WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAดอน นาครทรรพธปท.เผยปี 58 แบงก์พาณิชย์ มีกำไรจากการดำเนินงาน 3.7 แสนลบ.เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 3.45 แสนลบ. มีกำไรสุทธิ 1.92 แสนลบ.ลดลงจากปีก่อนที่กำไร 2.14 แสนลบ.

    ธปท.คาด สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ปี 59 จะขยายตัวได้สูงกว่าปี 58 ที่ทำได้ 4.3% บนเงื่อนไขจีดีพีโต 3.5% ด้านกลุ่มแบงก์พาณิชย์มอง NPL จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่เชื่อจะผ่านจุดสูงสุดในปีนี้ได้ ด้านปี 58 ที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์มีกำไรสุทธิ 1.92 แสนลบ.จากปีก่อนที่กำไร 2.14 แสนลบ. ส่วนสินเชื่อทั้งกลุ่มขยายตัว 4.3% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4- เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นแตะ 2.55% จาก 2.15% ในปี 57 แต่ชี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งระบบขยายตัว 5.6% เผยสั่งแบงก์พาณิชย์ทำ Stress Test บนพื้นฐานจีดีพี -4.5% พร้อมประเมินความเสียหายจากดอยซ์แบงก์จะกระทบแบงก์ไทยในยุโรปเลวร้ายสุดประมาณ 2 หมื่นลบ.

    นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนคารพาณิชย์ในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ 4.3% เนื่องจากยังมีสินเชื่อในส่วนของการลงทุน และในส่วนของ 4G และเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามที่ธปท.ประเมินที่ 3.5% เงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.8% 

     ในส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL นั้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ประเมินว่า ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ รวมถึงการกระจายรายได้ไปยังภาคส่วนต่างๆยังไม่เต็มที่ ส่งผลให้แนวโน้ม NPL ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยธนาคารพาณิชย์มองว่า ในปีนี้ถือเป็นจุดสูงสุดของเอ็นพีแอลแล้ว และมองว่าหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่ธปท.ประเมินหนี้ด้อยคุณภาพก็จะทยอยปรับลดลง  

    ด้านผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2558 พบว่า สินเชื่อขยายตัวได้ 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และการหันไประดมทุนผ่านตลาดทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยสินเชื่อที่ชะลอลงส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

   “ระบบธนาคารพาณิชย์ในปีที่ผ่านมายังมีเสถียรภาพ โดยเงินสำรองและเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวลดลง และคุณภาพสินเชื่อด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจนายดอน กล่าว 

   สำหรับ สินเชื่อธุรกิจ ขยายตัวได้ 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวได้ 0.1% ชะลอลงจากที่ขยายตัวได้ 4.8% จากปีก่อน จากภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุนผ่านตลาดทุนและชำระหนี้คืน ประกอบกับธนาคารพาณิชย์บางแห่งตัดหนี้สูญบริษัทขนาดใหญ่รายหนึ่ง ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 5.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.4% ในปีก่อนหน้าจากธุรกิจขนาดเล็ก สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้ 7.1% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 7.4% ในสินชื่อทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 1% หลังจากที่หดตัวต่อเนื่อง 6 ไตรมาส 

    ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มียอดคงค้าง 337,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 60.3 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.55% จาก 2.15% สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ มียอดคงค้างทั้งสิ้น 314.1 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 22.3 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.38% จาก 2.61% ณ สิ้นปีก่อน ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 444.5 พันล้านบาท ขยายตัว 11.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

    อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันลดลงมาอยู่ที่ 156.3% ทั้งนี้ ในปี 2558 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงาน 370.2 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 193.2 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จากปีก่อนที่ 1.3% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.5% จาก 2.6%

     นายดอน กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,228.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรประจำปีเป็นเงินกองทุน การเพิ่มทุนและการออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.4% และ 14.5% ตามลำดับ

    นายดอน เปิดเผยต่ออีกว่า ธปท.ได้มอบหมายให้ธนาคารพาณิชย์ทำกำหนดสถานการณ์จำลองของธปท. เพื่อทดสอบผลกระทบในภาวะวิกฤติ หรือ Stress Testing ตามแนวนโยบายการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านตลาดของสถาบันการเงิน โดยมีกำหนดส่งภายใน 30 มีนาคมนี้  ซึ่งแผนแบบสถานการณ์จำลองการรองรับภาวะวิกฤตินั้น ได้กำหนดแบบทดสอบในกรณีเลวร้ายสุดที่จีดีพีปีนี้ติดลบ 4.5% และปีหน้าติดลบ 2.5% และในกรณีที่จีดีพีขยายตัวได้ 2% ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเบื้องต้นในกรณีเลวร้ายสุดนั้น มองว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยการทำ Stress Testing ธปท.จะให้ธนาคารพาณิชย์ทำปีละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาผลการประเมินเป็นไปอย่างน่าพอใจ เนื่องจากแต่ละธนาคารมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีแผนตั้งสำรองอย่างเข้มงวด

    ส่วนความคืบหน้าของนาโนไฟแนนซ์นั้น 11 กุมภาพันธ์ 2559 มีบริษัทได้รับใบอนุญาตในการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 12 ราย จากผู้ยื่นคำขอเป็นนาโนไฟแนนซ์ 26 ราย ส่วนยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ให้บริการทั้งสิ้น 6 ราย มีสินเชื่อคงค้าง 136 ล้านบาท จากทั้งสิ้น 7,113 บัญชี

    “คงต้องให้เวลาสักระยะหนึ่ง เนื่องจากเพิ่งเริ่ม ซึ่งมองว่าใน 1 ปีน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนต่ำกว่าเป้าหมายหรือไม่นั้น หากเทียบกับที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายไว้ที่ 80,000 ล้านบาท ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายมากนายดอน กล่าว

   ส่วนประเด็นเรื่องความกังวลต่อปัญหาดอยซ์แบงก์ ของเยอรมนีในช่วงนี้  นายดอน กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในไทยและไปลงทุนในยุโรปมีเงินลงทุน 8,141 ล้านบาท หรือคิดเป็น0.05% ของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ซึ่งหากเกิดความเสียหายจากการทำธุรกรรมกรณีดอยซ์แบงก์อย่างเลวร้ายที่สุด จะมีความเสียหายต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ลงทุนในยุโรปประมาณ 20,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น3% ของรายได้ในระบบธนาคารพาณิชย์

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!