WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กนง.ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย แม้ศก.Q1/57 หดตัวกว่าคาด ทั้งปีอาจโตไม่ถึง 2.7%

    คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุม ครั้งที่ 3/2557 วันที่ 23 เม.ย. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ตามตลาดคาดการณ์ เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กนง.เตรียมทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในการประชุมครั้งหน้า หลังจากเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 1/57 หดตัวมากกว่าคาด และทั้งปีอาจจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2.7%

     นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก กนง.กล่าวว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังคงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ซึ่งยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/57 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อนน่าจะติดลบ เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.57) ต่ำกว่าคาด

     และยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลข GDP ไตรมาส 2/57 เทียบกับไตรมาส 1/57 จะติดลบด้วย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและปัจจัยต่างๆ ซึ่งขณะนี้การเมืองยังไม่มีความแน่นอนค่อนข้างมาก และต้องรอตัวเลข GDP ไตรมาส 1/57 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการมาประกอบการพิจารณาด้วย

    อย่างไรก็ตาม กนง.ยืนยันว่าภาวะการเงินที่ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2% ถือว่าผ่อนคลายและเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่าย การลงทุนในประเทศ รวมถึงต้นทุนภาคธุรกิจ สภาพคล่อง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจแต่อย่างใด แม้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยขณะนี้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านถือว่าติดลบ แตกต่างกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เพราะประเทศเหล่านั้นมีปัญหาเศรษฐกิจลึกมากกว่าไทย จึงมีความต้องการให้นโยบายการเงินที่มีความผ่อนคลายเป็นพิเศษ

     "ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/57 จะหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีน่าจะโตต่ำกว่าที่เดิมคาดไว้ 2.7% โดยการประชุม กนง.ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาทบทวนตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงใหม่อีกครั้ง" นายไพบูลย์ กล่าว

      นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสไหน คงไม่สามารถระบุได้ และถ้าถามว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยังนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ส่วนหนึ่งก็มีความมั่นใจว่าเศรษฐโลกเริ่มมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ไม่เลวร้ายลง แต่ในอนาคตก็ยังบอกไม่ได้ว่าความเชื่อมั่นจากนักลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคของประชาชนจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการคลี่คลายทางการเมืองเป็นสำคัญ

   สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร คงต้องประเมินตามความจำเป็นที่ กนง.ต้องพิจารณาในครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศจะเป็นบวกหรือลบ และมีผลต่อเศรษฐกิจในประเทศมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง กนง.ต้องประเมินปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงยังบอกไม่ได้ว่ามีความจำเป็นในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแค่ไหน

    นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับ กนง.1 เสียงที่เสนอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% นั้น เพราะให้เหตุผลว่าต้องการให้เกิดความต่อเนื่องในการให้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์มีปฏิกิริยาสนองตอบด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดลงทั้งเงินกู้และเงินฝากค่อนข้างเร็ว ทำให้ต้นทุนทางการเงินส่งผ่านไปยังธุรกิจภาคเอกชนและประชาชนได้เร็ว

 อินโฟเควสท์

กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ตามคาด เตรียมหั่นจีดีพีปีนี้จากเดิมคาดโต 2.7% หลังการเมืองฉุด

     กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2%ตามคาด หลังมองยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะหนุนการฟื้นตัวของศก. พร้อมเตรียมหั่นจีดีพีปีนี้ ในการประชุมกนง.ครั้งหน้าเดือน มิ.ย. จากเดิมที่คาดโต 2.7% หลังการเมืองฉุด ส่งผลจีดีพี Q1 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากการลงทุนและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก

     นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุมวันนี้ว่า คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือดอกเบี้ยอาร์/พี 1 วัน ไว้ที่ 2% ต่อปี เนื่องจากมองว่านโยบายการเงินปัจจุบันยังผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไปได้            

    อย่างไรก็ตาม กรรมการ 1 คน เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อความต่อเนื่องของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ            

   "ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันผ่อนปรนมากพอที่จะสนับสนุนการโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป แต่เรายังตอบไม่ได้ในขณะนี้ว่าความจำเป็นที่จะปรับลดอกเบี้ยลงอีกมีหรือไม่มี เพราะว่าจะต้องประเมินความจำเป็นในการประชุมแต่ละครั้งไป และดูหลายปัจจัยประกอบกันทั้งเศรษฐกิจภายในและภายนอก" นายไพบูลย์ กล่าว

    ทั้งนี้ กนง. มีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงจากประมาณการเดิมซึ่งคาดว่าจะโต 2.7% เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งได้ส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ ทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวให้ได้รับผลกระทบมากขึ้น ขณะที่การส่งออกแม้เริ่มฟื้นตัวแต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้เศรษฐกิจใน Q1/57 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้          

   โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/57 มีแนวโน้มที่จะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/56 ขณะที่ไตรมาส 2/57 มีความเป็นไปได้ที่จะติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/57 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามยังคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้นจะต้องรอดูในการประชุมกนง.ครั้งถัดไป ที่คณะกรรมการจะมีการดำเนินหลายๆปัจจัยเข้ามาประกอบในการคาดการณ์จีดีพี    

   "การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการเมืองเป็นสำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำกว่าประมาณการเดิม และแรงขับเคลื่อนหลักปีนี้จะมาจากภาคการส่งออก ส่วนตัวเลขจะออกมาเป็นเท่าไหร่ต้องรอในการประชุมคณะกรรมการในครั้งถัดไป ซึ่งจะมีการสรุปตัวเลขใหม่อีกครั้งหนึ่ง"นายไพบูลย์ กล่าว

      กนง.มองว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปรับดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง โดยเศรษฐกิจจีนชะลอลงจากการลงทุนและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภาคการเงิน ด้านเศรษฐกิจเอเชียอุปสงค์ในประเทศชะลอลง ขณะที่การส่งออกได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักชัดเจนขึ้น

   นอกจากนี้ คณะกรรมการประเมินว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหลัก ขณะที่ภาวะการเงินไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งนี้คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม เพื่อรักษาแรงสนับสนุนต่อเศรษฐกิจให้เพียงพอ

    "ถามว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไตรมาสไหน ยังไม่สามารถบอกได้เพราะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งจากปัจจัยการเมืองและปัจจัยที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยในการประชุมกนง.รอบถัดไปเราจะพิจารณาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น"นายไพบูลย์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!