WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.ระบุ เศรษฐกิจ มี.ค.หดตัวต่อเนื่องแต่ไม่มาก คาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

     นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค.57 โดยรวมหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้าและได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการปิดซ่อมโรงงานในบางอุตสาหกรรม ประกอบกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มทรงตัว เนื่องจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่างประเทศต่อสถานการณ์การเมืองผ่อนคลายลงบ้างหลังการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ขาดดุลจากการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย

    "กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างทรงตัว และมีเสถียรภาพมากขึ้น...จากตัวเลขเดือน มี.ค.เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว เห็นได้จากการบริโภคและการลงทุนที่ค่อนข้างทรงตัวใกล้เคียงกับเดือน ก.พ.แต่จะต้องรอดูตัวเลขของเดือน เม.ย.ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 2 ว่าจะฟื้นตัวมากแค่ไหน หากทรงตัวในระดับนี้ก็ย่อมไม่เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน"ธปท.ระบุ

     ส่วนภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1/57 มีแนวโน้มหดตัวจากไตรมาสก่อน จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้ครัวเรือนและธุรกิจระมัดระวังในการบริโภคและลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐทำได้จำกัดโดยเฉพาะงบลงทุน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวมากขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าที่มีทิศทางปรับดีขึ้นไม่สามารถชดเชยการหดตัวดังกล่าวได้ จึงส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว

    สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูป ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ การออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทยและการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

    "ไตรมาส 1 ของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 56 ยอมรับว่าขยายตัวสู้ไม่ได้ เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนเพิ่งเกิดผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายไตรมาส แต่ไตรมาส 1 กระทบยืดเยื้อเต็มไตรมาส ทำให้ภาคธุรกิจมีความระมัดระวังการใช้จ่ายและลงทุนค่อนข้างมาก เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่"นายดอน กล่าว

     ทั้งนี้ ปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจที่ยังมีความแข็งแกร่ง มาจากการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำแม้เศรษฐกิจซบเซา รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล แต่ยอมรับว่ามาจากการหดตัวของการนำเข้าที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจเหมือนเมื่อปี 40 แต่สุดท้ายก็จะกลับมา โดยการนำเข้าที่หดตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคไม่น่าจะลงไปได้ต่ำกว่านี้ และการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและส่งออกบางอุตสาหกรรมยังอยูในเกณฑ์ที่ดี

     อย่างไรก็ตาม ภาพรวมก็ยอมรับว่าเป็นภาพของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เนื่องจากการนำเข้าหดตัวกว่าที่คาดไว้เมื่อตอนต้นปี สะท้อนการลงทุนในประเทศที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะอาจมีการชะลอการลงทุนมากกว่าที่คาดไว้เช่นกัน

     ในระยะสั้นถ้าเศรษฐกิจเป็นไปตามที่คาดไว้ว่ากรณีฐานเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4/57 เพราะประเมินว่าภาพรวมจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดช่วงไตรมาส 1 ไปแล้ว จึงมองว่าช่วงไตรมาส 2 ไตรมาส 3 น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น และฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากความเชื่อมั่นจะกลับมา

อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!