WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00%-เล็งลด GDP ปี 57-58 หลัง Q3/57 ฟื้นช้า

    คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ต่อปี เนื่องจากคณะกรรมการ ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยกรรมการ 1 เสียงที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี เพราะมองว่านโยบายการเงินควรผ่อนปรนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มองว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อย และมีความแตกต่างระหว่างภูมิภาคมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรและญี่ปุ่นยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงที่อัตราการขยายตัวจะชะลอลงอีก ส่วนเศรษฐกิจจีนและเอเชียมีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อย

   ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวช้าซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด และการส่งออกที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกจะกระเตื้องขึ้นในปีหน้าตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มสูงกว่าปีนี้ รวมทั้งเศรษฐกิจควรได้รับการขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนทยอยตามมา สำหรับเสถียรภาพการเงินในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตร และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

    "คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี" นายเมธี กล่าว

    ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ แสดงความห่วงใยต่อปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลก และความรวดเร็วของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ โดย 1 ท่านเห็นว่านโยบายการเงินควรผ่อนปรนเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

    คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมเพื่อรักษาแรงสนับสนุนที่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพ

   นายเมธี กล่าวว่า จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 57 และ 58 อีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ โดยเห็นว่ายังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังทั้งภายในและภายนอกประเทศ ใน มาจากการเบิกจ่ายของภาครัฐ ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้า และภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่หากการลงทุนภาครัฐสามารถทำได้ตามเป้าหมาย และมีการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เพราะถ้าเร่งการลงทุน ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เอกชนได้ตัดสินใจและลงทุนตาม

    อย่างไรก็ดี หากภาวะเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ธปท.จะพิจารณาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57 และส่งออกปี 57 ลง ซึ่งมีแนวโน้มว่าการส่งออกจะติดลบจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0% ขณะที่ในปี 58 อาจจะมีการปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมเช่นกัน แต่มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปีนี้

   สำหรับ เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้ สาเหตุหลักเป็นเพราะดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศต่างเผชิญกับภาวะค่าเงินอ่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวของตลาด ดังนั้น ธปท.คงไม่ต้องเข้าไปดำเนินการอะไร เพราะต้องปล่อยให้ค่าเงินปรับตัวสอดคล้องไปกับประเทศอื่นๆ แต่จะยังติดตามทิศทางค่าเงินในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด

    นายเมธี กล่าวถึงมาตรการ QE ของทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นว่า มาตรการทางการเงินของญี่ปุ่นที่ออกมาจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก ส่วนของสหรัฐฯ จากที่ยุติ QE แล้วนั้น คงต้องรอดูว่าจากนี้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร ดังนั้นเชื่อว่าความผันผวนในช่วงแรกคงจะไม่เกิดขึ้น ส่วนแผนรองรับของไทยก็มีอยู่ และได้ดำเนินการมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้คงต้องชี้แจงและทำความเข้าใจแก่ตลาดในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงและความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!