- Details
- Category: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- Published: Sunday, 15 October 2023 20:31
- Hits: 5570
การลงนามบันทึกความเข้าใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (การประชุมประจำปีฯ) ปี 2569 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ร่วมกับนาย Ajay Banga (อาเจ บังกา) ประธานธนาคารโลก นาง Kristalina Georgieva (คริสตาลิน่า กอร์เกียวา) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
การลงนามบันทึกความเข้าใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกจากสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ในปี 2569 ซึ่งในอดีตประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ เมื่อปี 2534
การประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจและการเงินที่สำคัญที่สุดของโลก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศสมาชิก 189 ประเทศ และผู้ว่าการธนาคารกลางจากประเทศสมาชิก 190 ประเทศเข้าร่วมการประชุม
รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำของโลก โดยในทุก 3 ปีจะมีการจัดการประชุมประจำปีฯ ในประเทศสมาชิก ซึ่งการประชุมมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2569 ณ กรุงเทพมหานคร และจะมีการประชุมคู่ขนานที่สำคัญต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก กลุ่มประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าวกว่า 300 การประชุม
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ ปี 2569 ของประเทศไทยจะเป็นโอกาสอันดีในการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยในเวทีเศรษฐกิจและการเงินโลกและเป็นเวทีที่สำคัญในการแสดงแนวคิดและผลักดันนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในประชาคมโลก เป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือและเรียนรู้วิทยาการในประเด็นต่างๆ จากประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีฯ จะเป็นการแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลก ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่การจัดการประชุม โรงแรมที่พักที่ที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด มีความสะดวกในการเดินทาง
ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศของภูมิภาค รวมทั้งยังมีความพร้อมในด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านสาธารณสุข และมีความพร้อมของบุคลากรในการจัดการประชุมระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกประมาณ 12,000 คน ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องจากการประชุมดังกล่าว
กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3627