WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.เผย Q1/57 สินเชื่อแบงก์โตชะลอลง-NPL เพิ่ม แต่เชื่อรองรับวิกฤตศก.ได้

     นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/57 สินเชื่อขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยลง แต่ธนาคารพาณิชย์ยังมีเงินสำรองเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ความสามารถในการดำเนินงานดี และเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง

    "การขยายตัวของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอลงมาอยู่ที่ 9.8% ลดลงจากไตรมาส 4/56 ที่ขยายตัว 11% นับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่า 10% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 53 และที่เคยทำสถิติขยายตัวได้สูงสุด 15% ในปี 54 แต่อัตราการขยายตัวในปัจจุบันที่ 9.8% นั้นไม่ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้ในระดับนี้"

     ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 69.6% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 9.4% ชะลอลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการพาณิชย์ เป็นสำคัญ, สินเชื่อ SME (สัดส่วน 37.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 11.7% ชะลอตัวลงเป็นไตรมาสแรก หลังจากที่ขยายตัวสูงมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา, สินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน 30.4% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 10.7% ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 12.9% ซึ่งเป็นการชะลอตัวในทุกประเภทสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ขยายตัว 2.5% จากฐานที่สูงในปีก่อนตามมาตรการรถคันแรก

      ขณะที่คุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มด้อยลง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 แสนล้านบาท จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อเอสเอ็มอีส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.3% และ 1.1% ตามลำดับ

   นายอานุภาพ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อด้อยลงด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อไม่รู้อีกนานแค่ไหน การปรับตัวของภาคธุรกิจ และการดูแลสภาพคล่องธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลงต่อเนื่องเหลือประมาณ 8-10% และหลังจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์บางรายก็ปรับลดลงเหลือ 6-8%

   "ขณะนี้มีความน่าเป็นห่วงสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจและสถานการณ์ต่างๆ มากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะมีสายป่านสั้น มีเงินทุนน้อย เมื่อประสบปัญหาอะไรก็จะกระทบต่อสภาพคล่อง และทำให้เกิดปัญหา NPL ขึ้นได้ ส่วน NPL ในสินเชื่อภาคครัวเรือนก็ยอมรับว่าได้รับผลกระทบพอสมควร แต่เบื้องต้นจะเห็นว่ารายย่อยก็มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะได้รับผลกระทบทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ส่งผลให้คำขอสินเชื่ออุปโภคบริโภคน้อยลง"นายอานุภาพ กล่าว

      สำหรับสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้าง 2.9 แสนล้านบาท ลดลง จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือ 2.3%

     อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ได้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมาอยู่ที่ระดับ 169.8%

    "ยืนยันว่าธนาคารของไทยยังมีเสถียรภาพมีเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เงินบาทอ่อน NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อ ได้อีกอย่างน้อย 2 ปี"นายอานุภาพ ระบุ

    ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง ตามภาวะดอกเบี้ยขาลงและสินเชื่อที่ชะลอตัว โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(NIM)ลดลงเหลือ 2.52% อย่างไรก็ดี การกันสำรองที่ลดลงหลังจากที่กันไว้มากแล้วในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 5.05 หมื่นล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(ROA)เพิ่มขึ้นเป็น 1.26% เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงทรงตัวที่ 12.6% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงลดลงเล็กน้อยเป็น 15.5% เนื่องจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิและการทยอยลดนับตราสารหนี้ที่คุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ Basel III

อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!