WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.เผยเงินบาทยังมีเสถียรภาพ-เงินทุนเคลื่อนย้ายปกติ หลังกนง.ลดดอกเบี้ย

     นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพอยู่ เพราะหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยลง มีผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.5% จาก 32.30-32.00 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.80-32.94 บาท/ดอลลาร์ และการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงจาก 2.77% เป็น 2.74% อัตราดอกเบี้ยนี้เคยต่ำสุดที่ 2.49% เมื่อ 14 ม.ค. ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ต่ำสุดในภูมิภาค แต่หลังจากนั้นปรับตัวขึ้นตาม yield ของสหรัฐ

   ขณะที่สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ โดยหลังจากนี้คาดว่าตลาดการเงินส่วนใหญ่จะรอดูทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐในวันพุธนี้มากกว่า

  "อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการช่วยพยุงความมั่นใจ พยุงเวลาการใช้จ่ายของภาคการคลังที่จะออกมา จึงไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของการถูกบังคับ โดยปัจจัยสำคัญที่นำมาพิจารณาประกอบการลดดอกเบี้ย คือภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอันนี้มองว่านโยบายการเงินจะช่วยได้ โดยในวันที่ 20 มี.ค.นี้ จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง" นายจิรเทพ กล่าว

  พร้อมระบุว่า หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับตัวอย่างไร หลังจาก กนง.ประกาศลดดอกเบี้ย รวมทั้งเห็นว่าในช่วงนี้ที่ภาระต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำถือเป็นโอกาสและจังหวะที่ภาคธุรกิจน่าจะเร่งลงทุน

   ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว หลายฝ่ายได้ให้ความเห็นที่หลากหลาย โดยความเห็นในเชิงบวกมองว่าจะช่วยส่งผ่านช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีการปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บางส่วน ขณะที่ความเห็นแบบกลางๆ มองว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงไม่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและสินเชื่อในระบบ ขณะที่ความเห็นบางส่วนกังวลว่าการลดดอกเบี้ยจะมีผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งในส่วนนี้ กนง.ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน แต่มองว่าผู้ที่จะกู้เงินส่วนใหญ่ก็จะคำนึงถึงสถานะทางการเงินและหนี้ของตัวเองอยู่แล้ว

   โฆษกธปท. กล่าวด้วยว่า สำหรับความท้าทายในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันและความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี ซึ่งในส่วนนี้มองว่านโยบายการเงินจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงสั้นได้ แต่หากจะไม่มีการปฏิรูปเลยประเทศก็จะเดินต่อไม่ได้

อินโฟเควสท์

ธปท. ชี้ เงินบาทยังมีเสถียรภาพ หลัง กนง.ลด ดบ. ระบุ ตลาดรอดูทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯช่วงกลางสัปดาห์นี้

   นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.80-32.94 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ แม้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1.75% ต่อปี ซึ่งส่งผลให้เงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่าลง 0.50%

    ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากจะปรับให้ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่ายังถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันมองว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวล่าช้า ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงยังส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลงสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในอายุ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.49% จากเดิมที่ 2.74% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่จะต้องการกู้พันธบัตรหรือการออกตราสารหนี้ก็จะสามารถกู้ได้ในอัตราที่ต่ำ เป็นต้น

    "อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการช่วยพยุงความมั่นใจ พยุงเวลาการใช้จ่ายของภาคการคลังที่จะออกมา จึงไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของการถูกบังคับ โดยปัจจัยสำคัญที่นำมาพิจารณาประกอบการลดดอกเบี้ยคือภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอันนี้มองว่านโยบายการเงินจะช่วยได้ โดยในวันที่ 20 มี.ค. นี้จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง" นายจิรเทพ กล่าว

    นายจิรเทพ กล่าวด้วยว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่ได้ถูกบีบให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่สาเหตุที่คณะกรรมการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้นเนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้า ดังนั้นนโยบายการเงินจึงน่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจในระยะต่อไป ยังต้องจับตาดูการลงทุนในโครงสร้าง การปฏิรูปในเรื่องของภาษี รวมถึงความสามารถในการแข่งขันว่าจะทำได้มากแค่ไหน

  สำหรับ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ได้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยปัจจุบันเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีเสถียรภาพ แต่ทั้งนี้ต้องจับตาดูการประกาศนโยบายของสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 18 มี.ค. ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!