WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAธปท.เผยตัวเลขศก.เดือนม.ค.59 ชะลอตัวตามการบริโค-ใช้จ่ายรัฐฯชะลอ เตรียมปรับประมาณการจีดีพีวันที่ 31 มี.ค.นี้ ล่าสุดยังคงเป้าที่ 3.5%

     ธปท.เตรียมปรับประมาณการศก.ไทยปี 59 วันที่ 31 มี.ค.นี้ แต่ล่าสุดยังคงจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 3.5% ด้านตัวเลขเดือนม.ค.59  เผยยส่งออกติดลบ 9.3% ส่วนนำเข้าติดลบ 17.8% เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.53% ยันส่งออกปีนี้จะพลิกจากติดลบมาอยู่ที่ 0% ตามเป้า ต้องทำยอดส่งออกเฉลี่ยให้ได้ 17.7 พันล้านเหรียญ/เดือน

  นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ธปท.จะประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ใหม่ โดยจะนำพัฒนาการเศรษฐกิจทั้งหมดมาพิจารณาการปรับประมาณการ ส่วนการคาดการณ์ในปัจจุบันนั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ยังอยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 2.8% ขณะที่ภาคการส่งออกประเมินไว้ที่ 0% ซึ่งหากจะให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ธปท.ประเมินไว้นั้น แต่ละเดือนจะต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 17.7 พันล้านดอลลาร์

 ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 4 ปี 2558 ที่ขยายตัวได้ 2.8% แต่อย่างไรก็ตามต้องติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย

     ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แรงส่งของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางแผ่วลง จากปัจจัยชั่วคราวที่เริ่มหมดไป ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์และมาตรการเร่งการใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงปลายปี ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวบ้าง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลงหลังเร่งเบิกจ่ายในเดือนก่อน

 ด้านรายได้ภาคเกษตรปรับลดลง ตามราคายางพาราและมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของจีนที่ลดลง

 อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากปัจจัยบวกที่เป็นปัจจัยชั่วคราวเริ่มหมดไป ประกอบกับปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภคในเดือนนี้แผ่วลงจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงเล็กน้อยตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้ง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

    ขณะที่รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรที่หดตัวยังเป็นปัจจัยถ่วงของการบริโภค โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนกลับมาหดตัวที่ 6.3% หลังขยายตัวได้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคได้เร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในปีนี้ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่ปรับลดลงหลังผู้บริโภคเร่งซื้อไปแล้วในช่วงปลายปี จากผลของมาตรการภาครัฐที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 15,000 บาท

     ด้านการลงทุนภาคเอกชน ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีทิศทางทรงตัวจากเดือนก่อนหลังธุรกิจได้เร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะขึ้นภาษีสรรพสามิตในวันที่ 1มกราคม 2559 โดยยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการลงทุนลดลง 3% จากเดือนก่อน ประกอบกับการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและธุรกิจโทรคมนาคมชะลอลงหลังจากเร่งตัวมากในช่วงปลายปี 2558 ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุนในกลุ่มนี้ลดลงจากเดือนก่อน

    นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า ในส่วนของภาคการส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าไทยมีทิศทางหดตัวสอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาค โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงที่ 9.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อหักทองคำแล้วการส่งออกสินค้าหดตัว 8.1% จากการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของจีนและอาเซียนที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ราคาส่งออกในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา

    อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวขยายตัวสูงจากด้านปริมาณการส่งออกเป็นสำคัญ โดยเป็นผลจากการส่งมอบข้าวตามสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ให้แก่จีนและอินโดนีเซีย นอกจากนี้การส่งออกเครื่องปรับอากาศขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดยุโรปจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ของผู้ผลิตว่าอากาศจะร้อนกว่าปกติ

     ขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยในเดือนมกราคมหดตัว 17.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากไม่รวมทองคำหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น 18.6% ซึ่งเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวสูงจากน้ำมันดิบและโลหะตามทิศทางราคาในตลาดโลก และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวตามการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

     ส่วนในเดือนมกราคมที่ผ่านมาดุลการค้าเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนเกินดุล 1.4 พันล้านดอลลาร์ จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.1 พันล้านดอลลาร์

     ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมที่ผ่านมายังคงติดลบต่อเนื่องที่ 0.53% ตามราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ 0.59% จากผลของฐานค่าเช่าบ้านที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสำเร็จรูปที่ลดลงจากการปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารโทรสั่ง อย่างไรก็ตามราคายานพาหนะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย จากการทยอยขึ้นราคาตามการปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

แบงก์ชาติ จ่อลดเป้า GDP พบสัญญาณเศรษฐกิจโตแผ่วหวังพึ่งการบริโภค

     บ้านเมือง : ธปท.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ สิ้นเดือน มี.ค.นี้ ยอมรับการเติบโตต้นเศรษฐกิจแผ่วลง ส่งออกไม่ขยายตัว หวังการบริโภคเพิ่ม อุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ยังพอไปได้ ปี 59 จีดีพีโตไม่ถึง 3.5% ขณะที่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมกราคมหดตัว ภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าลดลงและหมดช่วงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ

    น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ้นเดือนมีนาคม นี้ ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมที่คาดว่าการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตได้ร้อยละ 3.5 และการส่งออกไม่ขยายตัว หรือโตร้อยละ 0 เนื่องจากแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมมีทิศทางแผ่วลง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปีนี้แผ่วลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2558 ทั้งการบริโภคภาคเอกชน หลังจากหมดมาตรการช็อปช่วยชาติ ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มแผ่วลง เพราะมีการเร่งเบิกจ่ายไปก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันการส่งออกเดือนมกราคมหดตัวร้อยละ 9.3 มูลค่าส่งออก 15,560 เหรียญสหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยที่ ธปท.ประเมินไว้ว่า หากการส่งออกไม่ขยายตัว จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 17,700 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้การส่งออกที่หดตัวมากมาจาก 3 ปัจจัย จากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนหดตัว การส่งออกรถยนต์รุ่นใหม่และอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง และการหดตัวด้านราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มปิโตรเลียมที่หดตัวร้อยละ 41 ปิโตรเคมีหดตัวร้อยละ 13 และเคมีภัณฑ์หดตัวร้อยละ 16 ส่วนการนำเข้าหดตัวร้อยละ 17.8 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากการนำเข้าเชื้อเพลิงที่หดตัวสูงตามราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง

     อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังคาดหวังว่า การบริโภคจะกลับมาดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยสนับสนุนต่างๆ แม้ในเดือนมกราคมจะแผ่วลง เพราะเห็นว่าการลงทุนในบางอุตสาหกรรมขยายตัว เช่น ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล แต่ไม่ใช่การเพิ่มกำลังการผลิต เพราะในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังมีกำลังการผลิตอยู่ และยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง คาดหวังว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะคลี่คลายลง

    ด้านนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI เดือนมกราคม 2559 ติดลบร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25

     สำหรับ ดัชนีอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เนื่องจากกำลังซื้อถูกใช้ไปแล้วในช่วงปลายปี 2558 จากมาตรการกระตุ้นยอดขายสินค้า อุตสาหกรรมสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง คือ รถยนต์ผลิตลดลงร้อยละ 11.69 จำนวนผลิต 147,651 คัน ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์มีจำนวน 93,714 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 แต่สินค้าน้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์กระดาษขยายตัวร้อยละ 1.04 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น

     ส่วนดัชนีส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำติดลบร้อยละ 7 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงหลายรายการ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการที่ตลาดหลักนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐและญี่ปุ่น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าเดือนมกราคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.34 โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ด้านการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปไม่รวมทองคำติดลบร้อยละ 16.9

     นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวระหว่างเป็นประธานในงาน'Open House. เดินหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย' ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ว่ากระทรวงพาณิชย์มั่นใจเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ และในสัปดาห์นี้จะนำนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมทุกด้าน และจะเป็นแบบอย่างหรือโมเดลให้แก่ 9 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อนำไปปรับใช้ โดยขณะนี้อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ได้แก่ โลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้า ขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนและหน้าด่านในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการค้าชายแดนอย่างเดียว 1.1 ล้านล้านบาท และยังมีการค้าชายแดนที่ไม่ได้เก็บข้อมูลอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าในปีนี้จะมีมูลค่าการค้าชายแดนของไทย จะมีมูลค่าการค้าไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และในเดือนมีนาคมจะประชุมเพื่อสรุปเป้าหมายการค้าชายแดนในปีนี้ 

ปัจจัยลบรุนแรงกว่าที่คาด-หั่นเป้าเติบโตลงอีก-แบงก์ชี้โลกผันผวนหนักธปท.ยอมรับศก.ซึมต่ออีกปี

            แนวหน้า : แบงก์ชาติยอมรับปัจจัยเสี่ยงที่กระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ทั้งจากวิกฤติภัยแล้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาฉุดภาคส่งออกร่วง ซ้ำการลงทุนภาครัฐก็ยังเบิกจ่ายได้ล่าช้า เผยสิ้นไตรมาสแรกจะปรับลดประมาณการเติบโต ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุความมั่นใจของผู้บริโภคยังไม่ฟื้น ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงเป็นตัวถ่วงสำคัญ ขณะที่ภาคธุรกิจไม่กล้าลงทุน

                นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ธปท.จะปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในปีนี้ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.5% หลังจากเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ธันวาคมที่ผ่านมาชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลกระทบ ต่อภาคการส่งออกและสถานการณ์ภัยแล้งที่ คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

                ส่วนกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อใช้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และสะท้อนว่ารัฐบาลเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย และเห็นสถานการณ์ภายนอกน่ากังวล ประกอบกับการลงทุนขนาดใหญ่ช้ากว่าคาด ซึ่งมองว่าบทบาทนโยบายการคลังสำคัญ รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินนั้นจะต้องใช้เวลา

                "สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำนั้นมันสะท้อนว่ารัฐบาลเห็นความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งในเรื่องของภัยแล้ง การลงทุนขนาดใหญ่ที่อาจมีความล่าช้า ราคาพลังงานตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะการนำนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจน"นายวิรไท กล่าว

                อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลา และการจะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หากมองว่าเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น เป็นข้อหนึ่งที่ได้สั่งการบ้านให้กับทีมงาน การเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะต้องเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการรัฐบาล ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน และการผ่อนปรนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถนำเงินสำรองที่มีไปลงทุน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน กำลังหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

                ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติระยะสั้น ซึ่งมาจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก ขอให้ผู้ส่งออก และนำเข้าปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตรา แลกเปลี่ยน แม้ว่าปัจจุบันเอกชนจะซื้อประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่มีบางส่วนชะล่าใจ เพราะเชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยน จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว โดย ธปท.จะดูแลอัตรา แลกเปลี่ยนไม่ให้กระทบความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งขณะนี้ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับกลาง เมื่อเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่แข่งและในภูมิภาค

                "บางครั้งผู้ส่งออกก็ชะล่าใจ พอเงินบาทอ่อน ผู้ส่งออกก็ทำเฮดจิ้งน้อยลง ซึ่งอย่าคิดว่าการเปลี่ยนแปลง ของอัตราแลกเปลี่ยนจะไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงด้านเดียว เพราะต้องยอมรับว่า ขณะนี้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมาก" นายวิรไท กล่าว

                ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา SCB Investment Symposium Thailand Ahead ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจ ทำให้การใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50% ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ขยายตัวมากนัก โดยมีอัตราเติบโตเพียง 1-2% เท่านั้น ส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีปีนี้ยังเติบโตในอัตราที่ต่ำ คือ 2.5% แม้จะมีแรงขับเคลื่อนมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 66,800 ล้านบาท และภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยบวกสำคัญ

                "ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกมาจาก ด้านการท่องเที่ยว ด้านโลจิสติกส์ โรงแรมและการลงทุนของภาครัฐในการออกมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงกว่า 80% ภาคส่งออกยังคงติดลบกว่าที่หลายๆ ฝ่ายคาดการณ์ไว้ อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ชัดเจน ไม่มั่นใจ ไม่กล้าที่จะนำเงินออกมาใช้จ่ายมากนัก รวมไปถึงเศรษฐกิจ หลายๆ ประเทศชะลอตัวลง และไม่ค่อยมีการลงทุน"

                ดังนั้น เมื่อจีดีพีโตต่ำอัตราการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังโตไม่มาก โดยสินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าโต 4-6% มาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่ขยายตัว 4-6% สินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อมขยายตัว 3-6% ส่วนสินเชื่อรายย่อยขยายตัว 3-5% ขณะที่ธนาคารจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้ไม่เกิน 3% จากปีก่อนที่มีอยู่ 2.8%

                นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางและอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง การดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบ อย่างมากต่อความเชื่อมั่นของตลาด เช่น เมื่อต้นปีได้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดเงินตลาดทุนโลกอันเป็นจากปัญหาเศรษฐกิจในจีน เป็นต้น ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่ควรวางใจกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แม้จะเห็นแนวโน้มที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยแนะนำให้ติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ควรวางแผนธุรกิจโดยพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมอย่างรัดกุม รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่ไม่ควรละเลยเพื่อให้ธุรกิจสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                "ปัจจุบันตลาดโลกอ่อนไหวต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้น ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงนักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนจะต้องให้ความสำคัญต่อการบริหาร และกระจายความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่า ปี 2559 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับความผันผวน  และประเทศไทยก็คงไม่สามารถ หลีกเลี่ยงผลกระทบได้เช่นกัน"

สะท้อนเศรษฐกิจชะลอ ธปท.แจงยอดหนี้เสียปี 58 เพิ่ม 6 หมื่นล.

                ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ธปท.ได้ประกาศข้อมูลหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินในระบบล่าสุด ณ สิ้นปี 58 พบว่า สถาบันการเงินในระบบมียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 3.38 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอล 2.56% ของสินเชื่อรวมก่อนหักเงินสำรอง ณ สิ้นปี 58 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 57 ที่มียอดคงค้าง 2.78 แสนล้านบาท คิดเป็นเอ็นพีแอล 2.16% ของสินเชื่อรวม หมายถึงมีการเพิ่มขึ้นของยอดเอ็นพีแอลเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียดังกล่าวเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

                ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ในช่วงสิ้นปี 58 มียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 3.33 แสนล้านบาท หรือ 2.69% ของสินเชื่อรวม เทียบกับสิ้นปี 57 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 2.72 แสนล้านบาท สัดส่วนเอ็นพีแอล 2.31% ของสินเชื่อรวม ทำให้ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 6.10 หมื่นล้านบาท ขณะที่สาขาธนาคารต่างชาติมียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 4,640 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเอ็นพีแอล 0.56% จากสิ้นปี 57 มียอดคงค้างอยู่ที่ 5,330 ล้านบาท คิดเป็น 0.48% ทำให้ปริมาณเอ็นพีแอลลดลง 688 ล้านบาท

                หากพิจารณาธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง เทียบข้อมูลเอ็นพีแอลปัจจุบัน ณ ปี 58 กับปี 57 ปรากฏว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มียอดเพิ่มขึ้น โดยมากที่สุดเป็นธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้น 18,200 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 15,600 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 13,200 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้น 10,600 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กมีเอ็นพีแอลลดลง ธนาคารธนชาตลดลง 6,610 ล้านบาท ธนาคารทิสโก้ลดลง 290 ล้านบาท ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ลดลง 62 ล้านบาท.

                ที่มา : www.thairath.co.th

PACE คาดโอน-รับรู้ฯโครงการมหานคร Q2/59 แผนขยายดีน แอนด์ เดลูก้าชัดขึ้น

                นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) มั่นใจว่าปีนี้จะได้เห็นความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องทุกโครงการ โดยเฉพาะโครงการมหานครที่จะสามารถโอนห้องและเริ่มรับรู้รายได้ในปลายไตรมาส 2/59 นี้ รวมถึงความชัดเจนของแผนการขยายธุรกิจ ดีน แอนด์ เดลูก้า (DEAN & DELUCA) และโครงการใหม่ที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

                นอกจากจะเพิ่งไปร่วมงานโรดโชว์ของ CLSA ที่ฮ่องกงโดย PACE เป็นหนึ่งในสองบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะบริษัทที่มีศักยภาพสูงในการเติบโตที่ได้รับเชิญ และล่าสุด โครงการมหาสมุทร ที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่ได้รับทั้งเสียงชื่นชมและเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากลูกค้าว่าเป็นอีเว้นท์แห่งปี

                        อินโฟเควสท์

 

 


SMT คาดล้างขาดทุนสะสมราว 60 ลบ.หมดใน Q1/59, มั่นใจปีนี้พลิกมีกำไร

    นายพีระพล วิไลวงศ์เสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) (SMT) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 60 ล้านบาทได้ภายในไตรมาส 1/59 โดยจะนำกำไรจากการดำเนินงานมาใช้

   บริษัทมองแนวโน้มกำไรในไตรมาส 1/59 คาดว่าจะสูงขึ้นจากไตรมาส 4/58 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 15 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีการขึ้น plant งาน New product ให้กับลูกค้า 3 ราย ทำให้เริ่มมีรายได้จากงานที่ให้อัตรากำไร(มาร์จิ้น)ดีในะดับเฉลี่ยที่ 10-20% ส่งผลให้กำไรในไตรมาสนี้สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากเทียบกับไตรมาส 1/58 แล้ว ถือว่าผลการดำเนินงานของบริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้

    “ปีนี้ เราก็มั่นใจจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ จากปีก่อนที่ขาดทุน 55 ล้านบาท เพราะปีนี้เรามีตัว New product ที่เข้ามาเสริม ซึ่งให้มาร์จิ้นสูง และงาน IC packaging ก็ยังมีการเติบโตอยู่ ซึ่งส่งผลต่อกำไรของบริษัทเรา โดยไตรมาสแรกนี้ก็จะเห็นกำไรดีขึ้น จากงาน New product ของลูกค้า 3 ราย เริ่มขึ้นแพลนท์แล้ว ทำให้เรามีรายได้และกำไรจากงานส่วนนี้เข้ามา ซึ่งหนุนให้กำไรไตรมาสแรกก็จะดีขึ้นจากไตรมาส 4/58 และก็คาดว่าคงจะนำกำไรมาล้างขาดทุนสะสมได้ ส่วนการจ่ายเงินปันผลหลังบริษัทมีกำไรก็อยู่ระหว่างการพิจารณากับคณะกรรมการบริษัท"นายพีระพล กล่าว

   สำหรับ ยอดขายของบริษัทในปีนี้ตั้งเป้าอยู่ที่กว่า 8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 7.6 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นยอดขายของ New product  และส่วนที่เหลือจะเป็นยอดขายของ MMA, IC packaging, Wafer และ HDD สำหรับ New product ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสรุปและการติดตั้งแพลนท์ผลิตให้กับลุกค้า 10 ราย ซึ่งจะทยอยในปีนี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้จะเพิ่มเป็น 6-9% จากปีก่อนที่ 1.93% จากงาน New product หนุน

      ส่วนงบลงทุนในปีนี้บริษัทตั้งไว้ที่ 200 ล้านบาท แบ่งเป็น การซื้อและติดตั้งเครื่องจักรใหม่สำหรับงาน New product จำรวน 100 ล้านบาท และการซื้อและปรับปรุงประสิทธิภพเครื่องจักรสำหรับงานเดิมอีก 100 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบรัทและเงินกุ้จากสถาบันการเงิน

    นายพีระพล ยังกล่าวถึงโครงการขายแผงโซลาร์ให้กับลูกค้าจากอเมริกาว่า ได้เลื่อนกรอบระยะเวลาสรุปความชัดเจนไปเป็นไตรมาส 3/59 จากเดิมคาดว่าในช่วงเดือน ม.ค.59 ซึ่งเป็นผลมาจากลูกค้าต้องการให้การผลิตแผงโซลาร์เซลล์มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดของงานที่ลึกขึ้น ทำให้กระบวนการต่างๆต้องใช้ระยะเวลาในการทำแผนงานเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อความชัดเจนในการสรุปงานดังกล่าว

        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!