WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไท สนตประภพว่าที่ผู้ว่า ธปท. แนะรัฐวางนโยบายทาง ศก.การค้าอย่างระมัดระวัง ขณะที่ TDRI ชี้ ไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบการลงทุนภาคบริการ

   นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้กล่าวรายงานว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2555 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ให้เป็นส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงพาณิชย์ และในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ได้มีการประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สนค. ให้มีบทบาทภารกิจหลัก ได้แก่ วางแผน จัดทำ ประสานและบูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ จัดทำและพัฒนาเครื่องมือชี้วัดและพยากรณ์ทางเศรษฐกิจการค้า ศึกษา วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์การค้าการลงทุน วิเคราะห์และกำหนดกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการที่สำคัญ ประสานความร่วมมือและขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ และเป็นศูนย์กลางระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงลึกด้านเศรษฐกิจการค้า 

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเปิดงานและมอบนโยบาย โดยได้กล่าวถึงความคาดหวังกับ สนค. เพื่อดำเนินการตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ การวางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศในระยะยาว และการประสานบูรณาการระหว่างแต่ละกรมภายในกระทรวง การประสานบูรณาการกับหน่วยงานรัฐอื่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยอื่น การจัดทำข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายให้ทันท่วงที และการวางยุทธศาสตร์ Cluster และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้าแบบ Cross Cutting Issues โดยให้ความสำคัญกับ Cluster ที่โดดเด่นของรัฐบาล และเร่งสร้าง Roadmap ในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจบริการ

   นางอภิรดี ตันตราภรณ์ คาดหวังด้วยว่า สนค. จะสามารถเสนอแนะมาตรการและกลไกขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีกระบวนการตรวจสอบดูแลอย่างโปร่งใส ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคม รวมทั้ง รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ในการเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานทางการค้า สนค. ต้องมีบุคลากรคุณภาพสูง สามารถให้ข้อคิดเห็นทางวิชาการที่มีหลักการ และมีฐานข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการทำงานของ สนค. อย่างเต็มที่

   ในช่วงที่สองของงานมีการเสวนาในหัวข้อ ‘ความท้าทายของการค้าไทยจากนี้ถึงปี 2030’ โดย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงความคิดเห็นถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจการค้าของไทยในหลายประเด็น

    ดร.วิรไท สันติประภพ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ภาคเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาสำคัญหลายประการที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระดับโครงสร้างมากกว่าการแก้ไขในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ กำลังการผลิตส่วนเกินในโลกที่ส่งผลต่อราคาสินค้า ความได้เปรียบทางการค้าของไทยที่ลดลงเนื่องจากกฎระเบียบทางการค้าของประเทศต่างๆ และไทยมีแรงงานที่เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น การเพิ่มมูลค่าของสินค้า รวมถึงให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ด้านบริการด้วย และความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้นเพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานยาวขึ้น

    ปัญหาของการค้าไทยที่สะท้อนจากการส่งออกขยายตัวลดลงกว่าในอดีต มีปัจจัยสำคัญจากระดับการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ต่อด้วยการเมืองในประเทศ ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนลดลง การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงหลังจึงเป็นเพียงการลงทุนต่อเนื่องจากการลงทุนที่มีอยู่แล้ว เช่น ขยายโรงงานหรือเป็นเพียงอุตสาหกรรมเสริม ขณะที่การลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่เป็นโครงการใหญ่กลับชะลอลง และขาดอุตสาหกรรมที่เป็นตัวนำการลงทุนที่ชัดเจน ต่างจากในอดีตที่มีการขยายการลงทุนสูงในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์

    ปัญหาของการวางยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา คือ เราไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์เป็นหลัก และยังรวมถึงความไม่ประสบผลสำเร็จในการประสานงาน สำหรับ สนค. นั้น ควรมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นคลังสมอง หรืออาจเป็นหน่วยงานบูรณาการแนวคิดจากหน่วยงานอื่นๆ มีการให้ทุนวิจัย หรือให้ภาคเอกชนช่วยทำนโยบายด้วย อีกทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียช่วยผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ให้เกิดผลได้จริง

   ในการพัฒนาบุคลากรและแรงงาน หากประเทศไทยมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไม่พอ อาจต้องมีการเปิดเสรีให้บุคลากรจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐต้องวางนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าอย่างระมัดระวัง เพราะนโยบายที่ผิดพลาดอาจส่งผลให้เกิดการสร้างแรงงานหรือเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่เหมาะสมกับสภาพตลาดได้

   ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาไทยมีทั้งศักยภาพและความโชคดีในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาตลอด จนปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในจุดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งที่ 4 มีรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความท้าทายมากขึ้น เราต้องมองทั้งสามมิติ คือ การบริการ การค้า และการลงทุน โดยสิ่งที่ท้าทายในตอนนี้ คือ ภาคการค้าไม่ได้ขายสินค้าที่มีคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการบริการในสินค้านั้นด้วย ทั้งการกระจายสินค้า การจัดส่งสินค้า การบริการหลังการขาย การให้บริการจุดเก็บสินค้า เป็นต้น การเมืองระหว่างประเทศก็มีความสำคัญต่อการค้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว สะท้อนว่ารูปแบบการค้ามีมาตรฐานสูงขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องตัดสินใจว่าจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ให้ความสำคัญและส่งเสริมภาคส่วนไหนเป็นหลัก

    ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีความเห็นว่า คลื่นเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญมีทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยปัจจัยภายใน ได้แก่ การกำหนดโครงสร้างและนโยบายของไทยเอง กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจและเครื่องมือในการดำเนินงานผ่านบทบาทภารกิจงานของแต่ละกรมมาก มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งถ้า สนค.สามารถบูรณาการทั้งหมดให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผลของการเจรจาการค้าและกฎระเบียบทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และผลักดันให้เกิดการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรมได้ การค้าของไทยจะมีการพัฒนาดีมาก นอกจากนี้ กระแสการลงทุนที่เข้ามาในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบันกว่า 60% เป็นการลงทุนภาคบริการ ในขณะที่ไทยมีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบการลงทุนภาคบริการ เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่งผลให้การลงทุนจากต่างชาติในไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตมากกว่าภาคบริการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับกระแสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอาเซียน อีกทั้งภาคบริการนั้นมีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนภาคการผลิตในประเทศ เช่น การธนาคารและการเงิน ขนส่ง โทรคมนาคม ธุรกิจพลังงาน ซึ่งหากธุรกิจบริการในประเทศมีการผูกขาดมากเกินไปหรือมีการแข่งขันในระดับต่ำ ภาคบริการของไทยจะไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนของธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง และอาจทำให้ธุรกิจปลายน้ำของไทยไม่สามารถแข่งขันได้เต็มศักยภาพ

    สำหรับ การก้าวข้ามกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญ ภาครัฐจึงต้องจัดลำดับความสำคัญเพราะไม่สามารถสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอและมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดในการเลือกสนับสนุนอุตสาหกรรมให้เหมาะสม สำหรับด้านแรงงานไทย โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม ที่คนจบมามักไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ไม่เหมือนกับต่างประเทศ ที่วิศวกรต้องไปทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมก่อนจบการศึกษา ดังนั้น ในระยะยาวควรต้องมีการพัฒนาในลักษณะนี้ อีกทั้งแรงงานไทยโดยมากยังไม่ได้รับประกาศนียบัตรหรือใบรับรองที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงทำให้ไม่สามารถไปทำงานที่ต่างประเทศได้

    นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้เสริมว่า การเจรจาให้ประสบความสำเร็จและเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้นั้น ต้องมีการผลักดันในระดับนโยบายด้วย นอกจากนี้ เราควรให้ความสำคัญในการเปลี่ยน “ผู้ส่งออก” ให้เป็น “ผู้ค้า” และส่งเสริมการค้าในรูปแบบสินค้าคู่บริการด้วย สำหรับการพัฒนาบุคลากรและแรงงาน ต้องให้คนเก่งสร้างคนเก่ง และการวางยุทธศาสตร์ด้านแรงงานจะต้องมาจากระดับนโยบายและสอดคล้องกับความต้องการของเอกชน จึงจะสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล    

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!