WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.คาดจีดีพีปี 58 โต 4% ชี้ การบริโภค -ลงทุนรัฐ -ราคาน้ำมันลด -ท่องเที่ยว ดัน ศก.ฟื้น ส่วนปีนี้ ประเมินแบงก์พาณิชย์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อโตเฉลี่ย 7%

  ธปท.คาดจีดีพีปี58 โต 4% ชี้ การบริโภค -ลงทุนรัฐ -ราคาน้ำมันลด -ท่องเที่ยว ดัน ศก.ฟื้น พร้อมระบุ แบงก์พาณิชย์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี58 โตเฉลี่ย 7% คาดอุตสาหกรรมก่อสร้าง - อสังหาฯ - สาธารณูปโภคขยายตัวดี มองแนวโน้ม NPL ไตรมาสแรกปีนี้ยังเพิ่มขึ้นจากสินเชื่ออุปโภค-บริโภค หลัง ศก.เริ่มฟื้น

  นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลาย ส่วนปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ ประกอบด้วย การบริโภคที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลง การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนในการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกแนวทางหนึ่ง

   แต่ทั้งนี้แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่เสถียรภาพระบบการเงินของไทยยังมีความท้าทายทั้งจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวเปราะบาง ประกอบกับนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศหลัก มีแนวโน้มแตกต่างกัน

  นางทองอุไร เปิดเผยด้วยว่า ในปี 2558 ธนาคารพาณิชย์ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยโต 7% โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กเฉลี่ยโต 10% และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เฉลี่ยโต 5-9% ซึ่งการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปีนี้คาดว่าจะโตจากสินเชื่อกลุ่มก่อสร้าง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสาธารณูปโภค

  ขณะเดียวกันในปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังมุ่งเน้นเข้าสู่ดิจิทัล แบงก์กิ้ง เซอร์วิส มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงจะช่วยเพิ่มในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมจากปริมาณธุรกรรมที่คาดว่าจะสูงขึ้น

 "ในปีนี้เฉลี่ยแล้วธนาคารพาณิชย์จะสามารถขยายตัวในส่วนของสินเชื่อได้ประมาณ 7% เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่สินเชื่อเฉลี่ยโต 5% โดยสินเชื่อจะเจาะกลุ่มอยู่ที่ก่อสร้าง อสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐานและเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่จะเน้นการออกหุ้นกู้เป็นหลัก ส่วนการขอสินเชื่อของแบงก์ในธุรกิจขนาดใหญ่จะเน้นเพื่อการขอเป็นเงินทุนหมุนเวียนเท่านั้น"นางทองอุไร กล่าว

   ทั้งนี้ ธปท. คาดการณ์ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ  NPL ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2558 มีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2557 ที่อยู่ที่ 2.34% แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ที่ผ่านมา NPL ในกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวค่อนข้างมากอยู่ที่ระดับ 2.65% จากเดิมที่ 2.20% ในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกอาจเห็นสินเชื่อในกลุ่มดังกล่าวยังขยับตัวอีกเล็กน้อย

  "แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น  แต่ NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคที่มักจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มแรก ในเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา ส่งผลให้ NPL ค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้หลังจากนี้ไปมองว่า NPL โดยภาพรวมจะเริ่มกลับมาทรงตัวได้ หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี การบริโภคเริ่มฟื้นตัว การจับจ่ายใช้สอยเริ่มดีขึ้น"นางทองอุไร กล่าว

   สำหรับ แนวทางในการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIS)   นางทองอุไร กล่าวว่า จะสอดคล้องกับแนวทางที่ SFIS ถืออยู่ แต่จะมีการปรับในส่วนของรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงสอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงของแต่ละธนาคาร โดยหลักๆ ธปท. จะเน้นการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร การออกเกณฑ์กำกับดูแล การติดตามและตรวจสอบ และการสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

 ส่วนเรื่องของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 หรือ (Basel II) เชื่อว่าจะไม่มัปัญหาเช่นเดียวกัน

 "ที่ผ่านมา ธปท.มีการเข้าไปตรวจสอบแบงก์รัฐ ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งก่อนหน้านี้ธปท. ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการสั่งการเพื่อการแก้ไขต่างๆ เพียงแต่เข้าไปตรวจสอบและส่งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลต่อไป ซึ่งปัจจุบันธปท. ได้รับมอบหมายให้เข้าไปดูและและสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยตรงและการเข้าไปตรวจสอบดังกล่าวมองว่าไม่ได้หนักใจ เนื่องจากที่ผ่านมาแบงก์รัฐมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ"นางทองอุไร กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!