีหน้าคาดอยู่ที่ 0.9% จากเดิมที่ 0.8% เนื่องจากแรงกดดัน จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!