WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1Aqr

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดตัว 'คิวอาร์โค้ด' ระบบการชำระเงินมาตรฐานกลาง ดีเดย์ไตรมาส 4 ปี 60

       เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับผู้บริหารบริษัท American Express, JCB International, Mastercard, VISA, UnionPay International, สมาคมธนาคารไทย, สภาสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย, สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, บริษัท National ITMX จำกัด และบริษัท Thai Payment Network จำกัด แถลงข่าวความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อการชำระเงิน ณ ห้องภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 สำนักงานใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศไทย

        เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรรายใหญ่ของโลก 5 แห่ง ได้แก่ American Express, JCB, Mastercard, UnionPay และ VISA และผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย, สภาสถาบันการเงินของรัฐ, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย, สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, บริษัท National ITMX จำกัด และบริษัท Thai Payment Network จำกัด แถลงข่าวความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อการชำระเงินว่า ธปท. ได้ผลักดันการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลักดันโครงการ National e-Payment การปรับเปลี่ยนบัตร ATM และบัตรเดบิตให้เป็นชิปการ์ด การยกระดับความปลอดภัยการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ การนำหลักการของ Regulatory Sandbox มาใช้เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงิน และการนำพระราชบัญญัติระบบการชำระเงินมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจด้านการชำระเงิน

        อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ธปท. ได้ยกระดับระบบการชำระเงินไปอีกขั้นหนึ่ง และถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรรายใหญ่ของโลก 5 แห่งมาร่วมกันนำมาตรฐานคิวอาร์โค้ดมาใช้ในประเทศไทย เพื่อให้การชำระเงินเป็นมาตรฐานเดียวกัน, ลดความซ้ำซ้อนในการใช้คิวอาร์โค้ดซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ, ช่วยเสริมต่อแนวทางการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ในมิติต่างๆ และยังช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน

        ทั้งนี้ การใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงินมีหลักการและประโยชน์สำคัญใน 4 ประการ คือ

               1) เป็นมาตรฐานกลางที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและใช้งานร่วมกันได้ทั้งรายการชำระเงินในประเทศและต่างประเทศ โดยร้านค้าคิวอาร์โค้ดเดียวก็สามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายจากลูกค้าได้

               2) เป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวกและมีต้นทุนต่ำให้แก่ประชาชนและร้านค้า ช่วยให้การจัดทำบัญชีและกระทบยอดเงินเข้าง่ายกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสดมาก

               3) เป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงิน เจ้าของบัตรไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลบนบัตรแก่ร้านค้าและระบบงานที่รองรับเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีความปลอดภัย

               4) สามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายได้โดยง่าย เป็นรากฐานสำคัญของร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะเก็บข้อมูลการรับชำระเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้านรวมถึงการขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินในหลายประเทศได้เริ่มให้สินเชื่อโดยใช้ข้อมูลชำระเงินเป็นข้อมูลอ้างอิง (Information-based lending) แทนการใช้สินทรัพย์ถาวรเป็นหลักประกันแล้ว และยังช่วยให้ก้าวข้ามอุปสรรคของการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีจากเดิมที่ต้องใช้หลักประกันเพียงอย่างเดียว

       ในขั้นตอนต่อไป ธนาคารหรือผู้ให้บริการต้องเสนอโครงการเข้าพิจารณาใน Regulatory Sandbox เพื่อทดสอบให้มั่นใจในความถูกต้องของการทำรายการและการดูแลผู้ใช้บริการ ซึ่งมีธนาคาร 2 แห่งอยู่ระหว่างการทดสอบ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย และมีอีก 6 แห่งที่อยู่ระว่างยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารออมสิน และธนาคารธนชาติ โดยการให้บริการจริงจะทยอยเปิดตามความพร้อมต่อไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2560 ขณะที่ค่าธรรมเนียมการให้บริการจะยังคงเป็นไปตามรูปแบบการชำระเงินพื้นฐานเดิม เช่น ใช้บริการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตหรือพร้อมเพย์ โดยระบบคิวอาร์โค้ดจะเป็นเพียงสื่อกลางของการชำระเงิน ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีทางเลือก ความสะดวก รวมถึงความปลอดภัยมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การชำระเงินด้วยบัตรเครดิตที่ผ่านลูกค้าจะต้องส่งบัตรเครดิตให้กับร้านค้า อาจจะเป็นช่องช่องทางให้เกิดการทุจริต ขณะที่ระบบคิวอาร์โค้ดจะย้ายเข้ามาอยู่ในมือถือของประชาชน สามารถปิดช่องการทุจริตได้ โดยทางผู้ให้บริการคิวอาร์โค้ดจะต้องมีระบบยืนยันตัวบุคคลที่ชัดเจนแทน เป็นต้น

       สำหรับ จำนวนร้านค้าที่คาดว่าจะเข้าร่วมใช้งานระบบคิวอาร์โค้ด ดร.วิรไท กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถประมาณการได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการให้บริการ หลังจากร้านค้าและประชาชนเริ่มต้นใช้บริการคิวอาร์โค้ดเมื่อไหร่ และพบว่าการชำระเงินในรูปแบบนี้มีความสะดวกและปลอดภัยมากกว่า คาดว่าจำนวนร้านค้าที่จะเปิดให้บริการคิวอาร์โค้ดก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบคิวอาร์โค้ดของประเทศไทยมีความพิเศษตรงที่เป็นระบบมาตรฐานกลาง ทำให้ร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีคิวอาร์โค้ดหลายอัน แยกตามผู้ให้บริการทางการเงิน นอกจากนี้ระบบคิวอาร์โค้ดยังช่วยให้ร้านค้าต่างๆ จัดเก็บข้อมูลได้อย่างละเอียดมากขึ้น สามารถนำไปใช้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และยังใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับประโยชน์จากการนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้ค่อนข้างมาก

 

กสิกรไทย เปิดมิติใหม่รับ-จ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ดบนมือถือ

      ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำเบอร์ 1 ดิจิทัล แบงกิ้ง ล้ำมาแรงกับเทคโนโลยีชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดบนมือถือ 'K PLUS SHOP'แอปฯ สำหรับร้านค้าแอปแรกในประเทศไทย ช่วยขายคล่อง “ยิงปิ๊บ จ่ายปั๊บ” เจาะร้านค้าย่อย 3 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสินค้าแฟชั่น และการเดินทางในชีวิตประจำวัน ประเดิม 3 พื้นที่ ได้แก่ สยามสแควร์ จตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ กว่า 10,000 จุด พร้อมขยายทั่วประเทศในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าร้านค้ารับชำระกว่า 200,000 ร้านค้า มูลค่าธุรกรรมปีนี้ 800 ล้านบาท

       นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยพร้อมให้บริการระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดอย่างเต็มรูปแบบกับกลุ่มร้านค้าขนาดย่อม ผ่านแอปพลิเคชัน   K PLUS SHOP เป็นแอปฯ แรกที่รับจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด สะดวกทั้งมุมของคนขาย ในขณะที่ลูกค้าสามารถใช้ฟีเจอร์อ่านคิวอาร์ โค้ด ที่อยู่บนแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งใดก็ได้ ยิงที่คิวอาร์โค้ดของร้านก็สามารถชำระเงินให้กับร้านค้าได้ทันที และในอนาคตจะสามารถรับการชำระเงินจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยผ่านคิวอาร์ โค้ด ในแอปพลิเคชั่นที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้อย่างอาลีเพย์ (Alipay) และวีแชท (WeChat) K PLUS SHOP จึงเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้บริโภค และเป็นนวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นสังคมไร้เงินสดตามนโยบายของรัฐบาล

        “K PLUS SHOP จะช่วยเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการขายสินค้าและบริการให้กับร้านค้าขนาดย่อม เนื่องจากการเติบโตของโมบาย แบงกิ้ง และผู้บริโภคมีแนวโน้มทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขผู้ใช้งานโมบาย แบงกิ้งทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปี 2559 ที่เติบโตขึ้น 50% และแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ K PLUS ของธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นผู้นำตลาดโมบาย แบงกิ้ง มีจำนวนผู้ใช้กว่า 6  ล้านราย ในขณะที่กลุ่มเจ้าของร้านค้าขนาดย่อม จะมองหาบริการทางการเงินที่คล่องตัว เชื่อมโยงการรับจ่ายเงินแบบไม่มีสะดุด (Seamless Experience of Mobile Wallet) และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ใน “ทันที” (now)” 

​         แอปพลิเคชันบนมือถือ K PLUS SHOP ภาษาใหม่ของการใช้จ่าย “ยิงปิ๊บ จ่ายปั๊บ” ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคิวอาร์ โค้ด ที่จะสร้างประสบการณ์การชำระเงินที่รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย ให้แก่ลูกค้าและ ร้านค้าขนาดย่อมที่มียอดการรับโอนเงินไม่เกิน 50,000 บาท/รายการ ทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสินค้าแฟชั่น และการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยในช่วงแรกมีพื้นที่การให้บริการใน 3 แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้แก่ สยามสแควร์ ตลาดนัดจตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ ซึ่งมีจำนวนร้านค้ารวมกันมากกว่า 10,000 ร้านค้า

       ขั้นตอนการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ K PLUS SHOP นั้นสะดวกและง่าย โดยเจ้าของร้านค้าสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน K PLUS SHOP ได้ทันทีในกรณีมี K PLUS อยู่แล้ว โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการสมัครหรือการรับชำระเงินผ่าน K PLUS SHOP แต่อย่างใด ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการเงินสด เช่น ไม่มีเงินทอนให้กับลูกค้า เงินเข้าบัญชีได้ทันทีพร้อมมีการแจ้งยอดรายการ โดยสรุปยอดขายได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ในขณะที่ลูกค้าสามารถใช้ฟีเจอร์อ่านคิวอาร์ โค้ด ที่อยู่บนแอปพลิเคชันโมบายแบงกิ้งใดก็ได้ ยิงที่คิวอาร์โค้ดของร้านก็สามารถชำระเงินให้กับร้านค้าได้ทันที

         นายพัชร กล่าวว่า “ในช่วงปีแรกของการเปิดตัว K PLUS SHOP  เน้นสร้างการรับรู้ให้กับร้านค้าและผู้บริโภคควบคู่กัน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจการใช้งานเทคโนโลยีคิวอาร์ โค้ด ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของระบบการชำระเงินของโลก และมั่นใจว่าการรับ-จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดจะได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากสามารถใช้บริการทั้งร้านค้าหรือธุรกิจขนาดย่อม เช่น ร้านของชำ ร้านอาหารตามสั่ง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง จนถึงร้านค้าขนาดใหญ่ สามารถสมัครใช้บริการได้ง่ายเพียงมีบัญชีของธนาคารก็สมัครได้ทันที และเป็นบริการที่ไม่กำหนดยอดชำระขั้นต่ำ ทั้งผู้จ่ายและผู้รับไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

           สำหรับ ในช่วงเริ่มต้นการให้บริการ ธนาคารได้มอบโปรโมชั่นให้กับร้านค้าที่ดาวน์โหลดใช้ K PLUS SHOP เมื่อมียอดรับชำระเงินไม่น้อยกว่า 200 บาทต่อครั้ง จะได้รับเครดิตเงินคืน (Cash Back) 100 บาท เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2560 สำหรับลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายครบ 300 บาท/รายการ ได้รับเครดิตเงินคืน (Cash Back) 50 บาท (จำกัด 1 สิทธิ์/ท่าน/เดือน) เริ่มตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายยอดดาวน์โหลดสำหรับร้านค้าไม่ต่ำกว่า 200,000 ร้านค้า และมีมูลค่าการทำธุรกรรม 800 ล้านบาทภายในสิ้นปี”

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!