WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน 

     แม้ปัญหาการเมืองที่ยังมีอยู่ ขณะที่ยังมีแรงหนุนจากปัจจัยภายนอก น่าจะช่วยให้ดัชนีตลาดหุ้นวันนี้น่าจะยืน 1370-1375 จุดได้ กลยุทธ์ยังเน้นเป็นหุ้นรายตัวที่ผลกำไรฟื้นตัวในปีนี้ IRPC(FV@B4.2), IVL(FV@B26), TUF(FV@B76), BCP(FV@B36) เลือก IVL(FV@B26) และแนะนำเก็งกำไร EARTH และ BJCHI  คาดว่าจะให้ผลตอบแทน 2.5-3% ในช่วง 3-4 สัปดาห์ ก่อนจะเข้า SET100

                     

การชุมนุมน่าจะร้อนแรงขึ้น หลัง ปปช. ชี้มูลความผิด โครงการรับจำนำข้าว   

      หลังจากผ่านพ้นการตัดสินคดีโยกย้ายนายถวิลฯ ไปเมื่อวันที่ 7 พ.ค. เมื่อวานนี้  ปปช. มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้มูลความผิด อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามคำร้อง โครงการรับจำนำข้าว โดยเห็นว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 และส่อว่าขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 กระบวนการต่อจากนี้ไป จะเป็นการยื่นให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 หรือ ไม่น้อยกว่า 90 เสียง หากวุฒิสภามีมติดังกล่าวออกมา (ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่าย) ก็จะทำให้ต้องถูกตัดสิทธิ์การดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง หรือการรับราชการ 5 ปี และเป็นคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

     ณ จุดนี้ เชื่อว่าประเด็นทางกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี น่าจะหมดลงอย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ยังมีประเด็น กฎหมายอื่นที่ยังเป็นข้อถกเถียง และมีความเห็นต่างค่อนข้างมาก คือการตีความเรื่องกรอบอำนาจของผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าประเด็นที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของเหตุการณ์ทางการเมือง จากนี้ไปจะมีจุดสนใจหลักอยู่ที่การชุมนุมของทั้ง กปปส. และ นปช. ที่มีการนัดหมายในวันที่ 9 และ 10 พ.ค. 2557 ตามลำดับ  มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดย แต่ละกลุ่มมีเป้าสนใจ คือ  กปปส มีเป้าหมายเพื่อให้ได้รัฐบาลคนกลาง และสภาประชาชน เพื่อปฎิรูปประเทศ ขณะที่ นปช. ต้องการเร่งรัดให้มีการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการประเทศ สถานการณ์การชุมนุมใหญ่ของทั้ง 2 กลุ่ม ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นประเด็นความเสี่ยงหลักที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในระยะต่อไปได้

     หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ และยังไม่สามารถได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจเพิ่ม และอาจนำไปสู่การปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน ถือเป็นปัจจัยกดดันต่อ SET Index ซึ่งปัจจุบันซื้อขายที่ค่า Current PER 14.69 เท่า โดยหากค่า PER ปรับลดลงมาที่ 14.50 เท่า ณ สิ้นเดือน พ.ค.2557 จะให้ค่า SET Index อยู่ที่ 1,370 จุด ซึ่งถือว่าน่าจะเป็นแนวรับที่มีนัยสำคัญระดับหนึ่ง 

ตลาดหุ้นโลกน่าจะมีความหวังต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในยุโรป  

     สหภาพยุโรป ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) วานนี้  ยังคงดำเนินมาตรการ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 0.25% (คงที่ตั้งแต่เดือน พ.ย.2 556 ) ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงิน ไว้ระดับเดิมที่ 0% และ 0.75% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อของสหภาพยุโรป เดือน เม.ย. อยู่ที่ 0.7% เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ช่วยลดความกังวลต่อภาวะเงินฝืด   แต่อย่างไรก็ตามปัญหาอัตราการว่างงานที่ยังสูงในระดับเกือบ 12% ยังเป็นปัจจัยที่ ECB จะต้องให้ความสำคัญ    ซึ่งทำให้มีความคาดหวังว่า ECB น่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังประชุมของ ECB ครั้งถัดไป 5 มิ.ย.2557 ซึ่งถือว่าน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะหมายถึงการกระตุ้นให้ปริมาณเงินโลกเพิ่มสูงขึ้น และ ทำให้มี fund flow เข้ามาสู่ประเทศเกิดใหม่   

    สหรัฐ  การรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังบ่งบอกถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน   ล่าสุด จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ (สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ค.)  ลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 319,000 ราย (ลดลงต่ำกว่าที่คาด 6,000 ราย) จากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา  ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 85,000 ตำแหน่ง (หลังจากที่ลดลง 19,000 ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้มีผลให้อัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. ลดลงอยู่ที่ระดับ 6.3% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้กำหนดไว้ที่ 6.5%  

     อย่างไรก็ตามนางเจเน็ต เยลเลน (ประธาน FED) ยังคงเชื่อว่าตลาดแรงงานยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ เนื่องจากแรงงานสหรัฐอีกจำนวนมาก ยังต้องการได้รับการจ้างงาน ทั้งนี้ FED ยังคงเดินหน้าหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำ 0.25% อย่างต่อเนื่อง  และไม่มีกำหนดระยะเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. ล่าสุด ที่ระดับ 1.5% ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2%  ซึ่งอาจจะช่วยผ่อนคลายตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงสั้น ๆ  แต่เมื่อใดก็ตามที่สหรัฐมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่า ตลาดหุ้นน่าจะกลับมาตอบรับด้านลบอีกครั้งหนึ่ง  

    ประเทศไทย ขณะที่ทางบ้านเราเองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อ และ อาจนำไปสู่ความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น ได้ กดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค ให้เข้าสู่ภาวะตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะลอในงวด 1H57 หากอ้างอิงจากประมาณการของ สศค. คาดว่าในงวด 1Q57 GDP Growth น่าจะติดลบ 0.2% (ASP คาดว่าติดลบ 1.3%) และ เติบโตเพียง 0.4% ใน 2Q57(เทียบกับ ASP คาด  0.53%) ก่อนที่คาดว่าจะฟื้นตัวในงวด 2H57 (สศค คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ในงวด 3Q57  และ 7.3% ในงวด 4Q57 (เทียบกับ ASP 2.3% และ 6.4% ตามลำดับ)  แต่นั่นอยู่ภายใต้สมมติฐานว่า ปัญหาการเมืองน่าจะคลี่คลาย และได้รัฐบาลใหม่ภายในสิ้นปีนี้ หากทุกอย่างเปลี่ยนแปลงจากสมมติฐานข้างต้นถือว่ายังเป็นความเสี่ยงต่อ ความสามารถในกำไรของบริษัทจดทะเบียน

ประเทศไทยถูกซื้อน้อยสุดในกลุ่ม TIP

      วานนี้ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แต่ลดลงถึง 70% เหลือราว 155 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการสลับซื้อขายรายประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 231 ล้านเหรียญฯ (แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 38%) ขณะที่อีก 2 ประเทศในกลุ่ม TIP ขายสุทธิเบาบางคือ อินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิราว 11 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 วันก่อนหน้า) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 4 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อติดต่อกัน 27 วันก่อนหน้า ตรงกันข้ามกับไต้หวัน ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 55 ล้านเหรียญฯ (ขายติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) และ ไทย สลับมาซื้อสุทธิราว 36 ล้านเหรียญฯ (1.2 พันล้านบาท หลังจากขายสุทธิใน 3 วันหลังสุด) 

    ทั้งนี้ หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นในภูมิภาคเมื่อกลางปี 2556 อย่างหนัก เงินทุนจากต่างชาติมีแนวโน้มไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้งตั้งแต่ต้น ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่ม TIP พบว่า เข้ามาซื้อในฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ขณะที่เข้ามาซื้อตลาดหุ้นไทยล่าช้าสุดคือ ราวปลายเดือน ก.พ. ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม TIP กล่าวคือ หากเทียบกับยอดเงินที่ไหลกลับเข้ามารายประเทศ เทียบกับยอดขายสุทธิในปี 2556-ต้นปี 2557 พบว่า  ต่างชาติเข้าซื้อฟิลิปปินส์มากสุด โดยคิดเป็น 75% ของยอดการขายที่ผ่านมา ตามมาด้วย อินโดนีเซียที่ 63% และสุดท้ายคือไทยที่ซื้อกลับเพียง 14%  (ขายสุทธิราว 2.5 แสนล้านบาท และซื้อกลับเพียง 3.2 หมื่นล้านบาท) ทำให้เชื่อว่าเงินทุนจากต่างชาติยังมีโอกาสไหลเข้าไทยต่อ แม้ว่าในระยะสั้นอาจจะถูกกดดันจากปัจจัยทางการเมือง

สต็อกน้ำมันดิบลดลง หนุนราคาน้ำมันโลกฟื้นตัว 

       จากการรายงานสต็อกน้ำมันดิบ (EIA) สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงกว่าตลาดคาด โดยลดลงราว 1.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 397.6 ล้านบาร์เรล หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 สัปดาห์  (ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4  ล้านบาร์เรล) ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันดิบ  ที่จุดส่งมอบน้ำมัน WTI  ณ  เมือง Cushing ลดลงเหลือเพียง 24 ล้านบาร์เรล  ซึ่งนับว่าลดลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่สต็อกน้ำมันสำเร็จรูปกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มน้ำมันเบนซินราว 1.61 ล้านบาร์เรล (อยู่ที่ 213.2 ล้านบาร์เรล แม้ปริมาณการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8.72 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์) ยกเว้น น้ำมันดีเซล และ เชื้อเพลิงอื่น ๆ (heating oil) ลดลง 4.47 แสนบาร์เรล  (มาอยู่ที่ 114 ล้านบาร์เรล)  สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 7.5 แสนบาร์เรล เนื่องจากความต้องใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 11% มาอยู่ที่ 4.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน

     นอกจากสต๊อกน้ำมันดิบที่ลดลงมากกว่าคาดแล้ว ปัญหาความขัดแย้งในลิเบีย (กลุ่มกบฏลิเบีย  ซึ่งเข้ายึดครองท่าเรือขนส่งน้ำมันทางด้านตะวันออกของประเทศ โดยจะไม่ทำข้อตกลงกับนายอาเหม็ด ไมทีค นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้จะได้ทำข้อตกลงเมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมาก็ตาม)  ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดล่วงหน้า WTI เพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 100.29 เหรียญฯต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับตลาด ดูไบยังคงอยู่ที่ 104 เหรียญต่อบาร์เรล แต่อย่างไรก็ตามนับว่ายังสูงกว่าสมมติฐานของ ASP ที่ประเมินไว้ที่ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้โอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับเพิ่มประมาณ ของ PTTEP(FV@B360), PTT(FV@B195) และภายใต้ประมาณการปัจจุบัน  มีค่า Expected P/E  ต่ำเพียง  9.1 เท่า  และ  8.4 เท่า  ตามลำดับ จึงยังแนะนำซื้อ

การรายงานงบ 1Q57 ยังไม่ทำให้ต้องปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 มากนัก 

     สัปดาห์นี้ต่อเนื่องถึงสัปดาห์หน้า ยังเป็นการรายงานงบ 1Q57 ของภาคการผลิต (มิใช่สถาบันการเงิน) ซึ่งโดยภาพรวมยังมิได้ทำให้สร้างความผิดหวังจนทำให้ ASP ต้องปรับลดประมาณกำไรของตลาดลงจากเดิมมากนัก เนื่องจากได้มีการปรับลดประมาณการล่าสุดไปแล้วในช่วงต้นปี 2557  กล่าวคือ ประเมินกำไรต่อหุ้นไว้ที่  100.96  บาท  ในปี 2557 และ 112.83 บาทในปี 2558 หรือ มีอัตราการเติบโตราว  12.4%  และ 11.75%  ตามลำดับ  ซึ่งนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับตลาด (รวบรวมโดย Bloomberg) ซึ่งประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ในปี 2557 ไว้ค่อนข้างสูงคืออยู่ที่หุ้นละ  104 บาท  และ หุ้นละ  118 บาท ในปี 2558 หรือ อัตราการเติบโต (EPS Growth) ราว 18%  และ 13.5%  ตามลำดับ  ทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดมีโอกาสปรับลดประมาณการกำไร ขณะที่การรายงานงบงวด 1Q57 ล่าสุดมีดังนี้

     ROBINS (ขาย:FV@B52) กำไรสุทธิงวด 1Q57 ลดลง 4% qoq และ 2% yoy แต่ดีกว่าที่คาด 11% แม้รายได้ค่าเช่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด แต่ยอดขายรวมกลับลดลงตามการใช้จ่ายที่ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและปัญหาการเมือง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดสาขาใหม่ โดยสรุปผลกำไรงวด 1Q57 คิดเป็น 24% ของกำไรสุทธิทั้งปีที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลงอีกครั้ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังอ่อนตัวต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการเมืองที่อาจไปจบในปีนี้และยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับ P/E ที่ค่อนข้างสูง ยังคงยืนยัน ขาย

      LIT (ซื้อ: FV@B2.5) กำไรสุทธิงวด 1Q57 เพิ่มขึ้น 21.5% qoq และ 25.1% yoy ตามการเติบโตของรายได้การให้บริการ Trade Financing แต่ถูกกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงตามสินเชื่อสุทธิในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อและลิสซิ่งที่อยู่ในช่วงนอกฤดูกาล รวมทั้งผลกระทบจากฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับงานประมูลภาครัฐ โดยรวมกำไรสุทธิงวด 1Q57 คิดเป็น 18% ของประมาณการทั้งปี 2557 ที่คาด ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการปี 2557-58 ไว้ เนื่องจากยอดการให้สินเชื่อที่เป็น High Yield แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการรับงานภาครัฐมีขนาดงานไม่สูงมากนัก ยังคงแนะนำ ซื้อ  คาดหวังYield สูงถึง 7-8% p.a.

     IFS (ถือ : FV@B2.62)  กำไรสุทธิ 1Q57 ใกล้เคียงคาด เติบโตถึง 99% qoq และ 10% yoy เนื่องจากมีการโอนกลับรายการค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ หลังจากที่ตั้งสำรองอย่างระมัดระวังเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวนในปี 2556 ไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการดังกล่าว พบว่าธุรกิจหลักเริ่มเห็นการชะลอตัวจากรายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลงตามยอดการปล่อยสินเชื่อสุทธิที่หดตัวจากทุกกลุ่มธุรกิจทั้งลีสซิ่งและแฟคตอริ่ง ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการปี 2557-58 คาดการณ์กำไรสุทธิในปี 2557-58 เติบโต 9.2% yoy และ 13.6% yoy ตามลำดับ แม้ว่าทิศทางค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่เริ่มเห็นการปรับลดลงตั้งแต่งวด 1Q57 แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วง 1H57 ทำให้เป้าหมายการเติบโตที่ระดับเกิน 15% p.a. ถือเป็น Downside ที่สำคัญต่อประมาณการทั้งปี 2557 ของฝ่ายวิจัย ยังคงคำแนะนำ ถือ เพื่อรับปันผล คาดการณ์ Yield ที่ระดับเฉลี่ย 6% p.a.

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์

พบชัย ภัทราวิชญ์

กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์

มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!