WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

‘นายกสมาคมโบรกฯ’ เตรียมเสนอเกณฑ์คุมหุ้นร้อนใหม่ พร้อมทบทวนเกณฑ์แคชบาลานซ์ เชื่อไม่กระทบตลาด

          นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ 19 พ.ย. นี้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะมีการเสนอมาตรการคุมหุ้นที่มีความร้อนแรง โดยยอมรับว่า นอกจากมาตรการควบคุมวงเงินการซื้อขายในบัญชีหุ้นที่มีการซื้อหุ้นเก็งกำไรสูง อาจมีมาตรการอื่นที่เพิ่มเติม บางมาตรการสามารถใช้ได้ทันที และบางมาตรการอาจต้องใช้เวลาในการบังคับใช้

          "ในการประชุมบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ในรอบต่อไป จะมีการเสนอมาตรการควบคุมหุ้นที่มีความร้อนแรงเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งในเบื้องต้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง แต่จะมีบางมาตรการที่สามารถใช้ได้เลย และบางมาตรการอาจจะต้องรอเวลาในการเริ่มใช้ ซึ่งมาตรการที่จะออกมาจะไม่กระทบกับการซื้อขายนักลงทุนแน่นอน นักลงทุนอยากซื้อต้องได้ซื้อ อยากขายต้องได้ขาย"

          ซึ่งในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าหุ้นไหนมีความร้อนแรงมากกว่าปกตินั้น ยังต้องมีการพูดคุยในรายละเอียด และบางส่วนอาจอ้างอิงการหุ้นที่ถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสด หรือ เกณฑ์แคชบาลานซ์ เป็นเกณฑ์หนึ่ง แต่ยอมรับว่า อาจต้องมีการทบทวนเกณฑ์แคชบาลานซ์ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะในระยะหลัง หุ้นที่ถูกซื้อขายด้วยเงินสดมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนักลงทุนบางกลุ่มชอบที่จะซื้อขายหุ้นที่ติดเกณฑ์แคชบาลานซ์เพื่อเข้ามาเก็งกำไรมากกว่าปกติ

          สำหรับสาเหตุที่ต้องออกมาตรการคุมหุ้นร้อนแรงนั้นเพราะสมาคมเห็นว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการซื้อขายหุ้นที่เก็งกำไรสูงมากกว่าปกติ เห็นได้จากสัดส่วนการซื้อขายหุ้นที่เก็งกำไรสูงปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20% ของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จากปกติที่ 10% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน บางบริษัทมีระดับราคาปิดกำไรต่อหุ้น (พี/อี) สูงเป็น 100 เท่า หากบริษัทจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับนักลงทุน อาจต้องใช้เวลามากกว่า 100 ปี หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและสร้างผลตอบแทนจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มีความเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการเข้ามาควบคุม โดยเชื่อว่าหากมีมาตรการเข้ามา คาดหวังว่าจะทำให้การเก็งกำไรปรับตัวลดลง

          นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อห่วงใยถึงการเพิ่มขึ้นของวงเงินกู้เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก มาอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท จากระดับปกติที่ 4-5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของการกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้น สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนรายบุคคลมาอยู่ที่ 60 % ของมูลค่าการซื้อขายรวม แม้มูลค่าสินเชื่อจะมากขึ้น แต่คุณภาพการของหนี้ยังอยู่ในระดับที่ดี

          สำหรับภาพของตลาดหุ้นที่มีความเก็งกำไรสูงนั้น ได้สะท้อนออกมาให้เห็นจากการสรุปภาวการณ์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในเดือนต.ค.2557

          นายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือน ต.ค. ยังเห็นถึงการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนอนเซ็ท 100 มากขึ้น มาอยู่ที่ 45% จากเดือนก่อนหน้า ที่ 44% ซึ่งผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างคึกคักของหุ้นขนาดกลางและเล็ก ส่งผลให้การซื้อขาย ในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้นรายตัวปรับลดลงเหลือ 93,836 สัญญา ลดลงจากเดือนก่อน 17.03%

          ในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีการเก็งกำไรสูง ส่งผลให้ระดับพี/อี ของตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เพิ่มขึ้นที่ 27.72 เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลประกอบการบางบริษัท ขาดทุน และไม่สามารถวัดค่าพี/อีได้ กลุ่มนี้จึงฉุดให้ค่าพี/อีพุ่งสูงกว่าปกติ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า มีหลายบริษัทที่ยังสามารถลงทุนได้ ซึ่งการลงทุนนั้นนักลงทุนควรพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานและใช่บทวิเคราะห์ในการช่วยลงทุน

          ภาวการณ์ของตลาดหุ้นในเดือน ต.ค. นั้นดัชนีปิดที่ 1,584.16 จุด ปรับตัวลดลง 0.10 % แต่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 21.98% นักลงทุนต่างชาติได้มีการปรับพอร์ตการลงทุน ขายสุทธิหุ้นไทยไปถึง 16,028 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 50,358 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 14.79 ล้านล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ในด้านการลงทุนของนักลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้น ถือว่ามีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการเติบโตของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศในเดือน ต.ค.อยู่ที่ 99,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 148.4% เป็นผลจากนักลงทุนเลือกการกระจายความเสี่ยงมากขึ้นไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น การเติบโตของกองทุนที่เข้าไปลงทุนในญี่ปุ่น มีการเติบโตถึง 6 เท่าตัว ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในยุโรป ขยายตัว 4.7 เท่า

          ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!