- Details
- Category: กรมสรรพากร
- Published: Thursday, 30 November 2023 18:06
- Hits: 4698
กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists: VRT)
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เร่งขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศไทยตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566 โดยให้กรมสรรพากรปรับปรุงกฎระเบียบการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวและให้เริ่มมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 นี้ เพื่อรองรับ High Season’66
ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และขั้นตอนต่างๆ ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางออกจากประเทศไทยให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นั้น
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เรื่องนี้ได้เคยหารือร่วมกับกรมสรรพากร และกรมศุลกากร ให้พิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาประเทศไทย อีกจำนวนมากตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น หาวิธีการลดคิวการรอตรวจสินค้า ที่เราเห็นได้ที่สนามบิน ในบางช่วงเวลาจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อคิวรอตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีเป็นจำนวนมาก
หากประเทศไทยสามารถลดอุปสรรค เพื่อให้สามารถคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย รวมทั้งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย”
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ฉบับ เพื่อปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (หลักเกณฑ์เดิมได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2562)
โดยหลักเกณฑ์ที่ปรับใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ดังนั้น ตั้งแต่เริ่ม High Season’66 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องรอคิวเพื่อตรวจสินค้าจะลดลงมาก โดยหลักๆ ที่ปรับเป็นการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากร
1. ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.7 ล้านรายต่อปี (หรือร้อยละ 67 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) เหลือประมาณ 500,000 รายต่อปี (หรือร้อยละ 20 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) หรือลดจำนวนคิว/การขอตรวจเอกสารที่ต้องตรวจสินค้า จาก 4,800 คนต่อวัน เหลือเพียง 1,400 คนต่อวันหรือปรับลดลงกว่าร้อยละ 70
2. ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อสรรพากร 9 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 1 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 4 หมื่นบาทขึ้นไป และของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป เป็น 1 แสนบาทขึ้นไป
หลักเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี (หรือร้อยละ 4.7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี (หรือร้อยละ 1.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืนภาษีทั้งหมด) หรือลดลงจาก 333 คนต่อวันที่ต้องแสดงสินค้าเหลือเพียง 84 คนต่อวัน โดยประมาณ หรือลดลงกว่าร้อยละ 75
สำหรับ เงื่อนไขการขอคืนภาษีในปัจจุบันนั้น นักท่องเที่ยวต้องมียอดซื้อไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อร้านต่อวัน และจากการปรับหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้จะช่วยลดขั้นตอนการขอคืนภาษี ของนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้ามูลค่ารวมไม่ถึง 20,000 บาท สามารถไปขอรับคืนภาษีจากเจ้าหน้าที่สรรพากรได้โดยไม่ต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด”
หากมีข้อสงสัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161