WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไท สนตประภพ copyหนี้ครัวเรือนทะลุ 80% จีดีพี ธปท.เบรกฉีดสินเชื่อรุกลงทุนเมกะโปรเจกต์

     'วิรไท' ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นได้ แต่ไม่เท่าเทียมและยังต้องเผชิญกับความผันผวนตลอดปี ขณะที่รายได้ภาคการเกษตรที่ตกต่ำและเศรษฐกิจขยายตัวช้าๆ ส่งผลต่อการชำระหนี้ของคนจนและเอ็มเอสอี ติงรัฐฉีดสินเชื่อพยุงเศรษฐกิจส่งผลหนี้ครัวเรือนพุ่ง แนะใช้มาตรการเยียวยาและลงทุนเพิ่มศักยภาพประเทศ

      นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ประจำปี 2559 ของ ธปท.ในเรื่อง แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและทิศทางการดำเนินนโยบาย ธปท.ปี 2559ว่า ในปีนี้ เราเริ่มต้นปีด้วยความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดเงินตลาดทุนโลก ซึ่งอาจจะสร้างความกังวลให้กับระบบเศรษฐกิจไทยและตลอดปีนี้ ทำให้ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนยังจะอยู่กับเรา โดยมีโอกาสที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นอีก จากเงินทุนในโลกที่มีอยู่จำนวนมาก และมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยลบและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ตลาดเงินและตลาดทุนไทย

      โดยปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจาก 3 เรื่อง คือ 1.ความผันผวนในตลาดทุน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน 2.การชะลอตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต่ำลงมาก โดยราคาน้ำมันต่ำสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศที่ส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งในนั้นมีประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องนี้จะกระทบต่อการลงทุน การจ้างงานและความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ประ กอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และ 3. ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ภาคการเงินไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อย เพราะไทยมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะทุนสำรองทางการที่มีจำนวนสูงมาก แต่ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีความผันผวนสูง และเป็นความผันผวนที่เป็นไปได้ใน 2 ทิศทางทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า การป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการด้านการค้าการลงทุนของไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของ ธปท.จะดูแลให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยยังมีช่องว่างสำหรับการใช้อัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท.คาดได้

      สำหรับ เศรษฐกิจในประเทศ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ เอาไว้ที่ 3.5% โดยราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยลดรายจ่ายของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาได้ถึง 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งช่วยลดค่าครองชีพและพยุงการบริโภคของครัวเรือนได้ และทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนที่ลดลงก็ตาม แต่การฟื้นตัวดังกล่าวไม่กระจายตัว และที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ ภาพการฟื้นตัวนี้ยังไม่กระจายไปสู่ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาระหนี้สินของคนไทยในชนบทในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังอยู่ในระดับสูงและขาดภูมิคุ้มกันทางการเงิน ส่วนวิสาหกิจรายกลางรายย่อย (เอสเอ็มอี) ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและความสามารถการชำระหนี้ของกลุ่มคนเหล่านี้ในอนาคต และส่งผลต่อระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินให้เพิ่มขึ้น

     นายวิรไทยังกล่าวต่อถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นอย่างไม่เท่าเทียมกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องตระหนักเสมอว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่ควรสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจระยะยาว โดยเห็นได้จากหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงมากกว่า 80% ของจีดีพี และยังไม่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นช้าๆ และมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในระยะต่อไป ธปท.มองว่า รัฐบาลน่าจะมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยการกระตุ้นการบริโภคผ่านสินเชื่อจะมีประสิทธิผลน้อยกว่าในอดีต และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวด้วย

     ในปีนี้ ธปท.เห็นด้วยว่า ยังจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาสำหรับเกษตรกรและเอสเอ็มอีอยู่ แต่ต้องดูให้เป็นมาตรการเยียวยาจริงๆ ไม่เกินเลยมากไป ขณะเดียวกัน การเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ด้านคมนาคม มาตรการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมาตรการอื่นๆ ในการยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาว ช่วยให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องทันทีให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศ จะช่วยสร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจและพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้”.

      ที่มา : www.thairath.co.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!