WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มั่นใจจีดีพีไม่ติดลบแน่-เตือนอย่าซ้ำรอยจำนำข้าว-รถคันแรกธปท.ย้ำศก.เริ่มฟื้นปี 58 ฉลุย

    แนวหน้า : แบงก์ชาติ ฟันธงเศรษฐกิจ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ไตรมาส 3 เริ่มเห็นผลชัดเจนแน่นอน หลังเม็ดเงินจากหลายโครงการไหลเข้าระบบ ชี้หากโรดแมป เดินได้ราบรื่น ดันจีดีพีปี 58 วิ่งฉลุย โตกว่า 5% เผยอยากให้เน้นเร่งเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในเละต่งประเทศ ย้ำต้องเลิกทำโครงการกระตุ้นศก.ที่ไม่มีเหตุผล

     นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมนนา Euromoney Conference: The Greater Mekong Investment Forum ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดี ขึ้น แต่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะโตไม่สูงมาก แต่จะไม่ปรับตัวลดลงมากกว่านี้ เนื่องจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุดมีทิศทางทรงตัวและดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ เพราะภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

    ขณะที่ภาคการคลังสามารถขับเคลื่อนได้แล้วจากการจัดทำงบประมาณปี 2558 ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าคาด แต่ผลต่อภาคเศรษฐกิจจะเต็มที่ในปี 2558 เช่นเดียวกับภาคการลงทุนที่เอกชนยังรอความชัดเจนจากการเดินหน้าทำโรดแมพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำให้กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ในปีหน้า

    ส่วนการส่งออกปีนี้ แม้จะไม่ใช่เป็นตัวหลักของเศรษฐกิจปีนี้ แต่ยังขยายตัวได้โดยต้องติดตามตัวเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่จะฟื้นตัวเต็มที่ในปี 2558 คาดว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนหลักอีกครั้ง ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดที่เปลี่ยนแปลงทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ จากเดิมมองว่าจีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 2.7% ควบคู่การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย โดยยืนยันอัตราดอกเบี้ยที่ 2 %เป็นอัตราที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว

    "นโยบายการเงินของประเทศในปัจจุบันมีทิศทางที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตและฟื้นตัวได้ดี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งดี ทุกอย่างไม่มีอุปสรรค และพร้อมจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้"นายประสาร กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ธปท.ย้ำว่าการจัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจมีความสำคัญโดยนโยบายที่ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต้องเป็นนโยบายที่สมเหตุสมผล เพราะที่ผ่านมีนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น นโยบายรับจำนำข้าวที่สูงเกินกว่าราคาตลาด และโครงการรถยนต์คันแรกที่บิดเบือนกลไกตลาด ส่วนความท้าทายระยะกลาง คือ การแก้ไขจุดอ่อนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น เพราะระยะสั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ภาวะปกติ ขณะที่ค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยระยะยาวยังมีเสถียรภาพ และเริ่มมีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยแล้ว สะท้อนว่าต่างชาติยังเชื่อมั่นประเทศไทย

    ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น เห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนหลังเกิดรัฐประหารเกิดความผันผวนในช่วงสั้นๆ เท่านั้น และหลังจากนั้นก็กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลายสถาบันก็ไม่ได้มีการมองประเทศไทยในแง่ร้าย ดังนั้น เชื่อว่าการแก้ปัญหาในระยะสั้นจะผ่านไปด้วยดี แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำงานในระยะปานกลางที่จะต้องแก้ปัญหาจุดอ่อนทางเศรษฐกิจให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก 

    ส่วนนโยบายราคาพลังงานของ คสช.ช่วงนี้ เห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไม่สูงมาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก ดังนั้น ราคาพลังงานในประเทศควรทบทวนให้มีความเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมามีการคุมราคาพลังงานไว้มีผลข้างเคียงและบิดเบือนกลไกตลาด

  นายประสารให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโรดแมปในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคณะรักษาความสวบแห่งชาติหรือคสช.ว่า สิ่งที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่โรดแมป แต่อยู่ที่การดำเนินนโยบายที่มีเหตุมีผล อย่างเช่น หากราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ตันละ 8 พันบาท การจะเข้าไปรับซื้อหรือจำนำก็ควรทำในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่การรับซื้อในราคาสูงถึงตันละ 15,000 บาท ดังนั้น ทุกอย่างอยู่ที่การปฏิบัติ

   "ต่อให้แผนจะสวยหรูเพียงใด หากการปฏิบัติไม่สมเหตุสมผลก็จะทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่น ซึ่งแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจถ้าเป็นแบบสมเหตุสมผล จะเรียกความเชื่อมั่นได้ดีที่สุด"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวย้ำ

    ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเปลี่ยนทิศทาง จากเดิมที่กำลังจะตกเหว กลับมาเป็นมีการลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากโรดแมปเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมา  สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งการชำระหนี้ให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว การเพิ่มการค้ำประกันให้ธุรกิจเอสเอ็มอี จาก 20 %เป็น 50 % การตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การจัดทำงบประมาณปี 2558 และการเดินหน้าลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อั้นการใช้จ่ายมาระยะหนึ่ง กลับมาใช้จ่ายปกติ ซึ่งจะช่วยให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 2-3 % โดยคาดว่าในไตรมาส 2 จีดีพี จะอยู่ที่ 0 % ดีขึ้นจากไตรมาส 1 ที่หดตัว 0.6 % และจะฟื้นตัวไตรมาส 3 โต 3 % ส่วนไตรมาส 4 ขยายตัวเต็มที่ 5-6 %

   นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปี 2558 เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 5 % หากการเมืองมีเสถียรภาพ และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความชัดเจน พร้อมทั้งมีการปฏิรูปประเทศ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างให้ดีขึ้น ปลดล็อกอุปสรรคทางการลงทุน เช่น ใบอนุญาต รง.4 และการแก้กฎหมายหลักประกันธุรกิจ โดยให้เอสเอ็มอี นำสินค้าคงคลังมาเป็นหลักประกันได้ ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยดีขึ้นระยะ 3-5 ปี และขณะนี้ภาคเอกชนได้ทบทวนแผนลงทุนใหม่จากที่เคยชะลอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ เอกชนจะขอสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ทั้งปีการขยายตัวของสินเชื่อจะโตได้มากกว่า 4-5 %

    'ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีจะมากหรือน้อยเพียงใด แต่ต้องดูทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่'

ลุยโรดแม็พยึดส่วนรวม ประสารชี้ศก.ฟื้นชัวร์บาทอ่อนหนุนส่งออก

   ไทยโพสต์ : ราชประสงค์ * ประสารหนุนโรดแม็พ คสช. แต่ต้องขับเคลื่อนแบบมีเหตุมีผล ยึดประโยชน์ส่วนรวม จะเรียกความเชื่อมั่นต่างชาติได้แน่นอน มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีสัญญาณดีขึ้น แต่ฟื้นตัวยังมีข้อจำกัด "กอบศักดิ์" คาดเศรษฐกิจไทยโต 2-3% กสิกรฯ มอง กนง.คงดอกเบี้ยที่ 2% อีก 1 ปี บาทอ่อน 33.50 หนุนส่งออกขยายตัว

     นายประสาร ไตรรัตน์วร กุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แผน กระตุ้นเศรษฐกิจ (โรดแม็พ) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะนี้ยังเป็นการแยกเสนอจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่ง คสช.ยังไม่ได้แยกข้อเสนออย่างเป็นทางการ แต่มองว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นการแสดงความตั้งใจว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่หัวใจสำคัญคือ การดำเนินนโยบายแบบมีเหตุมีผล และมองผลประโยชน์ส่วนรวม จะทำให้เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติได้

   ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะทรงตัวเนื่องจากมีสัญญาณชี้ ไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ยังไม่โตมาก โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.-พ.ค. ยังคงทรงตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น แต่เรื่องของการใช้จ่ายยังไม่มากนัก เนื่องจากประชาชนยังมีหนี้เก่าสูง ทำให้กำลังซื้อไม่สูงเต็มที่ ขณะที่ภาคการคลัง หลังจากที่มีอำนาจเต็มในการขับเคลื่อนการจัดทำงบประมาณปี 2558 จากเดิมที่คาดว่าจะล่าช้า มองว่าจะเป็นตัวช่วยได้ แต่จะเห็นผลชัดเจนได้ในปี 2558

    "เศรษฐกิจปี 2557 มองว่าจะโตไม่สูง แต่ก็ไม่ไหลลง ส่วนปี 2558 ถ้าไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น คาดว่าจะโตได้ค่อนข้างดี ส่วนนโยบายการเงินในปัจจุบันถือได้ว่าสนับสนุนการเติบโตและฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีอยู่แล้ว โดยดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนสภาพคล่องยังมีมาก อัตราการแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ สถา บันการเงินยังมีฐานะเข้มแข็ง ไม่คิดว่าจะเป็นอุปสรรค" นายประสาร กล่าว

    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้โตที่ระดับ 2-3% ได้ ขณะเดียวกัน สินเชื่อที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก จะกลับมาขยายตัวได้ดีเช่นกัน หลังจากนักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งปีคาดว่าการ ปล่อยสินเชื่อจะขยายตัวได้ 4-5%

    ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ติดลบ 0.6% ไตรมาส 2 จะเติบโตเป็น 0% ไตรมาส 3 น่าจะเติบโต 3% และไตรมาส 4 เติบโตสูงสุดที่ 5-6% ส่วนปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

   นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าว ว่า คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี และคาดว่าจะทยอยปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2558 เนื่องจากประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะมีการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปอีกระยะ หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ปรับดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ ซึ่งถือเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

    ด้านแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนปีนี้ยังคงเป้าไว้ที่ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยต้องจับตาการดำเนินนโยบายการเงินของยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ มองว่าค่าเงินจะช่วยสนับสนุนภาคส่งออกให้โตถึงระดับ 3-6% ได้ จากที่ตั้งเป้าไว้ 5% ขณะที่เศรษฐกิจปีนี้ยังคงประมาณการไว้ที่ 1.8% แต่มีโอกาสที่จะทบทวนอีกครั้ง และคาดว่าจะขยายได้มากกว่าที่ประมาณการไว้.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!