WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAกนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% พร้อมเล็งหั่นเป้าส่งออกปีนี้เป็นติดลบ จากเดิมคาดอยู่ที่ 0% เหตุ ศก.โลกฟื้นตัวช้า

      กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เพื่อฟื้นศก. พร้อมเล็งหั่นเป้าส่งออกปีนี้เป็นติดลบ จากเดิมคาดอยู่ที่ 0% เหตุ ศก.โลกฟื้นตัวช้า เตรียมประกาศตัวเลข 19 มิ.ย. นี้  ยันไทยไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด มองช่วงครึ่งหลังของปีนี้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น

      นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ โดยเฉพาะจากภาวะเศรษฐกิจโลก จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในภาวะผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัวในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

       ขณะเดียวกัน กนง.ยังประเมินว่า ภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยงสูงที่จะติดลบ หรือต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนที่ 0% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าทั้งจากจีน เอเชีย โดยจะมีการประกาศตัวเลขการส่งออก และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ใหม่วันที่ 19 มิ.ย. นี้

       นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัว ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่บังมีแนวโน้มทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นและคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน กนง.ยังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขั้นจากราคาอาหาร และน้ำมันที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น

       สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก แต่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะทยอยหมดไป รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและอาหารสดที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกแต่โน้มลดลงบ้างตามแรงกดดันจากด้านอุปสงค์ที่มีจำกัด

        นายเมธี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 และเดือนเม.ย. 58 ชะลอลงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก

       อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง มีบทบาทในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆแต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเอเชีย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!