WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CK 'ช.การช่าง'คาดรายได้ปีนี้แตะ 3.4 หมื่นลบ.-บุ๊คกำไรขายหุ้นไซยะบุรีช่วง Q2/58

     CK คาดรายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ราว 3.4 หมื่นลบ.เผยจะถือหุ้นบริษัทใหม่หลังควบ BMCL-BECL สัดส่วน 30% เตรียมงบ 1 หมื่นลบ.รองรับการซื้อหุ้นจาก ผถห.ที่คัดค้านการควบรวม ระบุจะบุ๊คกำไรขายไซยะบุรี 1.5พันลบ.เข้างบQ2/58 ด้าน CKP คาดรายได้ปี 58 โต 5-8% เตรียมขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า SPPจำนวน 8โรง

  นายประเสริฐ มริตตนะพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มงานบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)หรือ CK เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดรายได้ปี 2558 จะใกล้เคียงกับปี 2557 ที่มีรายได้ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากงานในมือ ประมาณ 30%จากที่มีอยู่ ณ สิ้นปี 2557ที่ 104,928 ล้านบาท ส่วนงานใหม่บริษัทฯ คาดหวังจะได้งานประมาณ 20-25% ในการเข้าประมูลแต่ละโครงการ     

 โดยโครงการของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 แบ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)มีมูลค่ารวม 448,422ล้านบาท (58-60) ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี2558 ประมาณ 171,745 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ปี2558-2564 มูลค่ารวม 880,922 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ 44,299ล้านบาท  และโครงการในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ปี 2558-2563 มูลค่ารวม 266,610 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ 211,010ล้านบาท และโครงการอื่นๆ อีก ปี 2558-2568 มูลค่ารวม 304,700ล้านบาท ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ 108,100ล้านบาท   

 สำหรับ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จากการดำเนินธุรกิจก่อสร้าง ปี 2558  คาดว่าจะอยู่ประมาณ 10% ซึ่งยังไม่รวมกำไรจากการขายหุ้นบริษัท ไซยะบุรี โดยโครงสร้างรายได้ปีนี้จะมาจากรายได้ก่อสร้าง 90%และอีก 10% มาจากเงินปันผลที่ได้จากเงินลงทุนในบริษัทต่างๆ

  นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าวว่า  กำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานปี 57 อยู่ที่ราว 10% ขณะที่คาดรายได้ปี57เกินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท โดยสิ้นปี 57 บริษัทมีงานในมือ (Backlog) 1.05 แสนล้านบาท

  ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BMCL และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BECL ควบรวมเสร็จแล้ว ช.การช่าง จะเข้าไปถือหุ้นบริษัทใหม่ในสัดส่วน 30%จะทำให้บริษัทฯ สามารถบันทึกกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทใหม่ได้มากขึ้น และได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีขึ้นด้วย

 โดยการควบรวมระหว่าง BMCL และ BECL จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้ง 2 บริษัท เพราะจะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนและคมนาคมแบบครบวงจร สามารถขยายและต่อยอดธุรกิจ มีศักยภาพทางการเงิน การดำเนินงานและการแข่งขันแข็งแกร่งขึ้น สามารถลงทุนและแข่งขันได้ทั้งในและนอกประเทศ โดยเชื่อว่าบริษัทใหม่นี้จะทำให้เกิดผลตอบแทนการลงทุนที่ดีมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแก่ผู้ทุกหุ้นทุกราย  

  "ช.การช่าง ยืนยันที่จะสนับสนุนการควบรวมของ 2 บริษัทอย่างเต็มที่ โดยบริษัทฯ จะซื้อหุ้น  BMCL ที่BECL ถืออยู่จำนวน 10% มูลค่า 3,670 ล้านบาท และจะเป็นผู้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านด้วย ภายหลังที่บริษัทใหม่ควบรวมเรียบร้อยแล้ว ช.การช่างจะถือหุ้นบริษัทใหม่ 30%" นายปลิว กล่าว   

  นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาธุรกิจ CK เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมเงินประมาณ  10,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวม  BMCL กับ BECLแต่ส่วนตัวเชื่อว่านักลงทุนจะพอใจกับการควบรวมครั้งนี้เพราะผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่หากมีผู้ถือหุ้นผู้คัดค้านก็มีพันธมิตรในประเทศสนใจเข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าว สำหรับแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้และกู้สถาบันการเงิน    

 ทั้งนี้ บริษัทฯคาดการควบรวมจะเสร็จประมาณเดือน ก.ค.2558  โดยทุนจดทะเบียนใหม่หลังการควบรวมจะอยู่ที่ 15,285 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป)อยู่ที่ 78,000 ล้านบาท

 นายปลิว กล่าวต่อว่า การขายหุ้นของ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL)ให้แก่บริษัท ซีเค พาวเวอร์จำกัด (มหาชน)หรือ CKP มูลค่ารวม 4,344 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดย CKP ถือว่าได้ซื้อโครงการที่มีความสำคัญและผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ต้องมีภาระการลงทุนที่สูงเกินไป เพราะหากทิ้งไว้จนงานก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการดังกล่าวจะมีราคาที่สูงมาก ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนโครงการที่ CKP จะได้รับต่ำลง  ในส่วนของบริษัทฯ สามารถรับรู้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว และได้รับกระแสเงินสดเข้าสู่บริษัทฯ 

 นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า คาดว่า CK จะบันทึกกำไรจากการขายหุ้น XPCLให้แก่ CKP ประมาณ1,500 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2558 ซึ่งเมื่อขายหุ้นไซยะบุรี เสร็จแล้วจะทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัท ไซยะบุรี ซึ่งคาดว่าปี 2557 จะมีผลขาดทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท

  ด้านนายประเสริฐ มริตตนะพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มงานบริหาร  CK กล่าวเพิ่มเติมว่า จะใช้งบลงทุนปีนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ CKP ประมาณ 1,700 ล้านบาท และลงทุนในบริษัท ไซยะบุรี ประมาณ 300-400ล้านบาท ในช่วงก่อนทำรายการขายหุ้นไซยะบุรี ให้กับ CKP เสร็จ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ และเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้

 โดย CK เตรียมเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 4,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี 11 เดือน ภายในเดือน ก.พ.นี้ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งจะต้องรอทริสเรตติ้งประกาศอันดับความน่าเชื่อถือก่อน คาดอันดับความน่าเชื่อถือจะดีกว่าครั้งก่อนที่ BBB+ เพราะหลังจาก BMCL และ BECL ควบรวมกันและ CK ได้ขายหุ้น บริษัท ไซยะบุรี ให้CKP จะทำให้ CK มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินมากขึ้น

  ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ จะนำไปชำระคืนหุ้นกู้ชุดเดิม ที่จะครบกำหนดอายุในปีนี้ ประมาณ 2,000ล้านบาท  ส่วนที่เหลือเตรียมไว้รองรับการซื้อหุ้น หากผู้ถือหุ้นมีการคัดค้านการควบรวม BMCL กับ BECL 

 นายปลิว กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างการลงทุนทั้ง 2 ส่วนนี้ ช.การช่าง มีความมั่นใจว่าจะทำให้บริษัทใหม่ที่ควบรวม BMCL กับ BECL และ CKP มีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพที่สูงขึ้น สามารถลงทุนดำเนินงานและพัฒนาโครงการต่างๆ รองรับการเติบโตของตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกจิของภาครัฐในระบบขนส่งมวลชนทั้งทางรางและถนน รวมถึงธุรกิจพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน ช.การช่างร่วมกับบริษัทในกลุ่มทั้งหมด รวมถึง TTW ได้จัดเตรียมความพร้อมทุกด้านไว้ครบถ้วน ทั้งทรัพยากรบุคคล การเงิน พันธมิตรต่างๆ พร้อมที่จะลงทุนดำเนินโครงการต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่าและลาวซึ่งเป็น 2 ประเทศเป้าหมายสำคัญที่มีการเจริญเติบโตของธุรกิจสาธารณูปโภคเป็นอย่างมาก        

  ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จากัด (มหาชน)หรือ CKPเปิดเผยว่า  รายได้ปี 2558 น่าจะเพิ่มขึ้น 5-8% จากปี 2557 ที่คาดมีรายได้ 7,000 ล้านบาท เนื่องจาก CKP จะรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่มีอยู่ 755 เมกะวัตต์ โดยปีนี้อัตราการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากในปีนี้ยังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้รับรู้รายได้เพียงแค่จากโรงไฟฟ้าเดิมเท่านั้น

   บริษัทฯ เตรียมยื่นขอใบอนุญาตลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 8 โรง กำลังการผลิตโรงละ 120 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆในประเทศไทย ขณะนี้เจรจาที่จะสร้างที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2 โรง และนิคมอื่นๆ อีก 3 แห่งๆ ละ 2 โรง โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนโรงละ 5,000 ล้านบาท สำหรับเงินทุนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านั้นจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ  และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทฯมีหนี้สินต่อทุน (D/E)เพียง 0.9 เท่า ทำให้สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้มากพอสมควร โดยบริษัทฯ มีนโยบายคุม D/E ไม่ให้เกิน 2 เท่า นอกจากนี้บริษัทฯยังมีศัภยภาพที่จะสามารถออกหุ้นกู้ได้ในอนาคตหากจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก  

 "ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าแล้วจำนวน 750 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ที่ประเทศลาว ขนาด 615 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 117.5 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าพลังงาแสงอาทิตย์ โซลาร์ฟาร์มอีก 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์" ดร.สุภามาส กล่าว 

    ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในการซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะสรุปได้ภายในปีนี้อย่างน้อย 1 แห่ง ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าที่พม่านั้นคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้เช่นกัน หลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าไปศึกษามาแล้ว 2-3 ปี    

  อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนที่จะรีไฟแนนซ์หนี้โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ที่ปัจจุบันมีหนี้อยู่ 1.7 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง และบริษัทฯ จะขยายระยะเวลาการชำระหนี้ด้วย

   ราคาหุ้น CK ปิดตลาดภาคเช้าที่ 29.25 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากราคาปิดวานนี้ ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 104.85 ล้านบาท ส่วน CKP ปิดภาคเช้าที่ 17.70 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ 0.56% มูลค่าการซื้อขาย 15.69 ล้านบาท

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

CK วางเป้าปี 58 รายได้ 3.4 หมื่นลบ.,มั่นใจรับผลดีปรับโครงสร้างในเครือ

   นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง(CK) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าในปี 58 จะทำรายได้จากการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ตามเป้าหมายเกินกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท และจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นจากการดำเนินงานไว้ที่ราว 10% ใกล้เคียงปีก่อน

   ณ สิ้นปี 57 บริษัทมีงานในมือ(backlog)ราว 1.04 แสนล้านบาท และคาดว่าในปีนี้บริษัทจะได้งานใหม่เข้ามาราว 25% ของมูลค่าโครงการภาครัฐที่เปิดประมูลไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

    ขณะที่การปรับโครงสร้างการลงทุนที่สำคัญในปีนี้คือการควบรวม บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) รวมถึงการขายหุ้นบริษัทไซยะบุรี  พาวเวอร์ จำกัด(XPCL) ให้แก่ บมจ.ซีเค พาวเวอร์(CKP) ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งและศักยภาพของบริษัท โดยเฉพาะการขายหุ้น XPCL ในสัดส่วน 30% มูลค่า 4,344 ล้านบาทนั้น บริษัทจะบันทึกกำไรราว 1.5 พันล้านบาทในไตรมาส 2/58

   นายปลิว กล่าวว่า การขายหุ้น XPCL ให้ CKP เป็นความตั้งใจแต่แรกอยู่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาเพิ่งเริ่มงานก่อสร้างทำให้มีความเสี่ยงสูง ต่อมาเมื่อเร็วๆนี้งานก่อสร้างโครงการไซยะบุรีพ้นจุดวิกฤตแล้วจึงเห็นเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพราะหากรอให้โครงการก่อสร้างเสร็จ ราคาขายก็จะสูงเกินไป ขณะเดียวกัน CK ก็ไม่ต้องแบกรับภาระการลงทุนในโครงการนี้

   "CK เราต้องการให้ CKP เป็น Flagship ด้านพลังงาน CKP ต้องมีไซยะบุรีที่เป็นหัวใจธุรกิจ"นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ CK กล่าว

  ด้านนายประเสริฐ มริตตะพร กรรมการและรองผู้จัดการอาวุโส กลุ่มงานบริหาร CK กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะใข้งบลงทุนราว 2 พันล้านาบทโดยส่วนหนึ่งจะเข้าลงทุนในส่วนทุนของบริษัทใหม่ภายหลังการควบรวมของ BECL-BMCL ในเดือน พ.ค.นี้และนำเงินไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน CKP ซึ่งบริษัทเตรียมออกหุ้นกู้มูลค่า 4 พันล้านบาท อายุ 5 ปี 11 เดือนเพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนและส่วหนึ่งนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

    นอกจากนั้น จากการควบรวมกิจการ BECL และ BMCL บริษัทได้เตรียมเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาทดเพื่อรองรับการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทที่อาจคัดค้านการควบรวมกิจการ โดยแหล่งเงินจะมาจากกระแสเงินสดและสินเชื่อจากธนาคาร

   นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้จะทำให้ CK เข้าไปถือหุ้นในบริษัทใหม่ 30% ขณะที่มีพันธมิตรในประเทศหลายแห่งแสดงความสนใจเข้าถือหุ้นครั้งนี้ด้วย และภายหลังควบรวมกันแล้วจะทำให้ลดภาระการลงทุนและการสนับสนุนจากบริษัทแม่ และสามารถบันทึกกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทใหม่ รวมทั้งรับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

   ทั้งนี้ จากการปรับโครงสร้างธุรกิจจะทำให้ CK มีรายได้จาก 2 ทาง โดยรายได้หลักมาจากงานก่อสร้างและบริหารโครงการ สัดส่วนราว 90% อีกส่วนจะมาจากเงินปันผลและกำไรจากการลงทุน ซึ่ง CK จะลงทุนบริษัทใหม่ที่ดำเนินธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้าที่คาดว่าควบรวมแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.นี้ ขณะที่ถือหุ้นใน CKP ราว 29.87% และถือหุ้นใน บมจ.ทีทีดับบลิว(TTW) ราว 19.04%

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!