WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไท สนตประภพผู้ว่าธปท.มองจีดีพีปีนี้โต 3.5% ได้การบริโภค-ลงทุนเอกชนหนุน ขณะที่ย้ำดำเนิน นโยบายการเงินในทิศทางผ่อนปรนเพื่อประคอง ศก.

       ธปท.เผย ศก.ไทยปี59 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว มองจีดีพีโต 3.5% ได้บริโภค-ลงทุนเอกชนหนุน แถมราคาน้ำมันต่ำช่วยกระตุ้นบริโภคอีกทาง ส่วนส่งออกยังซบเซา แต่การฟื้นตัวยังไม่กระจายถึงชนบท-หนี้ครัวเรือนยังสูง  ด้านการดำเนินนโยบายการเงินยังอยู่ในทิศทางผ่อนปรน เพื่อประคอง ศก. มั่นใจเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-4% ชี้แม้ปัจจัยเสี่ยงภายนอกรุมเร้ม แต่กันชนไทยยังดี สะท้อนจากดุลบัญชีฯ ในปีก่อนที่เกินดุล 9% ของจีดีพี

  นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายของธปท. 2559 ว่า ธปท.คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ในปีนี้อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ 2.8% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก เช่น การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐ สำหรับด้านต่างประเทศการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี แต่ภาคการส่งออกโดยรวมยังทรงตัว

   อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจาก ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะกระทบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกอยู่มากพอสมควร แต่โดยรวมแล้วราคาน้ำมันในระดับต่ำส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิและพึ่งพาพลังงานมาก สะท้อนจาก มูลค่าการนำเข้าน้ำมันที่ประหยัดได้ถึง 18,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา

  ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังส่งผลดีต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยช่วยลดค่าครองชีพและพยุงการบริโภคของครัวเรือนได้บางส่วน และยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้ธุรกิจบางประเภทมีกำไรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ควรชะล่าใจกับราคาน้ำมันที่ถูกลงชั่วคราว และใช้น้ำมันตามสบายใจ จดหยุดมุ่งมั่นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเศรษฐกิจไทย

  “ การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจไทยในปี 59 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยต่อนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกประเทศทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาคเอกชนยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่คงทนและบริการ รวมทั้งสินค้ากึ่งคงทนที่เริ่มเห็นการฟื้นตัว”นายวิรไท กล่าว

   นายวิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการส่งออก ภาพรวมยังซบเซา โดยส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวด้านปริมาณ เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว และมาจากการหดตัวด้านราคา ตามแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการส่งออกที่ซบเซา กระทบต่อตลาดแรงงานไม่มากนัก การจ้างงานโดยรวมยังทรงตัว ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมโดยรวมและในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ไทยยังมีการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้าน หรือ กลุ่ม CLMV โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.4% ในปีที่ผ่านมา

   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แต่ยังเป็นแบบการฟื้นตัวที่ไม่กระจายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าส่งออกบางกลุ่มที่ประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าแรงของไทที่ปรับสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ หรือ ปัญหาโครงสร้างด้านราคาสินค้าที่ลดต่ำลงตามราคาน้ำมัน ผู้ส่งออกบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากวัฏจักรอุปสงค์ในเศรษฐกิจโลก

   ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วง คือ ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยี่ยังไม่กระจายตัวไปสู่ภาคเกษตร หรือ ภาคเศรษฐกิจชนบท ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกภาคเกษตรทยอยเพิ่มขึ้นช้าๆ แต่รายได้ของเกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะราคาสินค้าในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลง ทำให้ภาระหนี้สินของคนในชนบทในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็อยู่ในระดับสูงและขาดภูมิคุ้มกันทางการเงิน รายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มลดลงจึงกระทบทั้งการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในกลุ่มดังกล่าว

   นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับมาตรการภาครัฐได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วยมาตรการเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตำต่ำ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระจาดเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจได้เร็ว เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตการคืนภาษีผู้บริโภคช่วงปลายปีที่ผ่านมา หรือ มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเร่งรัดการลงทุนและมาตรการเพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาะของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

    “ แม้มาตรการของภาครัฐจะต้องการเยียวยาประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเปราะบาง และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องตระหนักเสมอว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ควรสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาว เพราะบทเรียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วจนสูงกว่า 80% ของจีดีพี ในขณะนี้และยังไม่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น หนี้ครัวเรือนในระดับสูงสร้างความอ่อนไหวให้แก่ครัวเรือน และเป็นตัวฉุดไม่ให้การบริโภคโดยรวมฟื้นได้เต็มที่”นายวิรไท กล่าว

   อย่างไรก็ตาม ด้านมาตรการภาครัฐที่จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาว คือ การลงทุนยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภค กรอบการส่งเสริมการลงทุนในอุตสากรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างฐานสำหรับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการ กฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกลไกตลาดและดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมทั้งปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

     “การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยมีความสำคัญเหมือนกับการยกเครื่องรถยนต์ของเราที่ค่อนข้างเก่าและอ่อนแรงมาเป็นเวลานาน การเดินทางของเรายังต้องเผชิญกับถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อมากขึ้น เราต้องการรถยนต์ที่มีทั้งโช๊คอัพหรือระบบรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และต้องมีเครื่องยนต์ที่ดี สมรรถนะสูงด้วย จึงจะทำให้เราเดินทางไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”นายวิรไท กล่าว

   นายวิรไท กล่าวถึง การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน ยังอยู่ในทิศทางผ่อนปรนทั้งด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้มแข็ง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับติดลบ และสินเชื่อรวมหุ้นกู้เอกชนก็ยังขยายตัวอยู่ที่ 7% ในปีที่ผ่านมา แสดงถึงภาวะการเงินที่ผ่อนปรนเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

   นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับพันธกิจของ ธปท. มี 3 มิติ คือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน และการรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน โดยการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินนั้น  ในด้านเสถียรภาพด้านราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงมาก แต่ยังมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่1-4% หรือ 2.5% บวกลบ 1.5%

        “ ที่ผ่านมายอมรับว่าเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีการเคลื่อนไหวผันผวน แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่ายังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าและแข็งค่าสลับกัน โดยยืนยันว่า ธปท.จะติดตามและดูแลไม่ให้นโยบายการเงินโดยภาพรวมเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเร็วจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเช่นกัน” นายวิรไท กล่าว

      ด้านของการรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน จะมุ่งเน้นรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะติดตามและประเมินความเสี่ยงต่างๆ นอกจากนี้ปีนี้เป็นปีแรกที่ธปท.จะเริ่มทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่างเต็มรูปแบบ โดยในระยะแรกธปท.จะมุ่งเน้นกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงสำคัญ เป็นต้น

   ด้านการรักษาเสถียรภาพระบการชำระเงิน นั้น จะดูแลในด้านความสามารถในการเข้าถึงบริการการชำระเงิน ความมั่นคงปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพเป็นหัวใจของระบบการชำระเงินที่ดี โดยระบบการชำระเงินเผชิญความท้าทาย เช่น การคุมคามของโลกไซเบอร์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงหลังภัยคุกคามด้านดังกล่าวของไทยและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากไม่มีการเฝ้าระวังจะสร้างความเสียหายให้กับระบบการชำระเงินของไทย

   “ธปท.จะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของระบบการเงิน จะดำเนินนโยบายการเงินที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกและพัฒนาการในตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เราต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี แม้ว่ารถของเราจะมีระบบกันกระเทือนที่ใช้ได้ เป็นกันชนจากความผันผวยที่มาจากนอกประเทศแต่ถนนข้างหน้ายังมีหลุมมีบ่ออยู่มาก หากเราร่วมกันก็จะผ่านพ้นไปได้”นายวิรไท กล่าว

    นายวิรไท กล่าวว่าในตลอดปีนี้ ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจะยังอยู่กับไทย และยังมีโอกาสที่จะผันผวนเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาปัจจัยที่ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนเกิดจากการปรับตัวอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นและตลาดเงินของจีน ซึ่งสะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อสภาวะเศรษฐกิจจีนและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของจีนตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

   นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากมาตรการต่างๆที่ออกมาเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดทุน เช่น การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ มาตรการเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนี Shanghai Composite Index ปรับลดลงถึง 30% ในปัจจุบันจากจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนอีกปัจจัยคือ ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำมากในรอบ 13 ปี การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่แตกต่างกันมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจนนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลกค่อนข้างสูง แต่ภาคการเงินไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จากการที่เรามีกันชนหรือภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปีที่ผ่านมาเกินดุล 9% ของจีดีพี หรือ 34.8 พันล้านดอลลาร์ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่สูงถึง 3 เท่า

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!