WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAจาตรงค จนทรงษ copyธปท.ปรับเพิ่มเป้าจีดีพีปี 59 เป็นโต 3.2% แต่หวั่นปราบ`ทัวร์ศูนย์เหรียญฯ`กระทบจีดีพีภาคท่องเที่ยว

   ธปท.ปรับเพิ่มเป้าจีดีพีปี 59 เป็นโต 3.2% จากเดิมคาด 3.1% ส่วนปี 60 คงประมาณการไว้ที่ 3.2% วอนภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น ศก. เพิ่ม เพื่อหนุนการบริโภคภาคเอกชน ยอมรับหวั่น'ทัวร์ศูนย์เหรียญฯ'กระทบจีดีพีภาคท่องเที่ยว กำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบ พร้อมมองตลาดเงินผันผวนมากขึ้น ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า หลัง ธ.กลางยุโรป-ธ.กลางญี่ปุ่น ยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ด้านเอ็นพีแอลทั้งระบบยังสูง จากสินเชื่อบริโภค-เอสเอ็มอีขนาดเล็ก จับตาใกล้ชิด

     นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวแถลงข่าวสรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อครั้งที่ 3 ของปีนี้ (23 กันยาย 2559) ว่า ธปท.ได้ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นขยายตัว 3.2% จากเดิมคาดขยายตัว 3.1% ส่วนปี 2560 ยังคงประมาณการเดิมคือขยายตัว 3.2% สาเหตุที่ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงกว่าคาดในช่วงครึ่งแรกของปีเป็นสำคัญโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น

  อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านต่ำต่อประมาณการเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยปัจจัยลบมาจาก (1)Brexit ที่อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นภาคเอกชนและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก(2) ความเสี่ยง ในภาคการเงินของจีน (3) ความสามารถของภาคเอกชน ในการรองรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต และ (4) ผลกระทบของการจัดระเบียบผู้ประกอบการตลาดทัวร์จีนต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ

    นายจาตุรงค์ กล่าวต่อว่า ธปท.กังวลถึงผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบช่วงท้ายปี 59 จนถึงต้นปี 60 โดยขณะนี้ทาง ธปท.กำลังรวบรวมตัวเลขถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจากการประมาณเดิม ปีนี้จะกระทบไม่เกิน 200,000 คน และปีหน้าไม่เกิน 100,000 คน

    "การที่รัฐมีมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะจีดีพีภาคการท่องเที่ยวทั้งหมดคิดเป็น 15% ของจีดีพี จากเดิม 5 ปีก่อนอยู่ที่ 9% โดยต้องยอมรับว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น" นายจาตุรงค์ กล่าว

    สำหรับ การบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะขยายตัวชะลอลงจากไตรมาส 2 แต่ยังถือว่าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การจ้างงานในภาคเกษตร และภาคบริการที่ขยายตัว ขณะที่รายได้จากภาคการผลิตเพื่อการส่งออกยังฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อทำให้ภาคการบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ดีเช่นเคย

    ส่วนกรณีที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางยุโรป มีมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น และยังได้ส่งผลต่อค่าเงินบาท โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแต่โดยรวมยังเป็นการแข็งค่าในระดับสอดคล้องกับภูมิภาค แต่อาจจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับบางสกุล

    "ตลาดเงินในช่วงนี้มีความผันผวนสูงขึ้น เพราะจากการที่นโยบายการเงินจากธนาคารต่างๆ มีการผ่อนคลายมากขึ้น สภาพคล่องก็ล้นทำให้เงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งเห็นได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่เชื่อมั่นว่าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ธ.ค. กระแสเงินอาจจะไหลกลับสหรัฐ ซึ่งถือว่าช่วงนี้ยังต้องจับตามองถึงการประชุมของเฟดต่อไป" นายจาตุรงค์ กล่าว

    สำหรับ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคธนาคาร พบว่ายังมีอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเอสเอ็มอีขนาดเล็กและสินเชื่อผู้บริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ยังพบว่าเพิ่มสูงขึ้น และต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

   อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคงประมาณการปีนี้ที่ 0.8% และปีหน้าที่ 1% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตลอดช่วงประมาณการตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโดยได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 59 อยู่ที่ 0.3% จากเดิม 0.6% ส่วนปี 60 คาดอยู่ที่ 2% จากเดิม 2.2%

   การบริโภคภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.7% จากเดิม 1.8% , การลงทุนภาคเอกชนคาดจะขยายตัว 1.1% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดโต 3.1% , การอุปโภคภาครัฐปีนี้ยังคงประมาณการที่ 3.5% และการลงทุนภาครัฐปีนี้ปรับลดลงเหลือ 9.7% จากเดิมคาดโต 10.1%

  การส่งออกในปีนี้ ยังคงประมาณการส่งออกติดลบที่ 2.5% ขณะที่ปี 60 คาดส่งออกจะติดลบที่ 0.5% จากเดิมคาดโต 0% จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง

  การนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะติดลบเพิ่มขึ้นโดยมองติดลบ 6.6% จากประมาณการครั้งก่อนที่ติดลบ 6% ขณะที่ปี 60 มองนำเข้าขยายตัว 5.6% จากเดิมที่ 5.3%

  ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้คาดเกินดุล 40.4 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดจะเกินดุล 37.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนปี 60 เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 31.8 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ 32.3 พันล้านดอลลาร์

    อนึ่ง ธปท.จะแถลงสรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ จากปีนี้ที่แถลงทบทวนประมาณการไป 3 รอบ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ,30 มิ.ย. ,และ 23 ก.ย.59 ตามลำดับ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!