WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 

กลยุทธ์การลงทุน 

     การเมืองที่ร้อนแรง อาจกดดันให้ SET Index ปรับลดค่า PER ลงมาอยู่ในช่วง 14-14.5 เท่า หรือบริเวณต่ำกว่า 1370 จุด กลยุทธ์ยังเน้นเป็นหุ้นรายตัวที่ผลกำไรฟื้นตัวในปีนี้ เลือก IVL(FV@B26

                     

การเมืองอาจกด SET Index ลงมาอยู่ในช่วง PER 14–14.5 เท่า จาก 14.7 เท่าในปัจจุบัน  

      สัปดาห์นี้ถือได้ว่าการเมืองได้เข้าสู่ภาวะร้อนแรง โดยหลังจากที่ นายกรัฐมนตรี พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่างฝ่าย ก็ต่างเดินเกมส์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศ โดย กปปส. ได้เรียกชุมชุมใหญ่พร้อมเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เช่นประธานศาลฎีกา, ประธาน กกต., ว่าที่ประธานวุฒิสภา, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น ได้ร่วมหารือกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศ โดยร่วมทูลเกล้าฯ เสนอรายชือนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศในช่วงการปฎิรูป ขณะที่ นปช. ก็ได้เรียกชุมนุมใหญ่ แสดงท่าทีคัดค้าน และมีจุดยืนที่จะเร่งรัดให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์การชุมนุมของทั้ง 2 ฝ่ายดังกล่าวข้างต้นได้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นเป็นระยะ อย่างต่อเนื่อง

      ประเด็นที่ต้องติดตามในวันนี้ ได้แก่การเรียกนัดหารือของ ส.ว. 150 คน เพื่อหาทางออกให้กับสถานการณ์การเมือง โดยอาจมีการเสนอให้ ประธานวุฒิสภา ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่าเป็นคนกลาง แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่วิจารณ์กันว่าจะเป็นไปได้ในช่วงเวลานี้หรือไม่ โดยมีการตีความทั้งกรอบอำนาจของ ว่าที่ประธานวุฒิสภาฯ และผู้ปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ในส่วนของความคืบหน้าการจัดการเลือกตั้ง ประธาน กกต. ให้ความเห็นว่ายังคงเดินหน้าต่อ โดย 14 พ.ค.2557 จะมีการหารือเรื่องข้อความในพระราชกฤษฎีกา เลือกตั้ง กับรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ากำหนดวันเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกจากเดิมที่กำหนดไว้เป็น 20 ก.ค.2557 นอกจากนี้ยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่มอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปรากฎสัญญาณความรุนแรงเกิดขึ้นถี่มากขึ้น

     SET Index ในรอบนี้ได้เคยปรับไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ PER 15.2 เท่า (23 – 24 เม.ย.2557) ซึ่งฝ่ายวิจัยได้ให้ความเห็นไว้ว่าเป็นกรอบบนของการเคลื่อนไหว และต้องระวังการปรับฐานลงมา ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็เห็นการปรับฐานราคาจนล่าสุดค่า Current PER ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 14.7 เท่า แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ยังเข้มข้น และมีแนวโน้มรุนแรง ประกอบกับเริ่มเห็นแรงขายทำกำรไรจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็น SET Index ลงมาซื้อขายในกรอบ PER 14 – 14.5 เท่า เทียบกับกรอบ SET Index ช่วงเดือน พ.ค.2557 ที่บริเวณต่ำกว่า 1370 จุด ซึ่งหากปรับลดลงมาสู่บริเวณดังกล่าว นักลงทุนระยะยาวอาจเริ่มพิจารณาเลือกหุ้นบางส่วนเข้าพอร์ต โดยหุ้นที่น่าสนใจยังเป็น Global Play อย่างเช่น IVL (FV@B 26)

ไทยเสี่ยงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ สวนทางเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ที่ปรับขึ้น

    ท่ามกลางปัญหาการเมืองที่มีการชุมนุมยืดยาวเข้าเดือนที่ 7 เดือน ได้ส่งผลกระทบวงกว้างพื้นฐานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้จ่ายภาคครัวเรือน (คิดเป็น 55% ของ GDP) และการลงทุนโดยรวม (คิดเป็น 29% ของ GDP) สะท้อนได้จาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ให้เข้าสู่ภาวะตกต่ำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนใน 1H57 ซึ่งคาดว่าภาพรวมทั้งปี 2557 น่าจะเติบโต 2% ส่งผลให้ ฟิทซ์ เรทติ้งส์ ต้องกลับมาทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทยอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกับ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์เซอร์วิส และ S&P ทำให้ความเสี่ยงที่ซึ่งประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมีมากขึ้น หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ได้ข้อยุติที่ดี

     ตรงกันข้ามกับฟิลิปปินส์ ที่ล่าสุด S&P ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับที่สูงกว่าน่าลงทุน 2 ขั้น (ก่อนหน้านี้ ฟิทซ์ เรตติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเป็นน่าลงทุน) เนื่องจากการมีการเดินหน้าปฎิรูปเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยปรับเพิ่มความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวเป็น BBB จาก BBB- และ ปรับเพิ่มตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นเป็น A-2 จาก A-3 พร้อมทั้งให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ เช่นเดียวกับ โปรตุเกส ที่มูดี้ส์ ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ เป็น BB จากเดิม BB- เนื่องจากโปรตุเกสสามารถลดการขาดดุลงบประมาณเหลือเพียง 4.9% ในปีก่อน และตั้งเป้าให้อยู่ในระดับ 2.5% ภายในปี 2015 (ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ EU กำหนดไว้ที่ 3%) ทั้งนี้ โปรตุเกสจะออกจากโปรแกรมการขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินจาก IMF และ EU ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ หลังจากสามารถออกจำหน่ายพันธบัตรได้ด้วยตนเองเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

การเมืองยังคงกดดัน Fund Flow

    ศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 255 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 64%) เริ่มจากไต้หวัน สลับมาขายสุทธิราว 191 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยเกาหลีใต้ขายสุทธิเป็นวันที่ 7 ราว 66 ล้านเหรียญฯ (ลดลงจากวันก่อนหน้า 72%) และ ไทยสลับมาขายสุทธิเช่นกัน ราว 58 ล้านเหรียญฯ (1.9 พันล้านบาท เป็นการขายสลับซื้อใน 4 วันหลังสุด) สวนทางกับ อินโดนีเซียที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 42 ล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาซื้อสุทธิราว 17 ล้านเหรียญฯ 

 ในส่วนของประเทศไทย ประเด็นทางการเมืองยังคงกดดันตลาด ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มสลับมาขายอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ของไทย นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิติดต่อกันถึง 4 วัน รวมถึง 1.6 หมื่นล้านบาท มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 32.62 บาทต่อเหรียญฯ

แม้มีโอกาสการปรับลดกำไรตลาดหุ้นไทยแต่ไม่น่าเกิน 1-2%  

      นอกจากปัจจัยทางการเมืองที่กดดันตลาดหุ้นไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา อีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจ และถือว่ามีความสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าก็คือ   โอกาสการปรับลดประมาณการกำไร ของตลาดหุ้นไทยยังมีอยู่อีกมากน้อยเพียงใด  โดยหากอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากรวบรวมโดย Bloomberg ล่าสุดพบว่า นักวิเคราะห์ในตลาดได้ประเมินกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยไว้ค่อนข้างสูงคืออยู่ที่ 104 บาท และ 108 บาท หรือการเติบโต (EPS Growth) ราว 18%yoy  และ 13.5%yoy ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับที่ ASP ประเมินไว้เพียง 100.96 บาท   และ  112.83 บาทในปี 2557-2558  หรือ เติบโตราว  12.4%  และ 11.75%  ตามลำดับ   จึงทำให้ตลาดมีโอกาสปรับลดประมาณการกำไรค่อนข้างสูง

    แต่อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัย ASP ได้มีการปรับลดประมาณการกำไรลงไปแล้ว เมื่อต้นเดือน เดือน ม.ค. ปี 2557 (อ่านรายละเอียดใน Market Talk 8 ม.ค. 2557) ส่วนแนวโน้มที่จะปรับลดลงจากนี้มีมากน้อยเพียงใด จากการสำรวจความคิดเห็นและอ้างอิงจากบทวิเคราะห์ ASP หลังการรายงานงบงวด 1Q57  หรือที่ได้ทำ Earnings preview  คาดว่าจะมีการปรับลดกำไรจากเดิมราว 1-2% เท่านั้น เพราะแม้จะมีการปรับลดลงในบางกลุ่ม แต่ก็จะมีหุ้นในกลุ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาชดเชย คือ  

 

โอกาสปรับลดลง

      ค้าปลีก   :  มีแนวโน้มปรับลดจาก ROBINS   แม้ งวด 1Q57 กำไรจะอ่อนตัว  ตามกำลังซื้อที่ชะลอตัวจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมายาวนาน  และ คาดว่าจะต่อเนื่องในงวด 2Q57 ก่อนที่จะฟื้นตัวในงวด 2H57   โดยเฉพาะ ROBINS(ขาย : FV@B52)   จึงทำให้มีโอกาสจะปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 ลงจากาเดิม ขณะ BIGC(ขาย : FV@B193) แม้จะรายงานกำไรสุทธิต่ำกว่าคาดมาก และ งวดนิ้คิดเป็น 18% ของประมาณการ  และ จะทรงตัวในงวด 2Q57 แต่มีแนวโน้มดีขึ้นในงวด 2H57 จึงยังคงประมาณการกำไรไว้ที่เดิม  ส่วนอีก 2 บริษัทคือ MAKRO (ถือ : FV@B34)  และ CPALL (ซื้อ : FV@B50)  ยังคงประมาณการเดิม แม้ผลกำไรงวด 1Q57  ของ CPALL ต่ำกว่าคาด 4% ยกเว้น SINGER(ถือ : FV@B19.95)  ยังคงประคองตัวได้  แม้จะกระทบจากปัญหาการเมืองก็ตาม เพราะมีบางผลิตภัณฑ์ยังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น เครื่องเติมน้ำมันแบบหยอดเหรียญ/เครื่องเติมเงินโทรศัพท์มือถือ

     สินเชื่อรายย่อย :  มีแนวโน้มปรับลดประมาณการในอนาคตหาก NPLs เพิ่ม คาดว่าผลกำไรน่าจะยังคงประคองตัวได้ แต่มีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรในอนาคต หาก NPLs เพิ่มจะทำให้การตั้งสำรองฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เริ่มจาก IFS(ถือ : FV@B2.62)  แม้คาดว่ากำไรงวด 1Q57 ยังกระเตื้องขึ้นจาก yoy และ qoq แต่เป็นผลจากการลดปริมาณการตั้งสำรองฯ ลง ยกเว้น  AEONTS (ซื้อ : FV@B121) ยังคงประมาณการปี 2557/58-59 หลังจากตั้งสำรองหนี้ไปมากในปี 2556 แม้สถานการณ์การเมืองยังไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจในประเทศ แต่การเน้นการเติบโตที่ธุรกิจต่างประเทศช่วยหักล้างผลกระทบจากธุรกิจในประเทศที่ยังชะลอตัว 

    พลังงาน   :   ปรับลดประมาณตาม TOP, PTT  คาดว่าจะปรับลดกำไรกลุ่มฯ ลงประมาณ 3% หลักๆ มาจากการปรับลด 2 บริษัท ตั้งแต่ก่อนประกาศงบ 1Q57 คือ  PTT (FV@B360) ปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ลงจากเดิม 3.7% และ 3.2% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากบริษัทย่อย ที่อยู่ในธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงาน (PTTGC, TOP) พบว่าธุรกิจอะโรเมติกส์แย่กว่าคาด  แม้ได้รับชดเชยจาก  สายโอเลฟินส์ก็ตาม ตามมาด้วย TOP (FV@B56) ปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 และ 2558 ลงจากเดิม 30% และ 15% ตามลำดับ จากธุรกิจอะโรเมติกส์แย่กว่าคาดการณ์ข้างต้น  และเกิดจากการหยุดเดินเครื่องซ่อมบำรุงโรงกลั่น  ซึ่งน่าจะกดดันให้กำไรในงวด 2Q57  ต่ำกว่างวด 1Q57 และต่ำสุดของปี 2557  ขณะที่ธุรกิจที่เหลือคาดว่าจะยังคงประมาณการเดิม และ คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นชัดเจน ในงวด 2Q57 เป็นต้นไป คือ IRPC (FV@B4.2) และ PTTEP (FV@B195)    

     กลุ่มเกษตร-อาหาร  :  มีโอกาสปรับลดจาก CPF/GFPT คาดกำไรงวด 1Q57 ยังเป็นไปตามคาด  แม้ต้นทุนอาหารสัตว์ (ข้าวโพด และ กากถั่วเหลือง)จะปรับเพิ่มขึ้น  (กระทบผู้ประกอบการหลักคือ  CPF(ถือ: FV@B33.8) และ GFPT (ถือ: FV@B16) ) แต่ยังมีสต็อกวัตถุดิบราคาต่ำอยู่ตั้งแต่สิ้นปี 2556 แต่ได้ชดเชยจากกุ้งที่ดีขึ้น หลังแก้ไขโรคตายด่วน  แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรใน งวด 2Q57 และ 3Q57     จึงมีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรปี 2557 ลงทั้ง 2 แห่ง  ทั้งนี้ยกเว้น TUF (ซื้อ: FV@B76)  คาดว่าจะยังคงประมาณกำไรเดิม แม้กำไรงวด 1Q57 จะชะลอตัว จากผลของช่วงนอกฤดูกาล  แต่จะมีแนวโน้มดีขึ้นในอีก 2ไตรมาสข้างหน้า (มิ.ย.-ก.ค. 57 ผลผลิตกุ้งจะออกสู่ตลาดมากขึ้น)  ขณะที่ไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นข้างต้น เพราะวัตถุดิบหลักคือ ปลาป่น เป็นต้น และหุ้นอาหารที่คาดว่ามีโอกาสปรับลดประมาณการคือ M (ถือ: FV@B58) หลังจากยอดขายร้านอาหารเดิมชะลอตัวลงแรงจากปัญหาการเมือง และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

      วัสดุก่อสร้าง  : มีโอกาสปรับลดจาก DRT คาดว่างวด 1Q57 ผลประกอบการน่าจะเป็นไปตามคาด แต่เริ่มชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้  เนื่องจากเข้าสู่หน้าฝนซึ่งเป็นช่วง Low Season และยังมีปัจจัยกดดันจากปัญหาการเมือง  ทำให้มีโอกาสปรับลดประมาณการลงบางบริษัท  โดยเฉพาะ DRT(ถือ : FV@B7.56) ซึ่งจากการทำ Earning Preview คาดว่าในงวด 1Q57 จะมีกำไรสุทธิลดลง 20% YoY ตามกำลังซื้อที่ลดลง แม้ว่าจะเป็นช่วง High Season ในขณะที่สภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยทำให้มีโอกาสปรับประมาณการกำไรลงจากเดิมที่คาดว่าจะโต 16%YoY   ส่วน  SCC(ซื้อ : FV@B520) มีกำไรสุทธิงวด 1Q57 ต่ำกว่าคาด 11% แต่ยังคงประมาณการเดิมเนื่องจากเชื่อว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 จะเป็นขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมี  ขณะที่  TASCO (ซื้อ : FV@B69) และ TPIPL (ซื้อ : FV@B14.27) คาดว่าในงวด 1Q57 จะพลิกจากขาดทุนมามีกำไร  และคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น จึงยังคงประมาณการเดิม ขณะที่ DCC(ถือ : FV@B55.78) รายงานกำไรสุทธิงวด 1Q57 ลดลง 14% YoY แต่เป็นไปตามคาด จึงคงประมาณการเดิม 

 

ปรับประมาณการขึ้น 

     ก่อสร้าง :    ปรับเพิ่มกำไร SYNTEC   คาดว่ากำไรจะยังคงเป็นไปตามประมาณการ เนื่องจากมี Backlog ที่พร้อมจะรับรู้รายได้อยู่เป็นจำนวนที่แน่นอน  แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองบ้างก็ตาม ทั้งนี้จากการทำ Earnings Preview  รายบริษัทคาดว่ามีความแตกต่างกัน กล่าวคือ  SEAFCO (ซื้อ : FV@B6.03)  คาดจะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 20% QoQ และจะยังเพิ่มขึ้นโดดเด่นใน 2Q57 จาก Backlog ที่จะรับรู้รายได้อย่างชัดเจน  ขณะที่ STPI(ซื้อ : FV@B28.36) คาดว่าจะมีกำไรลดลงเล็กน้อย 5% QoQ แต่ในส่วนที่เหลือของปียังคาดว่าจะมีผลประกอบการก้าวกระโดดจาก โครงการ Ichthys และ อุตสาหกรรม LNG ที่เติบโตจึงยังคงประมาณการเดิม และ SYNTEC (ซื้อ : FV@B1.93) คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไร 71 ล้านบาทจากการขาดทุนในงวดก่อนหน้า ขณะที่สิ้นปี 2556 มี Back log สูงสุดเป็นประวัติการถึง 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้นอีก 23% เป็น 257 ล้านบาท

  โรงพยาบาล  : มีแนวโน้มปรับขึ้นตาม BGH คาดว่าผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองต่อหุ้นโรงพยาบาล อาจจะน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะสามารถปรับเพิ่มค่าบริการชดเชยได้ ขณะที่ประมาณการเดิมได้ใช้สมมติฐานที่ค่อนข้างระมัดระวังสูง ทำให้มีโอกาสยืนกำไรไว้ที่เดิม โดยเฉพาะ BH(FV@B110)   ยกเว้น BGH(FV@B17.5) กำไรงวด 1Q57  คาดว่าจะดีกว่าที่คาดมาก เพราะปริมาณคนไข้ลดลงน้อยกว่าคาด   และ สามารถตัดลงค่าใช้จ่ายลง ทำให้นักวิเคราะห์ ASP  ปรับเพิ่มประมาณการกำไรขึ้น ตอนทำ Earnings Preview จากเดิมเฉลี่ย 7% ในปี 2557-2558      

   ชิ้นส่วนฯ : ปรับเพิ่มประมาณขึ้นตาม KCE  ช่วงทำ Earnings preview นักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2557-2558  ขึ้นจากเดิม 39% และ 31% ตามลำดับ เนื่องจากยอดขายและประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีขึ้น นอกจากนี้ประมาณการปี 2557  ยังไม่ได้รวมเงินประกันจากการหยุดชะงักทางธุรกิจอีก 400 ล้านบาท จากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 ขณะที่ยังคงประมาณการหุ้นอื่น ๆในกลุ่มคือ หลังจากประกาศงบแล้ว คือ DELTA (ซื้อ : FV@B70.4) คาดยังเห็นการเติบโตที่ดีในช่วงครึ่งปีหลังจากการขยายฐานลูกค้าสู่ประเทศใหม่ๆ และ SVI (ซื้อ : FV@B5.08)  แม้กำไรงวด 1Q57 คิดเป็น 19% ของประมาณการทั้งปี  แต่มีแนวโน้มเติบโตทั้งลูกค้าใหม่และเก่า และ Gross Margin ที่สูงขึ้นหลังเลือกรับผลิตสินค้า high end ที่มี margin สูง

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132

ผู้ช่วยนักวิเคราะห์ พบชัย ภัทราวิชญ์ กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!