- Details
- Category: บล.
- Published: Saturday, 24 February 2024 07:08
- Hits: 12403
บล.เคจีไอ (ผู้ออก DW13) รุกธุรกิจ ‘DR’ ทางเลือกใหม่ ลงทุนต่างประเทศ
บล.เคจีไอ ผู้ออก DW อันดับ 1 ในประเทศไทย โดยมี Market Share DW ในหุ้นไทยอันดับ 1 ที่ 48% ในปี 2023 ลุยตลาด “DR” เพิ่มทางเลือกนักลงทุนที่ต้องการลงทุนต่างประเทศ ล่าสุดออก 3 หลักทรัพย์เข้าเทรดคือ “JAPAN13” – “HK13” – “HKTECH13” อ้างอิงกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นชั้นนำขนาดใหญ่ของ ญี่ปุ่น-จีน-ฮ่องกง
นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทออก “Depositary Receipt” หรือ “DR” มาพร้อมกันถึง 3 หลักทรัพย์ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ DW และเพิ่มทางเลือกการลงทุนในต่างประเทศให้กับนักลงทุนไทย เนื่องจากการเปลี่ยนแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาจากที่เป็นขาขึ้นในปี 2023 เป็นแนวโน้มคงที่หรือปรับตัวลง ทำให้มีโอกาสที่จะมีการเคลื่อนไหวของเงินลงทุนทั่วโลกในตลาดหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น
และในปี 2023 ที่ผ่านมา เราเห็นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนตัวแยกกันอย่างชัดเจน ได้แก่ ดัชนี Nikkei225 +30% ขณะที่ดัชนี Hang Seng Index -18%, ดัชนี Hang Seng TECH Index ลง -15% ดังนั้นความต้องการการลงทุนของนักลงทุนในปีนี้จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ยังสนใจตลาดหุ้นที่ร้อนแรงในปี 2023 คือตลาดหุ้นญี่ปุ่น กับอีกกลุ่มที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนหลังราคาหุ้นปรับลงมาแรงต่อเนื่อง 3 ปี จึงเป็นที่มาของการเลือกออก DR ทั้ง 3 ตัว ได้แก่ JAPAN13, HK13 และ HKTECH13 ที่ลงทุนในกอง ETF ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นฮ่องกง การรุกธุรกิจ DR ที่อ้างอิงกับเศรษฐกิจฮ่องกงและจีนและตลาดหุ้นญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการออก DW ในประเทศไทย จึงเป็นกลยุทธ์หลักในปีนี้
“DR” เป็นตราสารการเงินที่เป็นตัวกลางการลงทุนให้นักลงทุนสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จากที่ปกติการลงทุนในต่างประเทศโดยตรงจะทำได้ยาก ต้องเปิดบัญชีหุ้นที่ต่างประเทศ และต้องเสียภาษีบนกำไรที่นำกลับเข้ามาด้วย ทั้งนี้ DR มีราคา Bid-Offer ที่อ้างอิงกับราคาหุ้นต่างประเทศที่แปลงมาเป็นสกุลเงินไทยบาท นักลงทุนจึงใช้บัญชีซื้อขายหุ้นปกติลงทุนใน DR ได้เลย โดย DR ไม่มีวันหมดอายุ จึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาว แตกต่างจาก DW ที่มีอายุจำกัด และอัตราทดสูง จึงเหมาะกับการเก็งกำไรในระยะสั้นมากกว่า
สำหรับ “DR” ทั้งสามตัวที่ออกมาล่าสุดประกอบด้วย
“JAPAN13” ลงทุนในกองทุน ETF ChinaAMC MSCI Japan Hedged to USD ETF (3160 HK) โดยมีการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่ญี่ปุ่นมากกว่า 200 ตัว เช่น TOYOTA, SONY Group และ Mitsubishi UFJ Financial Group เป็นต้น โดยในปี 2023 ราคากองทุน ETF นี้ปรับตัวขึ้นถึง 32.7% และมีค่ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
“HK13” ลงทุนในกองทุน ETF Tracker Fund of Hong Kong (2800 HK) จะมีราคาเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนี Hang Seng ซึ่งเป็นดัชนีที่ครอบคลุมหุ้นประมาณ 80 บริษัทที่มีการทำธุรกิจในประเทศจีนและฮ่องกง เช่น HSBC Holding, TENCENT, AIA Group, ALIBABA และ CHINA Mobile เป็นต้น กองทุนมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท
“HKTECH13” ลงทุนในกองทุน Heng Seng TECH Index ETF (3032 HK) ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และทำธุรกิจในประเทศจีนเป็นหลัก ครอบคลุมหุ้น 30 ตัว เช่น XIAOMI, TENCENT, NETEASE, ALIBABA และ SMIC โดยกองทุนนี้มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท