WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOA copyรายงานพิเศษ: แบงก์ชาติ...ตั้งธง'นโยบายการเงินปี'59' ดูแลเงินเฟ้อ...สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ...

     แนวหน้า : ปี 2559 เป็นอีกหนึ่งปีที่ตลาดเงินและตลาดทุนโลก จะประสบกับความผันผวนอย่างหนักอีกหนึ่งปี เนื่องจากประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกต่างก็ใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างกัน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของตน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบการเคลื่อนไหวของเงินทุนของไทยด้วย ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องรับหน้าที่หลักในการดูแลไม่ให้ตลาดเงินตลาดทุนของไทยผันผวน จนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินที่แบงก์ชาติจะนำมาใช้ในปี2559 จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทุกคนควรให้ความสนใจ

    และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 สรุปได้ ดังนี้

      1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กนง.ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2559โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.1 เป้าหมายนโยบายการเงิน ประจำปี 2559 และเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลาง กนง. ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน โดยใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพและยั่งยืน โดยไม่ก่อปัญหาเงินเฟ้อและความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจการเงิน ดังนั้น กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีข้อตกลงร่วมกัน โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5+1.5 เป็นเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปี 2559 และเป็นเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางด้วย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สำหรับการกำหนดให้เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางด้วยนั้น เพื่อเอื้อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินในรูปแบบระดับหรือช่วงของอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมนับเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) เนื่องจากเป้าหมายเงินเฟ้อที่เหมาะสมนั้นจะช่วยให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาวซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เต็มศักยภาพและยั่งยืน เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะต้องไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายที่สูงเกินไปจะทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง และอาจทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนและราคาสินค้าโดยทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเร็วกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนลงทุนของภาคธุรกิจและกระทบต่อความสามารถของธนาคารกลางในการดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนในระยะยาว ในทางตรงข้ามหากกำหนดเป้าหมายต่ำเกินไปอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหาภาวะเงินฝืด ซึ่งจะทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคออกไปและบั่นทอนแรงจูงใจการผลิตและการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมักจะทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำลงโดยเฉลี่ย ซึ่งหากเศรษฐกิจซบเซาและธนาคารกลางต้องการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่มากก็จะติดขอบล่างที่ศูนย์ (Zero Lower Bound) จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน

     2.ด้านการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น...กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 จะกลับเป็นบวกและมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำและมีความไม่แน่นอนสูง จึงมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมาย ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย หรือ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะชี้แจงสาเหตุ ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

       ดังนั้น การกำหนดให้มีค่ากลางของเป้าหมายที่ร้อยละ 2.5 เป็นการส่งสัญญาณว่า กนง.จะดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจเบี่ยงเบนออกจากค่ากลางของเป้าหมายในระยะสั้นให้กลับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายในระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน ขณะที่การกำหนดกรอบ (range) ที่ร้อยละ ? 1.5 เพื่อให้เป้าหมายเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่นสามารถรองรับความผันผวนจากปัจจัยชั่วคราว การดำเนินนโยบายการเงินจึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อปัจจัยระยะสั้นมากเกินไปจนอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ส่วนการกำหนดให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายระยะปานกลางด้วยนั้น เพื่อสื่อสารให้ประชาชนสามารถวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกลไกการทำงานของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ไตรมาสกว่าจะมีผลเต็มที่

     3.การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงินกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

     4.การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน....คือ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

      ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!