WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.ปรับลดเป้าจีดีพี’/เงินเฟ้อปีนี้ส่อติดลบ อุ๋ยชะลอขึ้น VAT กระตุ้นศก.

    แนวหน้า : ธปท. หั่น 'จีดีพี' ปีนี้ลงเหลือโต 3.8% จากเดิมคาดโต 4% หลังมองเศรษฐกิจโลก อาจชะลอตัวกว่าคาด ขณะที่ส่งออกโตแค่ 0.8% ขณะที่เงินเฟ้อส่อติดลบแต่ยังไม่ใช่สัญญาณเงินฝืด

   ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายในรัฐบาลนี้ จะไม่มีการพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% แน่นอน เนื่องจากการปรับขึ้นจะกระทบกับการใช้จ่ายของประชาชน ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิกนโยบายนี้ แต่ชะลอเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน ส่วนการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ รัฐบาลยังมั่นใจว่า จีดีพีจะขยายตัวอยู่ 4% เนื่องจากภาครัฐมั่นใจการเบิกจ่ายงบประมาณปี’58 จะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่า จะเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของภาครัฐได้ 80% และเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมได้ 98%

    “ตอนนี้ไม่รู้สึกกังวลตัวเลขการคาดการณ์ จีดีพี ของหลายหน่วยงาน ที่มีการปรับประมาณการลดลงไม่ถึง 4% ซึ่งเป็นมุมของแต่ละหน่วยงานที่มีการคาดการณ์กัน แต่ตัวเลขจีดีพีของรัฐบาลตอนนี้ยังยืนยันที่ 4% เช่นเดิม ซึ่งการเบิกจ่ายของภาครัฐ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ได้ตามเป้าหมาย ส่วนตัวเลขการส่งออก ผมก็คาดการณ์เหมือนหลายหน่วยงานที่มอง คือ จะขยายตัว 2-4%” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

    นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมี.ค. 2558 ว่า ที่ประชุมได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2558 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมที่ 4% ส่วนจีดีพี ปีหน้าคาดว่าขยายตัว 3.9%

                สาเหตุที่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจ เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวกว่าคาดตามเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรและจีนและการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจน้อยกว่าคาดจากข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบลงทุน

    “เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้าบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มรายได้ในอนาคตของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ครัวเรือนและธุรกิจยังไม่เร่งใช้จ่ายแม้ว่าค่าครองชีพและต้นทุนการขนส่งจะลดลงตามราคาน้ำมัน ขณะที่สถาบันการเงินยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อนายเมธี กล่าว

    ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐแม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า แต่การเบิกจ่ายยังมีข้อจำกัดส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เร็ว สอดคล้องกับการปรับงบประมาณที่เน้นเพิ่มสัดส่วนการลงทุน โดยคณะกรรมการปรับลดอัตราเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางในปี 2558 จาก 93% เหลือ 91.2%

    ด้านการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.1% (จากเดิมคาดโต 7.2%) ส่วนปี’59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะอยู่ที่ 8% และปี’59 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1%

    นอกจากนี้ ธปท.ปรับลดประมาณการส่งออกปี 2558 ลงเหลือ 0.8% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1% ส่วนปี 2559 คาดว่าโตได้ 4% สาเหตุที่ส่งออกชะลอตัวลงจากการส่งออกสินค้ายังถูกกดดันในระยะข้างหน้า จากเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาดโดยเฉพาะจากจีนและเอเชีย ราคาสินค้าส่งออกต่ำลง จากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

    นายเมธี กล่าวว่า ธปท.ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 ลงเหลือ 0.2% จากเดิมที่ 1.2% และถือว่าต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่วางไว้ที่ 2.5% บวกลบ 1.5% โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันแม้จะต่ำกว่าประมาณการแต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าอื่นๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ประกอบกับค่าเช่าบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2558 ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2%

   สำหรับ ปี 2559 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.2% จากข้อสมมุติฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรกลุ่มอาหารสดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2558 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% ธปท. มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 มีโอกาสติดลบได้ ทั้งนี้ โดยต้องจับตาเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันในตลาดโลก

รัฐบาลไม่ขึ้นแวตซ้ำเติม ศก.ค่าเงินผันผวน 'พาณิชย์' รับทำรายได้ส่งออกลด

    บ้านเมือง : รัฐบาลยืนยันไม่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังมั่นใจการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะมีเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจ ทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่ากว่าร้อยละ 4 ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ยอมรับปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนส่งแลต่อรายได้จากการส่งออก เตรียมปรับแผนเดินสายเปิดตลาดใหม่กระตุ้นยอดส่งออก พร้อม ส่งสัญญาณปรับลดเป้าส่งออกลง

   ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต อย่างแน่นอน โดยจะต่ออายุการคงอัตราที่ร้อยละ 7 ต่อไปหลังสิ้นสุดการครบอายุในวันที่ 30 กันยายน 2558 นี้ เพราะหากขึ้นก็จะกระทบต่อประชาชน ส่วนในปีต่อๆ ไปจะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นอัตราตามกฎหมายที่ร้อยละ 10 หรือไม่ ก็คงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา เพราะรัฐบาลชุดนี้อยู่เพียงปีเดียว ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิกนโยบายนี้ แต่ชะลอเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน

    โดย มั่นใจว่าจีดีพีปีของไทยปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4 แม้ว่าหลายสำนักจะปรับลดการคาดการณ์ลงมา สาเหตุที่เชื่อมั่นเนื่องจากในขณะนี้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายทุกด้าน โดยยอมรับว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เบิกจ่ายงบฯ ล่าช้าแต่ 2 เดือนหลังขยับดีขึ้น มีการเร่งลงนามว่าจ้างโครงการต่างๆ

      ดังนั้น อีก 6 เดือนนี้จะสามารถเบิกจ่ายได้รวดเร็วและเบิกได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยภาพรวมแล้วหากเปรียบเทียบการเบิกจ่ายงบฯ ในช่วงนี้ก็จะพบว่ามีการเบิกจ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่เชื่อว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว ร้อยละ 2-4

    "ตอนนี้ตัวเลขนำเข้าสินค้าทุนเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัว จะประเมินและเห็นได้ชัดในเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่การจัดตั้งงบประมาณในปี 59 คาดว่า จะมีการตั้งไว้งบประมาณไว้แบบขาดดุล 17.5-20% ของงบประมาณทั้งหมด"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

    ส่วนเรื่องการประมูล 4 จี นั้น ได้ประสานกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการเร่งเปิดประมูลภายในเดือนสิงหาคม โดย กสทช.รายงานว่าจะประมูลคลื่น 1,800 เมกะเฮิร์ซ ก่อน ส่วน 900 เมกะเฮิรตซ์ระบุว่าอาจจะเป็นเดือนกันยายน ซึ่งได้เร่งรัดและแนะไปว่า หากยังไม่สามารถประมูลคลื่น 900 ได้ ก็ควรจะเปิดประมูลคลื่น 2,300-2,600 เมกะเฮิร์ซ ก่อน

    ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากตัวเลขที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ระบุว่า การส่งออกไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ติดลบถึงร้อยละ 3.4 นั้น โดยส่วนตัวยังไม่เห็นตัวเลขดังกล่าว ซึ่งก็จะเชิญอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง

   ทั้งนี้ ยอมรับว่าการส่งออกไทยมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน และยังมีผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างล่าช้า ยกเว้นเพียงสหรัฐ และการค้าชายแดนที่ยังขยายตัวดี รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ที่เป็นตลาดหลักของไทยซึ่งการที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่ากว่าเงินบาทของไทยนั้น ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปลดลง แต่หากพิจารณาในแง่ปริมาณจะพบว่าการส่งออกไม่ได้ลดลง แต่แง่มูลค่านั้นลดลงจากปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงอาจมีผลต่อตัวเลขที่ทำให้ติดลบ

    ส่วนจะปรับเป้าหมายการส่งออกลงเป็นเท่าไหร่คงต้องรอดูตัวเลขและติดตามสถานการณ์การส่งออกอีกระยะหนึ่ง และกระทรวงพาณิชย์คงต้องมีมาตรการผลักดันการส่งออกมากขึ้น ซึ่งได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดทำแผนงานและจะเตรียมคณะเดินทางไปเจรจาขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ส่งออกลดลงต่อเนื่อง อาจมีการทบทวนตัวเลขการส่งออกอีกครั้ง

     ส่วนการดูแลค่าครองชีพในประเทศยอมรับว่าการผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้ขยายตัวต้องมีองค์ประกอบหลายด้านทั้งการลงทุนภาคเอกชนการลงทุนภาครัฐและการส่งออกที่ขยายตัวซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังคงดูแลปัญหาค่าครองชีพต่อเนื่องและอยู่ระหว่างเร่งรัดการจัดกิจกรรมลดค่าครองชีพเช่นการจัดงานธงฟ้าและการจัดโครงการห้างโลว์คอสต์ จำหน่ายสินค้าราคาถูกต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!