WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAจาตรงค จนทรงษ copyธปท.เปิดรายงาน กนง.ระบุนโยบายการเงินควรผ่อนปรนจนกว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวชัดเจนและเข้มแข็งมากขึ้น

     นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2560 โดยระบุว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 และ 29 มี.ค.60 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นและดีกว่าที่คาดไว้เดิม

     พร้อมมองว่า นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนจนกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะชัดเจนและเข้มแข็งมากขึ้น และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงินในระยะต่อไป ภายใต้ความเสี่ยงจากต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออก

     "คณะกรรมการฯ พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ"รายงาน กนง.ระบุ

     ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทขยายตัวได้ดีขึ้นและดีกว่าที่คาดไว้ ตามการส่งออกที่ขยายตัวชัดเจนและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว แต่ผลดีจากภาคการส่งออกต่อการจ้างงานและรายได้ยังจำกัด ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้วและมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้น แม้จะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้จากข้อมูลจริงและราคาน้ำมันดิบที่ลดลง

      ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย ปริมาณการระดมทุนขยายตัวได้ดีในธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นแต่มีผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนไม่มาก เพราะธุรกิจไทยระดมทุนผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นถึงปานกลางเป็นหลัก เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเทียบกับสกุลคู่ค้าสำคัญ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ดีกว่า ในระยะข้างหน้าเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนสูง การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสมของภาคเอกชนจึงมีความสำคัญมากขึ้น

     เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงของ SMEs และภาคครัวเรือน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks) ตลอดจนความเสี่ยงจากธนาคารเงา (shadow banking) หรือความเสี่ยงจุดอื่นที่ยังไม่ปรากฏขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจบางส่วนระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้น จนอาจเป็นความเสี่ยงได้หากไม่มีความสมดุลของอายุระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ทั้งนี้การประสานงานระหว่างองค์กรกำกับดูแลต่างๆ จะมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงของการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินไทยในระยะต่อไป

      สำหรับ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยนั้น รายงานกนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2559 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% และ 3.6% ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 2.2% นำโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามความนิยมใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่มากขึ้น และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดี รวมทั้งมีธุรกิจบางรายย้ายฐานการผลิตมาไทย เช่น ยางล้อรถยนต์ แผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหมวดสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ

       การส่งออกบริการฟื้นตัวได้เร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายคลี่คลาย ทั้งนี้ การขยายระยะเวลามาตรการลด/ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า รวมทั้งมาตรการจำกัดการขายแพคเกจท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ของทางการจีนที่คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเปลี่ยนมาเที่ยวไทยมากขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการฯ ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2560 มาอยู่ที่ 34.5 ล้านคน

       การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ ตามโครงการประชารัฐสร้างไทยที่ชัดเจนขึ้น กรอบวงเงินงบประมาณปี 2561 ที่สูงกว่าที่คาด และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เบิกจ่ายได้เร็วขึ้น แม้จะมีการเลื่อนแผนลงทุนรถไฟทางคู่บางส่วนออกไปเป็นปีหน้าตามการทบทวนการจัดซื้อจัดจ้าง

     การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แรงสนับสนุนหลักมาจาก (1) รายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต โดยราคายางพาราสูงขึ้นและผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น (2) รายได้ครัวเรือนภาคบริการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และ (3) กำลังซื้อบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังรายจ่ายผ่อนชำระตามมาตรการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลง อย่างไรก็ตาม รายได้และการจ้างงานในภาพรวมอาจยังไม่ได้รับผลดีจากการส่งออกสินค้ามากนัก เพราะสินค้าส่งออกที่ฟื้นตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต

     การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวในบางธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานทดแทน แม้ในช่วงแรกการลงทุนอาจได้รับผลดีไม่มากนักจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัว เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ในระยะต่อไป การลงทุนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงขึ้นได้หลังจากที่การบริโภคและการส่งออกขยายตัวชัดเจนขึ้น

     อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทยอยเข้าใกล้ค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงิน ตามปัจจัยด้านต้นทุนจากราคาน้ำมันซึ่งมีฐานต่ำในปีก่อน และปัจจัยด้านอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อาจผันผวนได้ในระยะสั้นจากผลของฐานราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นในปีที่แล้วจากปัญหาภัยแล้ง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากพัฒนาการราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันของโลก โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 1.2% และ 1.9% ตามลำดับ

      "ประมาณการเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านต่ำมากกว่าด้านสูง และความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำมากกว่าเดิม จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบการส่งออก และความเสี่ยงในภาคการเงินของจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำ แม้โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้าง จากการลงทุนภาครัฐที่อาจกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจทำได้มากกว่าคาด"รายงาน กนง.ระบุ

   อินโฟเควสท์

ธปท.มองหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบอาจมีเงินทุนไหลออกบ้าง-บาทอ่อนลง แต่ยังไม่น่ากังวล

      นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งอาจมีผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศบ้าง และเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลง แต่ผลกระทบคงไม่มากจนน่ากังวล เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยมีความเข้มแข็ง

     "ตลาดมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในอัตราที่น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม และน้อยกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเพราะเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภูมิภาค" นายจาตุรงค์ กล่าว

      นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 3.4% โดยมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนในหลายกลุ่มสินค้า ซึ่งคาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ 2.2% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวเร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้จากโครงการประชารัฐ

    "เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายมีเพียงปัจจัยเดียว คือ การส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศขอสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ขณะที่ปัจจัยด้านบวกที่ให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าเป้าหมาย คือ การลงทุนของภาครัฐสามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผน ส่งผลต่อภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนตาม เพิ่มเติมจากการการลงทุนที่ได้รับผลบวกจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว"นายจาตุรงค์ กล่าว

     สำหรับ กรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐมีคำสั่งให้ตรวจสอบ 16 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ รวมทั้งไทยนั้น ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไปในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ว่าสหรัฐจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งคงไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ในขณะนี้ และแม้ว่าสหรัฐจะดำเนินการตอบโต้หรือกีดกันทางการค้าจริง กระบวนการต่างๆ ก็จะต้องใช้เวลาสักระยะ ซึ่งคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศว่ามีสินค้าส่งออกรายการใดบ้างที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยไม่สมควร

     ส่วนกรณีเหตุพิพาทระหว่างสหรัฐฯกับซีเรียนั้น มองว่า ขณะนี้ยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกได้บ้าง แต่คงยังไม่มากเท่ากับกรณีกลุ่มผู้ค้าน้ำมันประกาศลดกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมากกว่า

      อินโฟเควสท์

ธปท.กระตุ้นผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผันผวนเพื่อความอยู่รอดยั่งยืนในระยะยาว

   ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความ'รับมือบาทผันผวนด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน'ระบุว่า ความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ และอาจรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกและนำเข้า เพราะแม้แนวโน้มการค้าของไทยเริ่มฟื้นตัว แต่คงไม่มีใครอยากให้กำไรถูกกลืนหายไปด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดเดาทิศทางได้ยาก

     ทั้งนี้ ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือน ก.พ.60 สะท้อนความกังวลเพิ่มขึ้นเพราะเกรงว่าค่าเงินบาทผันผวนจะมีส่วนทำให้ผลประกอบการแย่ลง จึงเริ่มมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่จะอยู่รอดปลอดภัยอย่างยั่งยืนในระยะยาวคือภาคเอกชนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

    บทความระบุว่า เป็นที่น่าตกใจว่าผู้ส่งออกไทยกว่า 60% ไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินเลย แม้อาจ0tมีลู่ทางที่ช่วยลดความเสี่ยงลงบ้าง เช่น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้สามารถบริหารรายได้และรายจ่ายที่เป็นเงินสกุลเดียวกันได้ แต่ในภาพรวมการป้องกันความเสี่ยงของผู้ส่งออกไทยยังถือว่าค่อนข้างต่ำ จึงมีโอกาสสูญเสียรายได้จากความผันผวนของค่าเงิน

    "สมมติว่า มีการส่งออกสินค้ามูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สรอ. ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 35 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. หากเงินบาทแข็งค่าไปที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.จะทำให้รายได้ลดลง 1 ล้านบาท แต่ถ้าทำสัญญาขายเงินล่วงหน้าตามอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด จะทำให้ผู้ส่งออกสามารถรับรู้รายได้ที่แน่นอนโดยไม่ต้องห่วงเรื่องทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า"บทความระบุ

     อีกทั้ง ผู้ประกอบการบางส่วนอาจไม่อยากป้องกันความเสี่ยงเพราะคิดว่าทางการจะคอยดูแลไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวมาก จึงไม่ควรขาดทุนกำไรไปบางส่วนเพื่อไปเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง แต่ข้อเท็จจริงคือ ค่าเงินเกือบทั้งโลกมีความผันผวนมากขึ้น แม้ค่าเงินบาทโดยรวมผันผวนน้อยกว่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ แต่ก็เคลื่อนไหวผันผวนขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ตามสภาพของตลาดโลกที่ไม่อาจทัดทานได้

     ที่สำคัญ ผู้ประกอบการที่ป้องกันความเสี่ยงน้อยคือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจำนวนหนึ่งยังขาดความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หรืออาจเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคาร แต่จากข้อมูลพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยง พบว่าผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยอาจพยายามเก็งทิศทางค่าเงิน และเลือกที่จะไม่ป้องกันความเสี่ยงทั้งที่มีโอกาสทำได้ ดังนั้น จึงเห็นพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยงที่ขาดความต่อเนื่องจนเกิดอาการแห่ป้องกันความเสี่ยงในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งจะยิ่งกดดันค่าเงินและซ้ำเติมผลกระทบให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

      ตัวอย่างเช่นในช่วงเดือน ก.ค.55-มิ.ย.56 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างมากทั้งด้านแข็งค่าและอ่อนค่า สัดส่วนผู้ส่งออกรายเล็กที่ป้องกันความเสี่ยงเหวี่ยงขึ้นลงระหว่าง 33% กับ 46% เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ป้องกันความเสี่ยงที่อยู่ราว 60% จึงเป็นอุทาหรณ์ว่าเมื่อเกิดความชะล่าใจอาจต้องมาเร่งปิดความเสี่ยงในภายหลัง ซึ่งนอกจากต้นทุนจะสูงขึ้นแล้ว ยังจะสร้างความกังวลโดยไม่จำเป็น กลายเป็น“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" ไป

      การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในภูมิคุ้มกันความมั่นคงของรายได้ที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถสร้างได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นพิจารณาธุรกิจของตนว่ามีภาระทั้งการนำเข้าและส่งออกหรือไม่ และจะสามารถบริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศด้วยการนำรายได้และรายจ่ายสกุลเดียวกันที่มีการส่งมอบในเวลาใกล้เคียงกันมาหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่ (Natural hedge) หรือหากผู้ประกอบการสามารถรับชำระหรือจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินบาทก็จะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินไปได้มากหากสามารถตกลงกับคู่ค้าได้

      นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการทางการเงินผ่านธนาคารเพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างเช่นการเปิดบัญชี FCD เพื่อนำเงินรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีไว้ตรียมชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าสินค้า บริการ และภาระหนี้ที่เป็นสกุลต่างประเทศ โดยการใช้บัญชี FCD มีต้นทุนเป็นค่าธรรมเนียมฝากหรือถอน (Commission in Lieu) รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร หรือบริหารความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward contract)

     ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญก็สามารถเลือกใช้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น การซื้อสิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Options contract) เพื่อช่วยเสริมให้สัญญามีความยืดหยุ่นในยามที่ค่าเงินผิดไปจากความคาดหมาย โดยเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้เมื่อถึงวันครบกำหนด แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่สูงขึ้น

      ผู้ประกอบการมือใหม่ที่สนใจป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินโดยใช้สัญญาล่วงหน้าสามารถติดต่อขอเปิดวงเงินจากฝ่ายสินเชื่อของธนาคารที่ผู้ประกอบการใช้บริการเป็นหลัก โดยยื่นหลักฐานว่ามีการส่งออกหรือน เข้าสินค้าจริง เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า หรือ Letter of Credit (L/C) เพื่อให้ทางธนาคารพิจารณาวงเงิน Forwards หรือ Options ที่เหมาะสมตามมูลค่าธุรกรรมทางการค้าและเครดิตของลูกค้า เมื่อลูกค้าผ่านเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดก็สามารถซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงได้ทันที

     บทความดังกล่าวระบุอีกว่า การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างถูกวิธีและมีวินัยจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบราคาสินค้าที่ซื้อหรือขายในอนาคตได้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยให้การวางแผนธุรกิจในอนาคตง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้ในระยะยาวจำเป็นต้องเกิดจากการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของรายได้อย่างยั่งยืนโดยไม่มุ่งหวังกำไรจากค่าเงิน

    อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!