WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไทBOA ไม่ได้รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัว-รายได้ยังคงต่ำซ้ำหนี้สินท่วมหัวแบงก์ชาติห่วงเกษตรกร

     ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยอมรับภาคเกษตรยังคงน่าเป็นห่วง เหตุผลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกระจายไปไม่ถึง รายได้ต่ำเพราะราคาสินค้าเกษตรตก ภาระหนี้สินยังสูง ภัยแล้งกระทบต่อการผลิต ชี้จีดีพีไทยจะได้การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อน ส่วนภาค การส่งออกยังแย่เหมือนเดิม เตือนรัฐการอัดเม็ดเงิน เข้าระบบ ต้องระวังผลลบที่จะตามมา

    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ ประจำปี 2559 เรื่อง 'มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและภารกิจของ ธปท.ปี 2559' ว่า ธปท. คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.8% โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเสี่ยงในการขยายตัวด้านต่ำอยู่ค่อนข้างมาก ขณะที่ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้จะมาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก ทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

      ส่วนการส่งออก ภาพรวมยังซบเซา โดยส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวด้านปริมาณ เพราะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว และมาจากการหดตัวด้านราคา ตามแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการส่งออกที่ซบเซา กระทบต่อตลาดแรงงานไม่มากนัก การจ้างงานโดยรวมยังทรงตัว ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมโดยรวมและในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ไทยยังมีการขยายตัวของประเทศเพื่อนบ้าน หรือ กลุ่ม CLMV โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.4% ในปีที่ผ่านมา

      "การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจไทยในปี'59 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยต่อนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกประเทศทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาคเอกชนยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่คงทนและบริการ รวมทั้งสินค้ากึ่งคงทนที่เริ่มเห็นการฟื้นตัว"นายวิรไท กล่าว

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แต่ยังเป็นแบบการฟื้นตัวที่ไม่กระจายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าส่งออกบางกลุ่มที่ประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าแรงของไทที่ปรับสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานคุณภาพ หรือ ปัญหาโครงสร้างด้านราคาสินค้าที่ลดต่ำลงตามราคาน้ำมัน ผู้ส่งออกบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากวัฏจักรอุปสงค์ในเศรษฐกิจโลก

       ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยี่ยังไม่กระจายตัวไปสู่ภาคเกษตร หรือ ภาคเศรษฐกิจชนบท ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานนอกภาคเกษตรทยอยเพิ่มขึ้นช้าๆ แต่รายได้ของเกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะราคาสินค้าในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลง ทำให้ภาระหนี้สินของคนในชนบทในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็อยู่ในระดับสูงและขาดภูมิคุ้มกันทางการเงิน รายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้ม ลดลงจึงกระทบทั้งการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในกลุ่มดังกล่าว

       นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับมาตรการภาครัฐได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วยมาตรการเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระจาดเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจได้เร็ว เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตการคืนภาษีผู้บริโภคช่วงปลายปีที่ผ่านมา หรือ มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเร่งรัดการลงทุนและมาตรการเพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

      "แม้มาตรการของภาครัฐจะต้องการเยียวยาประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเปราะบาง และกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องตระหนักเสมอว่า การ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ควรสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพ การเงินในระยะยาว เพราะบทเรียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วจนสูงกว่า 80% ของจีดีพี ในขณะนี้และยังไม่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น หนี้ครัวเรือนในระดับสูงสร้างความอ่อนไหวให้แก่ครัวเรือน และเป็นตัวฉุด ไม่ให้การบริโภคโดยรวมฟื้นได้เต็มที่" นายวิรไท กล่าว

       อย่างไรก็ตาม ด้านมาตรการภาครัฐที่จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาว คือ การลงทุนยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภค กรอบการส่งเสริมการลงทุนในอุตสากรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างฐานสำหรับความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการ กฎเกณฑ์และกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกลไกตลาดและดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน รวมทั้งปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

    นายวิรไท กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน ยังอยู่ในทิศทางผ่อนปรนทั้งด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประคับประคองการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้มแข็ง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับติดลบ และสินเชื่อรวมหุ้นกู้เอกชนก็ยังขยายตัวอยู่ที่ 7% ในปีที่ผ่านมา แสดงถึงภาวะการเงินที่ผ่อนปรนเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

       สำหรับ พันธกิจของ ธปท. มี 3 มิติ คือ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน และการรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน โดยการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินนั้น  ในด้านเสถียรภาพด้านราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังติดลบในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงมาก แต่ยังมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1-4% หรือ 2.5% บวกลบ 1.5%

       ด้านของการรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน จะมุ่งเน้นรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและ ส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะติดตามและประเมินความเสี่ยงต่างๆ นอกจากปีนี้เป็นปีแรกที่ธปท.จะเริ่มทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่างเต็มรูปแบบ โดยในระยะแรกธปท.จะมุ่งเน้นกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงสำคัญ เป็นต้น

    ด้านการรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน นั้น จะดูแลในด้านความสามารถในการเข้าถึงบริการการชำระเงิน ความมั่นคงปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพเป็นหัวใจของระบบการชำระเงินที่ดี โดยระบบการชำระเงินเผชิญความท้าทาย เช่น การคุกคามของโลกไซเบอร์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจและ เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงหลังภัยคุกคามด้านดังกล่าวของไทยและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากไม่มีการเฝ้าระวังจะสร้างความเสียหายให้กับระบบการชำระเงินของไทย

     ตลอดปีนี้ ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนจะยังอยู่กับไทย และยังมีโอกาสที่จะผันผวนเพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนเกิดจากการปรับตัวอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นและตลาดเงินของจีน ซึ่งสะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อสภาวะเศรษฐกิจจีนและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของจีนตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา"

                บรรยายใต้ภาพ

     ห่วงเกษตรกร : นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ ประจำปี 2559 เรื่อง ‘มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและภารกิจของ ธปท.ปี 2559’โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ แต่เป็นห่วง ภาคเกษตรกรที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ  และยังมีปัญหาภัยแล้ง ภาระหนี้สินอยู่ในอัตราสูง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!