WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผู้ว่าธปท. ชี้ ศก.ไทยฟื้นแล้ว คาดจะขยายตัวในระดับ 5% ในช่วง 4 ไตรมาสข้างหน้า ย้ำเป็นหน้าที่ธปท.ที่จะกระตุ้นศก.ขยายตัวยั่งยืนเต็มศักยภาพ

    ผู้ว่าธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวแล้ว พร้อมคาดว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีจะอยู่ที่ระดับ 5% ในช่วง 4 ไตรมาสข้างหน้า ขณะที่ศักยภาพการขยายตัวขณะนี้อยู่ที่ 4%-4.5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ซึ่งอยู่ที่ 5% ย้ำเป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักภาพ และมีความยั่งยืนในระยะยาว แต่เตือนจับตาการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีหน้าอาจทำกระแสเงินทุนผันผวน และจับตาการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ประสาร ไตรรัตวรกุลผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในการเปิดงานไทยแลนด์โฟกัสวันนี้ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนี้เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวจากช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008 และเป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาวะการชะลอตัวในระยะสั้นไปสู่การขยายตัวในระยะยาว

   ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.ยังมีหน้าที่ที่สำคัญในการพัฒนาระบบการเงินที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชนในการทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว

   ดร.ประสาร กล่าวว่า ธปท.มีเป้าหมายสำคัญทางเศรษฐกิจ 2 ประการได้แก่ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว โดยคาดหวังว่า ระบบธนาคารจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเป็นแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งเป้าหมายแรกนั้นจะสำเร็จได้ด้วยการที่ภาคเอกชนสามารถใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ และประสบความสำเร็จในการกำหนดนโยบายการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ ส่วนเป้าหมายที่สองนั้นจะสำเร็จได้ด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลและคืนกลับมาในรูปของผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะต้องอาศัยการวางแผนด้านอุปทานที่ดี การเพิ่มประสิทธิผลด้านแรงงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

    'เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เราจะเห็นได้ว่า มีศักยภาพที่จะขยายตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน นักเศรษฐศาสตร์ของเราได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการสะสมทุนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา  และประเมินว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997  และศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ที่ 4%-4.5% ซึ่งยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ในปีนี้ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิผลการผลิตที่ลดลง และแสดงให้เห็นว่า เรายังสามารถดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อยกระดับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจได้' ดร.ประสารกล่าว

   'การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในระดับใกล้เคียงศูนย์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถคันแรก ซึ่งกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคในภายหลัง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลดลงอย่างมากย่อมส่งผลกระทบต่อศักยภาพของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นแล้ว ย่อมส่งผลให้การผลิตและการลงทุนลดลงด้วย และทำให้การพัฒนาด้านความรู้และเทคโนโลยีหยุดชะงัก การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องอาศัยความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอันมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายธุรกิจในระยะยาวได้แม่นยำยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้กำหนดนโยบายการเงินที่จะมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการที่ธปท.มีอำนาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย' ผู้ว่าการธปท.กล่าว

   นอกจากนี้ ดร.ประสารกล่าวว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพที่มี ธปท.ได้ดำเนินนโยบายการเงินในทางผ่อนคลายมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพเร็วขึ้น โดยไม่กระทบเป้าหมายของนโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และการดำเนินนโยบายการเงินในแนวทางดังกล่าวได้เริ่มส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยแล้วสอดรับกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศที่ฟื้นตัว หลังการเมืองมีเสถียรภาพและมีความชัดเจนมากขึ้น

    'เราคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 5% ในช่วง 4 ไตรมาสข้างหน้า และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพที่จะเกิดขึ้นจากผลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากเสถียรภาพด้านราคาแล้ว เสถียรภาพในภาคการเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน ความไม่มีเสถียรภาพในภาคการเงินอาจส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้เช่นที่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้เผชิญมาแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา'ดร.ประสารกล่าว

   ทั้งนี้ ในส่วนของความเสี่ยงที่จะต้องติดตามในปีหน้า ผู้ว่าการธปท.เตือนว่า การขยายตัวได้ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เกิดความผันผวนในด้านกระแสเงินทุน นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 83%ของรายได้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ผู้ว่า ธปท.เชื่อ ศก.ไทยปี 58 มีโอกาสโตได้ถึง 5.5% จากฐานต่ำ-แรงอั้นลงทุน

   นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 5.5% จากฐานในปีนี้อยู่ในระดับต่ำ และแรงอั้นของการลงทุนที่ชะลอไปจากปีนี้

   ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทยแล้วเศรษฐกิจในแต่ละปีมีโอกาสจะเติบโตได้ในระดับ 4-4.5% แต่เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3-4% ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งปีเติบโตได้ 2%

   ขณะที่ในปีหน้ามองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึง 5.5% ซึ่งไม่ถือว่าสูงเกินไป เนื่องจากเป็นการเทียบกับฐานที่เติบโตต่ำในปีนี้ ประกอบกับ มีแรงอั้นด้านการลงทุนไปจากในปีนี้ ดังนั้น คงจะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเข้าสู่การเติบโตได้เต็มศักยภาพตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

   “ธปท.ได้พยายามผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะยกระดับการเติบโตของประเทศให้เข้าสู่ศักยภาพ ซึ่งขณะนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงแล้ว หวังว่าเราจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาเต็มตามศักยภาพได้ ขณะเดียวกันยังต้องพยายามเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

    พร้อมระบุว่า การพยายามสร้างศักยภาพของประเทศให้เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องอาศัยนโยบายด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนโยบายทางการเงินเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น ความสามารถของแรงงาน, การศึกษา, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความมั่นใจของผู้ลงทุน ซึ่งถ้ามีความมั่นใจก็จะช่วยในเรื่องการตัดสินใจลงทุนระยะยาวได้

   นายประสาร ยังมองว่า ขณะนี้ตลาดการเงินของไทยถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างดี โดยดูได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ การเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้ง 2 ทิศทาง คือทั้งเข้าและออกจากตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่ทั้งนี้ ธปท.ก็ไม่ได้ประมาท โดยได้เตรียมพร้อมเครื่องมือที่สำคัญไว้รองรับ เช่น ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น, เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่สิ่งสำคัญ คือ พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่ยังดีอยู่ ซึ่งจะทำให้ไทยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากจนเกินไป โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานไม่สูงมาก ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอ

    “ในระดับเศรษฐกิจมหภาคมีความมั่นคงพอสมควร แต่ก็ไม่ควรประมาท โดยต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!