WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     สัปดาห์นี้น่าจะมีแรงขายหุ้น ธ.พ. หลังรายงานงบ 2Q57 ขณะที่จะมีแรงซื้อหุ้นเข้าสู่ช่วงการทำ Preview Earnings กลุ่มที่มิใช่ธนาคาร วันนี้เลือกหุ้น BECL(FV@B45) เป็น Top pick คาดกำไรงวด 2Q57 เติบโต yoy ขณะที่มี P/E ต่ำเพียง 10.5 เท่า มี Div Yield 4.8% และ upside 20%

การประชุมธนาคารกลางโลก สัปดาห์นี้ไม่น่าจะมีประเด็นใหม่
       ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) วานนี้ สรุปให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 0.5% (เป็นการคงที่มากกว่า 5 ปี) และยังคงวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE) ที่ระดับเดิม 3.75 แสนล้านปอนด์ (6.37 แสนล้านเหรียญฯ) อย่างไรก็ตามผลการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์บางส่วน เริ่มให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2558 กล่าวคือ ราว 34% ของผู้ถูกสำรวจ (จากเดิม 12%) คาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่อีก 50% (จากเดิม 43%) จะขึ้นดอกเบี้ยฯ ในงวด 1Q58 ซึ่งจะทำให้อังกฤษเป็นประเทศแรกในกลุ่มพัฒนาแล้ว และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเร็วกว่าสหรัฐ ที่ประเมินกันว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ ใน 1Q58 เป็นต้นไป
       ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อยู่ระหว่างการประชุม วันที่ 14-15 ก.ค. 2557 โดยคาดว่า BOJ น่าจะยังคงการใช้ปริมาณเงิน QE ที่เดิมคือ 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี ต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ที่สามารถบรรลุเป้าหมายเบื้องต้น 2% ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน (ถึงเดือน พ.ค. 2557) และเฉลี่ยจากตั้งแต่ต้นปี 2557 ถึงปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.8% ขณะที่ญี่ปุ่น ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ลดลงลงเหลือ 3.5% เมื่อเดือน พ.ค. (เทียบกับระดับสูงสุด 5.5% เมื่อ ก.ค. 2552) ซึ่งเชื่อว่าจะกดดันให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ต้องทยอยปรับขึ้นค่าแรงงานในไม่ช้า (หลังจากบริษัทขนาดใหญ่อย่าง โตโยต้า และพานาโซนิค ได้ปรับขึ้นค่าจ้างไปก่อนหน้า) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันอัตราเงินเฟ้อต่อไป ทำให้โอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเพิ่ม QE อาจจะมีน้ำหนักน้อยลง อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงให้ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันที่สูง 35.6% เพื่อชดเชยผลกระทบจากการขึ้นภาษีขาย 3% ในเดือน เม.ย. 2557 ยังมีโอกาสเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยจากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กพบว่า 42% ของผู้ตอบคาดว่าจะเกิดขึ้นราว เดือน ต.ค. นี้ และอีก 58% คาดว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปี 2557

น่าจะเริ่มมีการขายหุ้น ธ.พ. หลังราคาหุ้นปรับเพิ่มตอบรับงบงวด 2Q57
     สัปดาห์นี้คาดว่าหุ้นในกลุ่ม ธ.พ. น่าจะทยอยประกาศงบ 2Q57 กันเป็นส่วนใหญ่ สัปดาห์นี้ประเดิมด้วย TISCO พบว่างวด 2Q57 กำไรเป็นไปตามคาด โดยเพิ่มขึ้น 6.2% qoq แต่หดตัว 14.4% yoy จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ขณะที่ค่าธรรมเนียมฯ ทรงตัวตามธุรกรรมสินเชื่อ ฝ่ายวิจัยจึงได้ปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานปี 2557-58 ลง 5.7% และ 1.6% จากเดิม แต่ยังคาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานงวด 2H57 จะเติบโตสูงขึ้นจาก 1H57 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่และ SME ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของสินเชื่อ โดยยังคงแนะนำซื้อ เนื่องจากมีความโดดเด่นในเรื่องของ Div. Yield สูงถึง 5-6% ต่อปี รวมทั้ง PBV เพียง 1.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 1.8 เท่า และ P/E ที่ต่ำเพียง 7.5 เท่า
  อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่าได้มีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปรับขึ้นมากว่า 15% (จากแรงเก็งกำไรผลประกอบการงวด 2Q57 ที่ภาพรวมยังไม่มีอะไรโดดเด่น และความคาดหวังต่อแนวโน้มที่ดีขึ้นของผลประกอบการ ในช่วง 2H57 และปี 2558 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) โดยเฉพาะ 12 วันหลังสุด พบว่า ดัชนีกลุ่ม ธ.พ. ขึ้นมาถึง 8.7% เทียบกับ SET index ขึ้นมาเพียง 4.8% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งเกิดจากการปรับขึ้นแรงของหุ้นรายตัวขนาดใหญ่ และทำให้ upside เหลือค่อนข้างน้อย คือ SCB (ขึ้น 12.3% เหลือ upside 3.7%) KTB (ขึ้น 10.1% ราคาเกิน fair value) BAY (ขึ้น 8.7% ราคาเกิน fair value ไปแล้ว) KBANK (ขึ้น 7.4% เหลือ upside 2.8%) TMB (ขึ้น 6.7% เหลือ upside 13.4%) นักลงทุนจึงควรระมัดระวัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดแรงขายทำกำไรในหุ้น ธ.พ. แนะนำเลือกลงทุนในหุ้นที่ยังมี upside เหลือ พร้อมกับมี P/B และ P/E ต่ำ และ เงินปันผลสูง ได้แก่ TISCO (FV@B 47) ยังมี upside ราว 11.9% และ KKP (FV@B 52.2) มี upside 11%

ต่างชาติยังซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องแต่ในปริมาณที่ลดลง
      วานนี้ แม้ว่าต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ยอดซื้อกลับเบาบางเหลือเพียง 3 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น โดยลดลง 99% จากวันก่อนหน้า และซื้อสุทธิเบาบางเกือบทุกประเทศ กล่าวคือ อินโดนีเซีย ซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 5 ราว 33 ล้านเหรียญฯ ลดลง 87% ตามมาด้วยเกาหลีใต้ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 17 ล้านเหรียญฯ ลดลง 92% ส่วนไทย ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 5 แต่ยอดลดลงถึง 89% เหลือราว 13 ล้านเหรียญฯ (411 ล้านบาท) และ ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 2 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับ ไต้หวันที่สลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 61 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้า)
      เป็นที่สังเกตว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด เกิดจากการซื้อทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้ กล่าวคือ ซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 9 วัน จาก 10 วันหลังสุด รวม 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดตราสารหนี้ซื้อสุทธิติดต่อกัน 12 วัน รวม 7.1 หมื่นล้านบาท ถือเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาทแข็งแข็งแกร่ง โดยเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.14 บาทต่อเหรียญฯ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น ท่ามกลางแรงซื้อจากทางฝั่งสถาบันในประเทศเบาบางลงอย่างมาก (10 วันหลังสุดซื้อสุทธิรวมเพียง 1.6 พันล้านบาท)

BECL เข้าสูตร กำไรงวด 2Q57 เด่น พร้อม P/E ต่ำ เงินปันผลสูง
       วันนี้นักวิเคราะห์กลุ่มขนส่งของ ASP ได้ประเมินงบงวด 2Q57 คาดจะมีกำไร 118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% จากธุรกิจหลัก เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าทางด่วน ก.ย. ที่ผ่านมา และรับรู้กำไรเพิ่มขึ้นจากบริษัทย่อย 2 แห่งคือ TTW (ถือหุ้น 20% เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี) และ CKP (ถือหุ้น 23% ไม่ขาดทุนจาก FX เหมือนงวดก่อนหน้า) แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะมีการปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังตามมาตรฐานใหม่เรื่อง “ค่าทดแทนการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างทางด่วน” เหมือนที่จัดทำไปแล้วเมื่องวด 1Q57 ซึ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยจะไปทำการปรับปรุงงบย้อนหลังตั้งแต่งวด 1Q56 ให้เป็นฐานเดียวกับงวด 1Q57 และ 2Q57 ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้กำไรสุทธิในงวด 2Q57 เติบโตลดลงเหลือ 20% แต่นับว่ายังดีมากเมื่อเทียบกับกำไรตลาดโดยรวม ขณะที่แนวโน้มกำไรในงวด 3Q57 คาดว่าจะเติบโตโดดเด่น และเป็นจุดสูงสุดของปีนี้ (จากธุรกิจหลักและการฟื้นตัวของ CKP) ทำให้ผลกำไรจากการดำเนินงานปกติปี 2557 จะเพิ่มขึ้น 51% จากปี 2556 และยังเติบโตในระดับ 10% ในปี 2558 ทำให้หุ้น BECL มีค่า Expected P/E เพียง 10.5 เท่า และจะลดเหลือ 9.52 เท่า พร้อมกับมี Dividend Yield สูง 4.8% และจะเพิ่มเป็น 6.3% ในปี 2558 ขณะที่ราคาตลาดยังมี upside สูงถึง 20% หุ้น BECL จึงมีคุณสมบัติที่ดีที่จะเป็นหุ้นพื้นฐานเด่นที่เหมาะสมกับนักลงทุนระยะกลางและยาว ภายใต้สถานการณ์ตลาดที่มี P/E เกิน 15 เท่า และมีความเสี่ยงต่อการปรับฐานสูง

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!