WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แบงก์ชาติคงคาดการณ์ จีดีพี ปีนี้โต 1.5% แม้ส่งออกแค่ทรงตัว แต่การลงทุนภาครัฐ-เอกชนหนุน ส่วนปี 58 หั่นเหลือโต 4.8% จากเดิมคาดโต 5.5%

    ธปท. คงคาดการณ์ จีดีพี ปีนี้โต 1.5% แม้ลดเป้าส่งออกเหลือโต 0% แต่ได้การใช้จ่ายภาครัฐและเอกชนหนุน ส่วนปีหน้าคาดโต 4.8% ลดจากเดิมที่คาดโต 5.5% เพราะส่งออกและท่องเที่ยวยังฟื้นช้า ส่วนนำเข้าปีนี้ติดลบเพิ่มขึ้น 6.8% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัว 9.5% ขณะที่ดุลบัญชีฯ เกินดุล 11.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาด 11.7 พันล้านดอลลาร์ และจะเข้าสู่สมดุลในปี 58

    นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 58 ลดลงเหลือ 4.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.5% เนื่องจากการส่งออกที่ยังชะลอตัวลง ประกอบกับยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการฟื้นตัวช้าๆ ขณะที่ในปีนี้ ธปท.ยังคงเป้าหมายจีดีพืที่ 1.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชน ที่จะมาช่วยชดเชยการส่งออก

    “แรงส่งจากการใช้จ่ายในประเทศจะช่วยชดเชยด้านการส่งออกที่ยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า และยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตในประเทศของไทยส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกค่อนข้างมาก ข้อจำกัดจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง รวมทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวล่าช้าตามความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้หลายประเทศยังไม่ลดการประกาศเตือนการเดินทางมาประเทศไทย”นายเมธี กล่าว

   ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่จะออกมา เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนก่อนว่าจะมีแผนการดำเนินงานอย่างไรบ้าง

    นอกจากนี้ ธปท.ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโต 0% หรือไม่เติบโต จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3% ขณะที่ปีหน้าปรับลดลงเหลือ 4% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 6% เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า จากการที่เศรษฐกิจคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับข้อจำกัดด้านการผลิตยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข เช่น เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดโลก และโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ทำให้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ

    ขณะที่การส่งออกบริการที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ตามความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในและนอกประเทศ ทั้งนี้ การส่งออกที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลงจากเดิมมาก ทำให้เศรษฐกิจในปี 58 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมด้วย

   “การส่งออกฟื้นตัวช้ามาจากหลายสาเหตุเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอลงเล็กน้อย โดยเฉพาะยูโร และญี่ปุ่น เทคโนโลยีการผลิตของไทยมีข้อจำกัด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ขาดการลงทุนใหม่ๆมานาน การส่งออกรถยนต์ขยายตัวต่ำกว่าในอดีต เพราะไทยส่งออกรถยนต์ขนาดเล็กมากขึ้น และอินโดนีเซียขยายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและเริ่มแข่งขันในตลาดส่งออก ราคาข้าวและยางพาราตกต่ำ ทำให้ไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก”นายเมธี กล่าว

     อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าบางรายการยังมีแนวโน้มปรับตัวดีต่อเนื่อง เช่น ปิโตเคมี เครื่องจักร และอุปกรณ์ สินค้าเกษตรแปรรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งในระยะต่อไปเมื่อภาคการผลิตมีการปรับตัว เพื่อลดข้อจำกัดที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันน่าจะช่วยใหไทยได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น และส่งผลดีต่อภาคการผลิต รายได้ของภาคครัวเรือน พร้อมทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต

    ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ปรับลดการนำเข้าปีนี้เป็นติดลบ 6.8% จากเดิมที่ติดลบ 3.6% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 9.5% จากประมาณการครั้งก่อนที่ 12% เนื่องจากการนำเข้าสินค้ายังหันตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมน้ำมันดิบที่หดตัวตามภาวะการผลิต การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ยังคงฟื้นตัวช้าๆเป็นตัวกดดัน

    “ด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังหดตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับภาวะการบริโภคบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงนี้ด้วย”นายเมธี กล่าว

    ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 2/57 โดยเฉพาะการซื้อสินค้าไม่คงทน และบริการปรับดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ตามความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ดูแลกำลังซื้อของประชาชน เช่น การเร่งชำระหนี้ให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว การลดราคาน้ำมัน ในประเทศ การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้า และสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายสินค้าคงทนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ส่งผลให้ครึ่งปีหลังคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มใกล้ปกติ

    “การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังเป็นระดับต่ำกว่าแนวโน้มปกติ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและรายได้เกษตรกรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ  แต่คาดว่าการใช้จ่ายในสินค้าคงทนจะค่อยๆฟื้นตัว และมีแนวโน้มเข้าใกล้ปกติในช่วงครึ่งปีหลัง"นายเมธี กล่าว

    นายเมธี กล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท.ได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงเหลือ 1.6% จาก 1.7% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปปรับลงเหลือ 2.2% จาก 2.6% ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และนโยบายปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศของภาครัฐ ราคาสินค้าเกษตรกลุ่มอาหารสดภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวที่สูงขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ราคากุ้งและสุกรเริ่มโน้มลงหลังปัญหาโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย

     อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อค่อนข้างสมดุล โดยความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่ากรณีฐานจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาทำได้มากกว่าที่คาดในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และแนวโน้มการปรับราคาก๊าซแอลพีจี ใกล้เคียงกับความเสี่งเงินเฟ้อจะต่ำกว่ากรณีฐาน ตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่น้อยกว่า หากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าประมาณการไว้ในกรณีฐาน

     “แรงกดดันด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่น่ากังวลเพราะการคาดการณ์เงินเฟ้อยังคงทรงตัว”นายเมธี กล่าว

    ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าในปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 11.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 11.7 พันล้านดอลลาร์ ส่วนปีหน้าคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มเข้าใกล้สมดุล โดยจะเกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์ ตามการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และเครื่องจักร สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ค่อยๆฟื้นตัวด้วย 

 สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!