WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไท สนตประภพผู้ว่าธปท. เตือนระวังเงินบาทผันผวนรุนแรง หลังเงินไหลเข้าต่อเนื่อง หนุนค่าบาทแข็งค่าแล้ว 4% ตั้งแต่ต้นปี พร้อมแนะประกันความเสี่ยง

  ผู้ว่าธปท.รับค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนรุนแรง หลังพบตั้งแต่ต้นปี ค่าบาทแข็งค่า 4% รับยังมีเงินไหลเข้าไทยต่อเนื่องหลังจีดีพี Q2/59 สดใส - ปชช.รับร่างรธน. แนะเอกชนทำประกันความเสี่ยง ขณะที่ยันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐยังมีความมั่นคง มีสินทรัพย์รวม 5 ล้านลบ. พร้อมแนะนำแบงก์บางแห่งที่เข้าแผนปฏิรูปเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู หวั่นเผชิญความเสี่ยงจากศก.โลกผันผวน ขณะเดียวกัน เตือนปชช.รักษาข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวกับระบบการเงิน ป้องกันมิจฉาชีพสวมรอย

   นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ พลิกโฉม SFIs กับภารกิจที่ตอบโจทย์และตรงจุด เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง ว่า ธปท.ยอมรับในระยะต่อไปค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนรุนแรง จากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะจากการดำเนินนโยบายทางการเงิน ของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่ล่าสุดส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆในภูมิภาคนั้น ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่า 4% ขณะที่เงินเยนของญี่ปุ่น แข็งค่า 20% 

   “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลง และส่งผลให้มีเงินไหลเข้าประเทศอื่นๆมากขึ้น รวมถึงการไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรของไทย แต่ยังไม่พบว่าเงินไหลเข้าดังกล่าวนั้นเข้ามาในกลุ่มที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินไหลเข้านั้น มาจากปัจจัยบวกทั้งจากการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมองว่า ความผันผวนจะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง และบางจังหวะอาจเป็นการผันผวนที่รุนแรงตามกระแสข่าวต่างๆในระยะสั้น”นายวิรไท กล่าว 

    นายวิรไท กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การทำประกันความเสี่ยงเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว   

   ส่วนการดูแลและกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFI ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. นั้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ธปท. และ SFI ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีการแบ่งบทบาทที่ชัดเจน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. โดยทำหน้าที่คล้ายเจ้าของกิจการแทนประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ทำหน้าที่กำกับนโยบายในการให้ SFI ปฏิบัติตามพันธกิจ ธปท. มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามที่ได้รับมอบหมาย และ SFI ทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

     นายวิรไท กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้เสนอกฎเกณฑ์ทั้งหมด 24 เรื่องเพื่อให้ SFI ดำเนินการ โดยกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้ว 1 เรื่อง คือ การประกาศให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะต้องประกาศผลประกอบการ หรือ เปิดเผยภาระที่ดำเนินงานตามพันธกิจของรัฐบาล โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า ขณะนี้ฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีความเข้มแข็ง โดยมีสินทรัพย์ปัจจุบันประมาณ 5 ล้านล้านบาท และมีเงินกองทุนอยู่ในระดับเกณฑ์ดี มีการขยายตัวสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ในระดับดี 

    ขณะที่ 1-2 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่อยู่ในแผนกระบวนการฟื้นฟูนั้น ธปท.ได้เข้าไปแนะนำ และเสนอวิธีการเพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินตามแผนฟื้นฟู เพื่อให้สามารถกลับมาทำหน้าทีได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินฯดังกล่าวมีปัญหา เพราะขาดกฎเกณฑ์ในการดูและและควบคุม  

     นายวิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของ SFI ในระบบเศรษฐกิจไทยนั้น ถือเป็นบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ SFI ยังทำหน้าที่สำคัญในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เช่น การเป็นช่องทางการกระจายสวัสดิการและความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มเป้าหมาย หรือแม้แต่ยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

   ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธปท.ในการกำหนดบทบาทของ SFI ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 ให้เป็นสถาบันการเงินหลักในการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค เพื่อเติมเต็มช่องว่างของการให้บริการทางการเงินเชิงพาณิชย์ และมีการแก้ไข พ.ร.บ.เพื่อขยายบทบาทของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 

    อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่า ในทุกประเทศประชาธิปไตยนั้น เรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นเรื่องที่ได้รับควาทสำคัญอย่างมากจากประชาชน นักการเมือง และรัฐบาล และในหลายโอกาสการเติบโตระยะสั้นเป็นโจทย์ใหญ่จนกระทั่งระยะยาว และในบางครั้ง SFI ถูกร้องขอให้เป็นเครื่องมือในการตอบสนองนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รอบด้าน จนอาจก่อให้เกิดควาเมสียหายต่อฐานะการดำเนินงานของ SFI และสร้างภาระการคลังให้แก่ประเทศในระยะยาว 

     ส่วนความท้าทายของ SFI ที่จะต้องให้ความสำคัญ คือ ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนในเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีผลต่อรายได้ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และส่งออก กลุ่มเกษตรกรเป็นต้น ดังนั้น SFI จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การให้บริการอย่างเหมาะสม ด้านที่สอง คือ การพัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงินได้หลายช่องทางและง่ายขึ้น รวมถึงการเข้ามาของ Fintech ที่จะมาดึงลูกค้าและดึงบุคลากรสำคัญจากองค์กรไป  ดังนั้น SFI จะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อให้กระบวนการบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ SFI จะต้องพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะเอื้อให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ได้ง่ายขึ้น เช่น กลุ่ม FinTech จึงเป็นการสร้างแรงกดดันต่อการแข่งขัน 

    นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความท้าทายจากฎกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากการกำกับดูแลของธปท. กฎเกณฑ์กติกาใหม่ๆ จากการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ มาตรฐานการบัญชีใหม่ ซึ่ง SFI จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้ความเข้าใจ และความพร้อมของระบบงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการอย่างเหมาะสมในอนาคตต่อไป

    ส่วนกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่ของระบบเทคโนโลยีสร้างความเสียหายในระบบการเงินนั้น เกิดจากกลุ่มมิจฉาชีพมีการหาประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น จะต้องแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มที่จะต้องร่วมกันดูแล คือ กลุ่มแรกคือประชาชน ที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับระบบเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น โดยประชาชนจะต้องรักษาความลับ หรือรหัสผ่านต่างๆ ขณะที่กลุ่มที่สองคือ กลุ่มสถาบันการเงิน จะต้องเร่งหาช่องโหว่จากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และเร่งแก้ไขปัญหาให้ทันถ่วงที 

   ด้านกลุ่มที่สาม คือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ การทำงานจะต้องมีความรัดกุม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งเข้ามาแก้ไข โดยเฉพาะด้านการพิสูจน์ตัวตน เช่น ระบบลายนิ้วมือ หรือ ม่านตา เป็นต้น กลุ่มที่สี่ คือ หน่วยงานกำกับดูแล ทั้งธปท. และกสทช. ที่จะต้องร่วมกันพัฒนาและหาแนวทางเพื่อปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น 

    “ส่วนกรณีการชดเชยความเสียหายนั้น จะต้องคำนึงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ซึ่งหลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากบุคคลใกล้ชิด ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้น อยากให้ทุกคนเร่งตระหนักถึงบทบาทของตัวเอง”นายวิรไท กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!