WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.เผยเอ็นพีแอลเช่าซื้อเริ่มทรงตัว หลังจบโครงการรถคันแรก-แบงก์ประนอมหนี้ แถมลูกค้าไม่อยากปล่อยให้รถถูกยึด

    นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเอ็นพีแอล จากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์น่าจะเริ่มทรงตัวแล้ว โดยเฉพาะสินเชื่อที่ปล่อยผ่านโครงการรถยนต์คันแรก เพราะโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการผ่อนชำระผ่านมา 2 ปีแล้ว ซึ่งโดยธรรมชาติคนมักจะไม่ทิ้งรถยนต์หรือยอมปล่อยให้เกิดเป็นเอ็นพีแอลแล้ว

    "โดยธรรมชาติของรถยนต์ ถ้าผ่อนไป 2 ปี รับรองว่าไม่ทิ้งแล้ว แต่ถ้าไม่ถึงก็มีสิทธิทิ้งได้ เพราะระยะเวลา 2 ปี ถือว่าผ่อนมาเกือบครึ่งทางแล้ว อีกทั้งเงินที่ได้คืนจากภาครัฐก็สามารถนำมาผ่อนชำระคืนต่อได้ จึงสามารถถูไถไปได้ การทิ้งรถยนต์ในช่วงนี้จึงไม่น่าจะคุ้ม เพราะราคารถยนต์มือ 2 เองก็ไม่ค่อยดีด้วย ดังนั้นแนวโน้มเอ็นพีแอลจึงไม่น่าจะมากไปกว่านี้" นายรณดลกล่าว

     นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์เองก็ใช้วิธีประนอมหนี้โดยยอมยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ หรือลดในส่วนของดอกเบี้ยชำระลง เพราะธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่ต้องการจะยึดรถ เนื่องจากยึดไปก็มีภาระต้องนำไปขายทอดตลาด ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับหลักประกันที่ยึดมาด้วย

    "ตอนนี้แบงก์เองก็ไม่ค่อยอยากยึดรถที่ค้างชำระหนี้มากนัก เพราะยึดมาก็มีภาระต้องนำออกขาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือไม่ หลายแห่งจึงปรับกลยุทธ์โดยการประนอมหนี้ให้กับลูกค้า ยอมให้ผ่อนชำระยาวนานขึ้น หรืออาจลดดอกเบี้ยลงให้บ้าง ซึ่งก็ขึ้นกับกลยุทธ์แต่ละแห่งที่นำมาใช้"นายรณดลกล่าว

     สำหรับ เอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาส 2 ปี 2557 พบว่า มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 2.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 2.2% ขณะที่สินเชื่อที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะยอดค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน (เอสเอ็ม) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2557 อยู่ที่ 8.2% จากสิ้นไตรมาสแรกปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 7.7%

     นอกจากนี้ นายรณดล ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าการลบรายชื่อบุคคลที่มีชื่อค้างชำระหนี้ใน บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ "เครดิตบูโร" ออกจากระบบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม หลักมีประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว ยังต้องให้เวลาทาง เครดิตบูโร อีก 30 วัน เพื่อให้เขาดึงข้อมูลของคนที่มีประวัติค้างชำระเกินกว่า 8 ปี ออกจากระบบ

    นายรณดล เชื่อว่า การปลดรายชื่อบุคคลที่มียอดการค้างชำระหนี้เกินกว่า 8 ปี ออกจากระบบเครดิตบูโร ถือเป็นการให้โอกาสกับบุคคลเหล่านี้ และเชื่อว่าบุคคลที่เคยติดเครดิตบูโรจะมีวินัยในการใช้เงินเป็นพิเศษ เพราะมีประสบการณ์โดยทราบดีว่า หากมีข้อมูลติดอยู่ในเครดิตบูโร จะทำธุรกรรมการเงินเป็นไปอย่างอยากลำบาก ดังนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จึงมีวินัยการเงินที่มากขึ้น

 สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!