- Details
- Category: บล.
- Published: Wednesday, 24 April 2024 15:25
- Hits: 14475
ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 ‘หวัง SET is back. ยืนเหนือ 1350 จุด’ แนะนำหุ้นทยอยฟื้นตามเศรษฐกิจ CK SCCC MTC BJC KBANK, หุ้นกำไร 2Q67 เด่น PTTGC BGRIM
สายงานวิจัยฯ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) หรือ ASPS ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มเห็นหลายปัจจัยช่วยพยุงเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายการคลังที่เข้มข้นผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ภายในช่วงเวลาเพียง 5-6 เดือน ด้วยมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9.3% รวมถึงมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, ฟรีค่าธรรมเนียม VISA สำหรับนักท่องเที่ยว และการแจกเงิน Digital 10,000 บาท ในระยะถัดไป ต่อมาเป็นความคาดหวังการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจจะคงไว้ 5.5% ยาวนานขึ้น หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาด แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงน่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทย คอยหนุนปริมาณการซื้อขายจะค่อยๆ กลับมา หลังทางการเพิ่มชั่วโมงซื้อขายจาก 4 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน เป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน และมีมาตรการในการกำกับดูแลตรวจสอบ Short Selling, Program Trading คาดเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วง 2Q67 หนุน Turnover ของ SET มีโอกาสกลับมาสูงกว่า 70% ต่อปี
คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวเพิ่มว่า ในช่วงไตรมาส 2 ตลาดหุ้นไทยมีความน่าลงทุนมากขึ้น คือ 1.มุมกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q67 ที่มีโอกาสเติบโต QoQ เด่น จากฐานกำไรงวด 4Q66 ที่ต่ำกว่าปกติ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหนุน หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงกว่า 7% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ซึ่งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่ามีสัดส่วน Market Cap กว่า 40% รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นแรงเกิน 15%QoQ หนุนให้เกิด Stock Gain ในหุ้น Commodity ที่มีสัดส่วนหลักในตลาด 2.มุม Valuation SET จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1350 จุด โดย SET ที่ระดับ 1350 จุด มี PER67F ที่ 16.6 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.31 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี) อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้กับหุ้นกว้างมาก โดยมี MEYG ที่ 4.25% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) หนุนให้เม็ดเงินมีโอกาสทยอยไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป
กลยุทธ์การลงทุน ณ SET บริเวณ 1350 จุด มี Valuation ที่น่าสนใจ แนะนำหุ้นทยอยฟื้นตามเศรษฐกิจ CK SCCC MTC BJC KBANK, หุ้นกำไร 2Q67 เด่น PTTGC BGRIM
ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาส 2 ลงไป คาด side-way down หวังได้อานิสงส์จากการเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ แนะนำทยอยซื้อหุ้นกู้เก็บช่วงตลาดปรับตัวขึ้น
ฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดตราสารหนี้ไทยยังไปได้ดีและเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้ไทยที่มีอายุไม่ยาวมากและมีอันดับเครดิตตั้งแต่ Invesetment grade ขึ้นไป โดยยอดคงค้างตราสารหนี้ไทย ณ. สิ้น Q1/2024 อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จาก Q4/2023 อยู่ที่ 16.51 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธปท. ในทางตรงข้ามยอดคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ ลดลงเล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จาก 4.84 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 4.79 ล้านล้านบาท
ในส่วนของสามไตรมาสที่เหลือของปีนี้ มีมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวครบกำหนด 696,411 ล้านบาท โดยจะครบในช่วงไตรมาสสอง 35.79% ช่วงไตรมาสสาม 33.53% และ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ 30.68% ซึ่งจะครบกำหนดมากสุดช่วงเดือน เมษายน สิงหาคม และ พฤศจิกายน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังครองอันดับหนึ่งของการมีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวสูงสุด คือ กลุ่มพลังงาน (ENER) ซึ่ง 5 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวสูงสุด คือ กลุ่มพลังงาน (ENER) กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (PROP) กลุ่มพาณิชย์ (COMM) และ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) โดย 5 กลุ่มนี้มียอดคงค้างคิดเป็น 60% ของมูลค่ารวมทั้งตลาด แต่ถ้ามองในมุมของอันดับเครดิตแล้ว หุ้นกู้กลุ่มอันดับเครดิต A มีมูลค่าคงค้างสูงสุด แต่ ถ้ามองทุกอันดับเครดิตรวมกันกว่า 93% เป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment Grade (BBB-) ขึ้นไป
คุณลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง คาดว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วงสามไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะมีการเคลื่อนไหวแบบ side-way down เนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 2.50% ในปัจจุบัน ลงไปอยู่ที่ 2.00-2.25% ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อรองรับการคาดการณ์ล่วงหน้า สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 3 ปี ที่ตอนนี้อยู่ในช่วง 2.265-2.387% โดยล่าสุดตลาดคาดว่าแบงก์ชาติจะเริ่มลดดอกเบี้ยช่วงกลางปีลงไป ในส่วนมูลค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้น Q1/2024 มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 122,271 ล้านบาท คิดเป็น 2.70% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ซึ่งถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อย โดยส่วนใหญ่หุ้นกู้ในตลาดยังถือว่าเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัย
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายใต้สภาวะตลาดดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลง คือ ทยอยสะสมซื้อหุ้นกู้ในช่วงที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง และ ซื้อตามวัตถุประสงค์การลงทุน คือ ถ้าซื้อเพื่อลงทุนแบบถือจนครบกำหนด สามารถเลือกหุ้นกู้ที่มีอายุยาว หรือ หากลูกค้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น สามารถลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตไม่สูงมาก เพื่อได้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ถ้าซื้อเพื่อทำกำไรแบบเร็วๆ หรือเพื่อ Trading ควรเลือกหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิต A- ขึ้นไป และ มีอายุไม่เกิน 3 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่นักลงทุนสถาบันนิยมลงทุน
ตลาดหุ้นต่างประเทศเผชิญอุปสรรคในการลดดอกเบี้ย แนะนำทยอยสะสมหุ้นสหรัฐในช่วงที่ตลาดย่อตัวโดย เน้น Balance พอร์ตการระหว่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จาก AI และหุ้นกลุ่ม Non-tech
ตลาดหุ้นสหรัฐส่งสัญญาณการปรับฐานนับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า 5% จากแรงกดดันเรื่องความกังวลด้านนโยบายการเงินของสหรัฐที่อาจคงดอกเบี้ยได้นานกว่าคาด โดยปัจจุบันตลาดมองธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ในเดือนกันยายน จากช่วงต้นเดือนที่มองลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง
ทั้งนี้เมื่อนโยบายการเงินมีความเข้มงวดมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้จึงส่งผลให้ดัชนี S&P500 ซึ่งซื้อขายที่ valuation ระดับสูงเริ่มการปรับฐาน โดยปัจจุบันตลาดซื้อขาย Forward PE 20.5x และอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 0.5SD หากในปีนี้ ธนาคารกลางไม่มีการลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ดัชนีกลับมาซื้อขายที่ค่าเฉลี่ยที่ 19.3x หรือเทียบเท่าดัชนี 4,750 จุด
ในอดีต ผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกยังมีผลกระทบจำกัดต่อราคาน้ำมันและตลาดหุ้นแต่อาจสร้างจิตวิทยาเชิงลบต่อการลงทุนได้เป็นระยะ ซึ่งแม้ว่าความความขัดแย้งจะได้ยกระดับมาเป็นปัญหาระหว่างอิสราเอล-อิหร่านโดยตรง แต่ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานยังไม่ได้รับผลกระทบกล่าวคือ ไม่มีปัญหาด้านการผลิตและการขนส่งน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจเป็นสัญญาณลบได้เมื่อมาพร้อมๆ กับการลดดอกเบี้ยในสหรัฐที่ยืดยาวออกไป
จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้นสหรัฐในช่วงที่ตลาดย่อตัวโดย รอซื้อที่บริเวณดัชนี S&P500 ที่ 4,750 จุดซึ่งเป็นแนวรับทางพื้นฐานหากธนาคารกลางไม่มีการลดดอกเบี้ย โดยระยะสั้นตลาดอาจเผชิญความผันผวนในช่วงฤดูกาลประกาศงบ Q1 (เม.ย. - พ.ค.) และความกังวลด้านนโยบายการเงินของสหรัฐที่อาจคงดอกเบี้ยได้นานกว่าคาด แต่ในระยะยาวนั้น ทางนักวิเคราะห์หลายๆ สำนัก ยังคงมีมุมมองเชิงบวกโดยคาดการณ์กำไรของดัชนี S&P500 จะเติบโตเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ Q2 เป็นต้นไป โดยกลยุทธ์การลงทุนเน้น Balance พอร์ตการระหว่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จาก AI และหุ้นกลุ่ม Non-tech ที่ผลประกอบการโดดเด่น
ตลาดหุ้นจีนนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ยังคงปรับตัวในกรอบแคบ โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด เช่น GDP 1Q24 ขยายตัวถึง 5.3% YoY สูงกว่าคาดที่ 4.8% YoY และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 5.2% YoY ขณะเดียวกันตัวเลข Fixed asset investment เดือน มี.ค. ขยายตัว 4.5% สูงกว่าคาดที่ 4.0% และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนว่าภาคเอกชนมีการลงทุนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามตัวเลขยอดค้าปลีกกลับขยายตัวเพียง 3.1% ต่ำกว่าคาดที่ 5.1% บ่งชี้ถึงภาคการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวลง
นักเศรษฐศาสตร์มองการเติบโตของ GDP ประเทศจีนในไตรมาส 1 ปี 2024 นั้นไม่ได้แสดงถึงความแข็งแกร่งในทุกภาคส่วนทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังคงมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามปัจจุบันจีนกำลังเผชิญข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากนโยบายการคลังที่ไม่สามารถกู้เงินได้เหมือนในอดีตเนื่องจากปัจจุบันอัตราส่วน Debt to GDP อยู่ระดับสูงสุดในประวัติการของประเทศจีน ขณะเดียวกันธนาคารกลางไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน เนื่องจากส่วนต่างของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แตกต่างจากสหรัฐ ส่งผลให้จีนจะเผชิญอุปสรรคในการลดดอกเบี้ยเนื่องจากจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง จึงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่เน้นทำกำไรระยะสั้น สามารถเก็งกำไรได้บริเวณแนวรับดัชนี HSI index ที่ 16200 - 16000 จุด โดยเน้นหุ้นที่รายงานผลประกอบการออกมาดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และพิจารณาขายที่แนวต้านบริเวณ 17,000 จุดขณะที่นักลงทุนระยะกลาง ยังคงแนะนำเลือกลงทุนผ่าน Structured Note เนื่องจากยังขาดปัจจัยหลายๆ ด้านที่จะทำให้ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
ตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มส่งสัญญาณการปรับฐาน โดยได้รับแรงกดดันหลักจากค่าเงินดองที่อ่อนค่าซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางเวียดนามกลับมาควบคุมสภาพคล่องและควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนโดยการออกตราสารหนี้ระยะสั้นอีกครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (overnight rate) ปรับตัวสูงขึ้นและอาจสร้างความกังวลต่อนโยบายการเงินเวียดนามที่อาจกลับมาเข้มงวดมากขึ้นในระยะถัดไป
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยแนะนำขายทำกำไรในตลาดหุ้นเวียดนาม สำหรับนักเก็งกำไรเนื่องจากแรงกดดันด้านนโยบายการเงินดังกล่าว ประกอบกับการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นอาจก่อให้เกิดความผันผวนระยะสั้น และแนะนำติดตามกลับเข้าซื้ออีกครั้งเมื่อค่าเงินดองกลับมาแข็งค่า โดยฝ่ายวิจัยมองตลาดหุ้นเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวจากภาคการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่ valuation ตลาดอยู่ที่ Forward PE 10.9x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 14.2x
4685