WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผู้ว่า ธปท.ชี้แนวโน้มศก.โลกปีหน้าสดใส แต่มอง ศก.ยุโรป-ญี่ปุ่นเป็นปัจจัยเสี่ยงต้องจับตาใกล้ชิด แนะไทยปรับตัวรองรับความเสี่ยง

   ผู้ว่า ธปท. ชี้ แนวโน้มศก.โลกปีหน้าสดใส แต่มอง ศก.ยุโรป, ญี่ปุ่นเป็นปัจจัยเสี่ยงสั่งจับตาใกล้ชิด แนะไทยปรับตัวรองรับความเสี่ยง พร้อมเผยแบงก์ห่วงปรับโครงสร้างหนี้ กรณี สนช.ไฟเขียว พ.ร.บ.ค้ำประกัน

   นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในส่วนของสหรัฐที่มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้คงต้องจับตายุโรปที่ยังน่าเป็นห่วงในเรื่องของการดำเนินนโยบายการเงิน เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีปัญหาที่จะต้องแก้ทั้งในเรื่องของนโยบายการเงิน และการปรับโครงสร้างต่างๆ

   ในขณะที่ประเทศไทยนั้น มองว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ไทยจะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งในประเทศ เพื่อรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี

   “โชคดีที่ยังมีอาเซียนที่ตอนนี้มีความปลอดภัยเมื่อเทียบกับหลายส่วนทั่วโลก ด้านสหรัฐตอนนี้ดูเหมือนว่าจะมีแสงสว่างมากกว่ายุโรป และญี่ปุ่น ขณะที่ไทยจะต้องคอยเฝ้าระวังและติดตาม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง”นายประสาร กล่าว

   นายประสาร กล่าวถึงพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ....ว่าด้วย ค้ำประกัน และจำนอง ที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.และผ่านสภาฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลในการบังคับใช้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับข้อมูลและข้อกังวลอย่างเป็นทางการของสมาคมธนาคารไทยล่าสุด แต่ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับตัวแทนบ้างแล้ว ซึ่งธนาคารมีความเป็นห่วงในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างการรวบรวมและหาจุดสมดุลในการแก้ไขให้กับผู้กู้ ผู้ให้กู้ และผู้ค้ำประกัน

   "คือก่อนหน้าที่คุยกับแบงก์ แบงก์บอกไม่มีปัญหา เพราะถ้านาย ก.  ผู้กู้ดูไม่น่าปล่อย ก็ดึงนาย ข. มาเป็นลูกหนี้ด้วยเลย ซึ่งตามหลักนาย ข.ก็คงไม่ยอมหรอกสุดท้ายแบงก์ก็จะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับ นาย ก. เรากำลังดูปัญหา ส่วนจะแก้ไขได้ไม่ ผมไม่ตอบ เนื่องจากเป็นการล่วงอำนาจสภานิติบัญญัตที่เป็นผู้ออกกฎหมาย"นายประสาร กล่าว

   ทั้งนี้ นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า อะไรที่เป็นกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น ทุกอย่างมันสามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน แต่คงไม่สามารถระบุได้ว่าจะแก้ไขในส่วนใดบ้าง

  นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวว่าตามที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ได้มีการออกประกาศให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์สามารถสมัครเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตได้นั้น มองว่า จะส่งผลให้สถาบันการเงินมีประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่ลูกหนี้สามารถรักษาวินัยทางการเงินได้ รวมไปถึงช่วยให้สมาชิกรายย่อยสามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย

   อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้กู้นั้นสถาบันการเงินจะคำนึงถึง 3 ขั้นตอนในการประกอบการพิจารณา คือ 1.การพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อหรือไม่ 2.หลังจากให้สินเชื่อแล้วจะสามารถติดตามทวงถามหนี้ภายหลังได้หรือไม่ 3.เมื่อมีปัญหาในเรื่องของการชำระหนี้หรือผิดสัญญาแล้วจะสามารถทำให้สินเชื่อมีประสิทธิผลในการดำเนินงานได้อย่างไร

   สำหรับ แนวทางในการดึงสหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาเป็นสมาชิกในเครดิตบูโรนั้น มองว่าจะช่วยให้สหกรณ์มีข้อมูลของผู้กู้เพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้กู้มีหนี้กับสถาบันการเงินอื่นๆอยู่หรือไม่ พฤติกรรมในการชำระหนี้เป็นอย่างไร ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในสหกรณ์ 11 ล้านคน มูลค่าสินเชื่อ 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของสินเชื่อทั้งระบบ

   “เราพยายามดึงสหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิต เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าสหกรณ์มีความใกล้ชิดกับรายย่อยมาก รู้ที่มาที่ไปรายได้ รู้ว่ามีงานทำหรือไม่ รวมไปถึงหากมีการผิดนัดชำระยังสามารถหักจากเงินเดือนได้ เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในสังกัดที่มีการแต่งตั้งสหกรณ์อยู่แล้ว แต่การเข้าไปเครดิตนั้นจะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น สหกรณ์สามารถตรวจสอบได้ว่าลูกหนี้ที่ขอกู้พฤติกรรมการชำระหนี้เป็นอย่างไร เป็นต้น”นายประสาร กล่าว

   นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.ยอมรับว่า สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นองค์กรที่ดี แต่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีบางกรณีที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ไม่สมควรได้ แต่ได้รับสินเชื่อ เช่นกลุ่มที่มีภาระหนี้สินมาก และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ควรได้รับการพิจารณาในการได้รับสินเชื่อ แต่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อสหกรณ์เข้ามาอยู่ในเครดิตบูโรจะสามารถตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ได้มากขึ้น

   ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนนั้น เป็นเรื่องที่ธปท.ได้มีการจุดประเด็นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ว่าจะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งจะต้องเร่งหาทางออกเพื่อให้ผู้กู้และผู้ให้กู้นั้นมีวินัยทางเครดิต บางครั้งการปล่อยสินเชื่อที่ผิดพลาดอาจเกิดจากการไม่มีข้อมูลของผู้กู้ ซึ่งการให้สหกรณ์เข้ามาอยู่ในเครดิตนั้นจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งได้อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ ธปท.จะไม่เข้าไปยุ่งในส่วนของกิจการของสหกรณ์ที่มีการดำเนินการอยู่อย่างแน่นอน เนื่องจากทางสหกรณ์ได้ดำเนินการดีอยู่แล้ว

   นอกจากนี้ ล่าสุด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 10 ล้านบัญชี ที่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยนั้น เตรียมที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกข้อมูลเครดิตแห่งชาติเช่นเดียวกัน

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ผู้ว่า ธปท.เผยปี 58 ยังเกาะติดภาวะ ศก.โลก-ดูแลสมดุลในประเทศ

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ในปี 58 ธปท.ยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังถือว่าโชคดีที่เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนยังมีความเข้มแข็ง เมื่อเทียบกับหลายภูมิภาคในโลก

   โดยมองว่าแม้ปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีโอกาสในการเติบโตได้ดีกว่า แต่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังมีความผันผวน ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ยังน่าเป็นห่วงในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นแต่การดูแลในเรื่องนโยบายการเงิน ขณะที่เศรษฐกิจของจีนยังชะลอตัว และต้องติดตามต่อไป และจากที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวมากกว่าที่อื่นนั้น ก็จะต้องมาพิจารณาว่าจะใช้จุดนี้เป็นโอกาสต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร

   ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นนั้น ประเทศไทยต้องดูแลและสร้างสมดุลเศรษฐกิจ 4 ด้าน ได้แก่ นโยบายการเงินในรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย, ระบบสถาบันการเงิน ต้องดูแลคุณภาพสินเชื่อ, ฐานะการคลังของประเทศที่ต้องมีเสถียรภาพ ซึ่งไทยได้รับการยอมรับและมีความเชื่อมั่นจากต่างชาติในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งดูแลความสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย

    ส่วนแนวโน้มที่ไทยอาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นปี 59 จากเดิมที่คาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งได้ในปี 58 นั้น ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!